ชมรมคนพิการอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ปลูกผักอินทรีย์ 100% ไม่พอขาย

“คนพิการ” หลายคนเข้าใจว่าเป็นภาระของสังคม ด้วยไม่สามารถประกอบอาชีพต่างๆ ได้เหมือนคนปกติ และถ้าเป็นคนพิการที่สูงอายุ น่าจะทำให้บุคคลเหล่านี้เป็นภาระกับสังคมเพิ่มขึ้น ประกอบกับตัวผู้พิการเองอาจจะเก็บตัวไม่กล้าเข้าสู่สังคม เนื่องจากร่างกายผิดปกติ ทว่า “ชมรมคนพิการอำเภอบ่อไร่” จังหวัดตราด ได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนพิการรวมกลุ่มกันหันมาสู้ชีวิต พึ่งพาตัวเอง พยายามฝึกฝน เรียนรู้การประกอบอาชีพ สามารถสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน ทำให้คนพิการมีคุณค่า ไม่เป็นภาระกับสังคม และบางรายสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูครอบครัวได้ 

คุณป้าบุญช่วย วงศ์สว่าง อายุ 74 ปี

 ก่อตั้งชมรม ดึงคนพิการออกจากบ้านทำงานสร้างรายได้ 

คุณสมเกียรติ วรโชติสกุลวงษ์ ประธาน “ชมรมคนพิการอำเภอบ่อไร่” จังหวัดตราด อายุ 48 ปี เล่าว่า บ้านเกิดอยู่สุโขทัย แต่แม่มาทำสวนอยู่ที่ ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ เมื่อ 18 ปีที่แล้ว อาชีพเดิมทำงานเป็นช่างซ่อมรถยนต์บริษัทแห่งหนึ่ง แต่ได้รับอุบัติเหตุแขนขวาขาด จึงเปลี่ยนมาเป็นพนักงานของบริษัทประจำสำนักงานที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ปี 2557 จึงกลับมาทำสวนอยู่กับแม่ที่ตำบลบ่อพลอย และได้เข้ามาช่วยงานชมรมคนพิการอำเภอบ่อไร่มาตั้งแต่ ปี 2551 แต่เพิ่งทำหน้าที่เป็นประธานชมรม คนที่ 2 วาระแรก ปี 2559-2562 ตอนนี้อยู่ในวาระที่ 2 สมาชิกมี 61 คน

คุณป้าอุ่นเรือน ยั่งยืน อายุ 69 ปี

เมื่อปี 2561 คุณเสรี สำราญจิตร นายกเทศบาลตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ อนุญาตให้ใช้พื้นที่ 5 ไร่ สร้างศูนย์เรียนรู้เทศบาลบ่อพลอย เพราะตอนเป็นประธานครั้งแรกได้รวมกลุ่มคนพิการให้มีงานทำ เพื่อสร้างรายได้ในพื้นที่ของหน่วยราชการทหารมาก่อน จึงย้ายมาที่บ้านบ่อพลอย ปัญหาคนพิการ คือไม่ยอมออกจากบ้านด้วยความอายที่ไม่เหมือนคนอื่น หรือญาติพี่น้องไม่สนับสนุน ไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ที่สำคัญคือไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ จึงคิดทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน สร้างภูมิคุ้มกันต่อตัวเอง และรักษาสิ่งแวดล้อม โดยให้สมาชิกชมรมปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมี เลี้ยงสัตว์ เพาะเห็ด หลักคิดง่ายๆ ว่า ปลูกทุกอย่างที่กินได้ กินทุกอย่างที่ปลูก เพื่อขายและแบ่งปันให้เพื่อนบ้าน ให้คนพิการได้มีงานทำ มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นภาระกับลูกหลานหรือสังคม และยังทำให้ได้ออกกำลังกาย มีความเครียดน้อยลง และมีความสุข

ร.ต.อ. นริศ สะราคำ ที่ปรึกษาชมรมคนพิการอำเภอบ่อไร่

“อาชีพเกษตรกรรมน่าจะเหมาะที่สุดกับคนพิการ เพราะมีกายภาพไม่เหมือนกัน ช่วยกันทำงานจะสามารถทำได้ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ โดยปกติแล้วคนพิการมีความพยายามอดทนค่อนข้างสูง ชมรมดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งพื้นที่เป็น 2 โซน โซนหนึ่งมีสระน้ำที่มีน้ำใช้ได้ตลอดปี อีกโซนทำแปลงปลูกพืชผักสวนครัว โรงเรือนเลี้ยงไก่ เพาะเห็ด ส่วนใหญ่เราจะลงแรงกันทำเองทั้งหมด ยกเว้นสถานที่โดยรวมที่เป็นงานใหญ่มีหน่วยงานช่วยสนับสนุน เช่น เทศบาลตำบลบ่อพลอย ช่วยการปรับพื้นที่ พัฒนาสังคมความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตราด สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ วิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะวิทยากรประจำชมรม ร.ต.อ. นริศ สะราคำ จากหน่วยป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ทำร่วมกันมาตั้งแต่ยังรับราชการอยู่ หลังเกษียณมา 2 ปี มีเวลามาทำงานอยู่ด้วยกันตลอด เป็นที่ปรึกษาชมรม และวิทยากรทำปุ๋ยชีวภาพ ส่วนด้านการประชาสัมพันธ์ได้ลูกชาย “น้องอ๊อด” คุณเกษมสิทธิ์  วรโชติสกุลวงษ์ อายุ 16 ปี เรียนอยู่ชั้น ม. 5 ช่วยงานอยู่ การทำงานแต่ละวันสมาชิกชมรม ประมาณ 10-20 คน จะหมุนเวียนกัน ตอนนี้ผลผลิตพืชผักที่เป็นอินทรีย์ 100% ผลิตไม่พอขาย เพราะมีลูกค้าหลักคือ โรงพยาบาลอำเภอบ่อไร่ และมีขายให้ชาวบ้านทั่วๆ ไปเล็กน้อย ซึ่งสมาชิกชมรมมีแรงงานไม่พอ พิการทำงานได้ไม่เต็มที่ บางคนมีโรคประจำตัวและสูงอายุ วัย 60-70 ปี” คุณสมเกียรติ กล่าว

คุณเสรี สำราญจิตร อดีตนายกเทศมนตรีตำบลบ่อพลอย

ปลูกผักอินทรีย์ 100% ไม่พอขาย

คุณสมเกียรติ เล่าว่า แนวทางสร้างอาชีพเกษตรกรรมของชมรมคือ ปลูกทุกอย่างกินทุกอย่างที่เราปลูก แรกๆ จึงนำพืชผักมาปลูกหลากหลาย เลี้ยงไก่ เลี้ยงแพะ เพาะเห็ด เสมือนเป็นการทดลองไปในตัว ในที่สุดลงตัวที่การทำแปลงผักอินทรีย์ปลอดสารเคมี 100% เช่น ผักชี ผักตั้งโอ๋ คะน้า บร็อกโคลี่ กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ฟักทอง พริกขี้หนู กล้วย เป็นผลผลิตที่ขายดีมาตลอด และขายราคาไม่แพง ทุกชนิดกิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งการปลูกผักมีปัญหาเรื่องดินเป็นดินเหนียว ต้องพลิกผืนดินด้านล่างของแปลงมาตากแดดแล้วผสมคลุกเคล้ากับปุ๋ยอินทรีย์ การคัดเลือกพืชผักที่เหมาะสม วิธีการดูแลบำรุงรักษาจนกระทั่งเก็บผลผลิตได้ การบริหารจัดการแปลงให้ผลผลิตหมุนเวียนต่อเนื่อง และแรงงานที่มีข้อจำกัดจากความพิการและมีแรงงานน้อย เรื่องตลาดไม่มีปัญหา มีโรงพยาบาลอำเภอบ่อไร่เป็นลูกค้าหลักมารับซื้อถึงแปลงประจำทุกสัปดาห์ และผลผลิตยังไม่พอ ด้วยกระแสการรักสุขภาพความนิยมบริโภคผักอินทรีย์ 100% เพิ่มขึ้น

คุณสมเกียรติ วรโชติสกุลวงษ์-คุณเกษมสิทธิ์ วรโชติสกุลวงษ์ ลูกชาย

“ที่นี่มีสระน้ำขนาดใหญ่ พอใช้งานได้ตลอดปี ไฟฟ้าพร้อม ทำปุ๋ยอินทรีย์แท้ๆ เป็นปุ๋ยคอก และทำปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เอง ปัญหาคือ แรงงานที่ทำงานแต่ละครั้งไม่มากนัก วันละ 4-5 คน และสุขภาพไม่ดี ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ส่วนการปลูกนั้นทุกคนจะเรียนรู้ไปด้วยกัน ที่ต้องลงแรงมากคือ ดินที่ปลูกผักเป็นดินเหนียว การทำแปลงผักต้องขุดดินพลิกด้านล่างขึ้นมาตากให้แห้ง แล้วสับให้ละเอียดก่อนนำปุ๋ยแกลบขี้ไก่มาคลุกเคล้า เมื่อปลูกผักรากจะเดินไปทั่ว ส่วนการให้น้ำ ทดลองใช้ทั้งสปริงเกลอร์และท่อยางที่ให้แรงน้ำน้อยกว่า เพื่อไม่ให้ใบผักฉีกหักเสียหาย ต้องใช้ทั้งสองวิธี ที่แม่ทดลองทำอยู่คือ มัดใบกะหล่ำปลีช่วยให้หัวกะหล่ำปลีห่อ เพราะที่นี่อากาศไม่หนาวเย็น” คุณสมเกียรติ กล่าว

เสียงจากสมาชิกชมรมผู้พิการ ได้เงิน ได้กินผัก ได้ความสุข

คุณป้าอุ่นเรือน ยั่งยืน วัย 69 ปี เล่าว่า เป็นคนจังหวัดตาก มาร่อนพลอยที่อำเภอบ่อไร่ตั้งแต่อายุ 18 ปี มีลูกชายพิการผ่าสมอง มาทำแปลงผักแทนลูกชาย ตัวเองมีโรคความดันสูง แต่ร่างกายพอทำงานได้ อยู่บ้านว่างๆ เห็นว่าปลูกผักขายยังมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ สัปดาห์ละ 300-400 บาท เลี้ยงครอบครัว และยังได้มีผักไว้ทำอาหารกินเองด้วย ตอนนี้รับผิดชอบแปลงผักกะหล่ำปลีอยู่ ต้องคอยดูให้น้ำเช้า-เย็น ให้ปุ๋ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ต้องคอยดูเพลี้ยมากินใบ และทำหญ้าในร่องผัก ช่วยสมาชิกด้วยกันเก็บผักอื่นๆ ขายด้วย ส่วนใหญ่มาทำช่วงเช้า และบ่ายๆ หากอากาศร้อนจัดจะหยุด

คุณมยุรี แก้วมาดีงาม จากสถานพินิจจังหวัดตราด ติดต่อขอนำเด็กมาแนะแนวอาชีพกับ คุณสมเกียรติ วรโชติสกุลวงษ์

คุณป้าบุญช่วย วงศ์สว่าง อายุ 74 ปี เล่าว่า มีลูกพิการที่ต้องดูแลอยู่กับบ้าน 1 คน เล่าว่า แรกๆ มาทำลำบากมาก เพราะคนในชุมชนไม่ทำ มีแต่คนแก่ เป็นการเริ่มต้นนับ 1 ผ่านไปถึง 2 เดือน จึงเริ่มได้เงินที่สะสมรวมๆจากการขาย จะแบ่งกันสัปดาห์ละครั้ง ล่าสุดขายได้ 1,070 บาท 3 คน แบ่งได้คนละ 200-300 บาท เพราะถ้ามีรายได้จะหักไว้ที่ชมรมเป็นทุนบ้าง เป็นรายได้ที่พออยู่ได้ เพราะปกติชมรมไม่ทำโครงการ คนแก่ไม่มีงานทำ อีกอย่างเรามีผักกินเองทุกวันไม่ต้องซื้อ ช่วยประหยัดได้มาก และการมาช่วยกันทำงานพบปะเพื่อนสมาชิก มีผู้คน นักเรียน มาดูงานเยี่ยมเยียน ทำให้ชีวิตมีความสุข

ผักอินทรีย์ โรงพยาบาลอำเภอบ่อไร่ มารับถึงชมรมไปขายให้ทุกวันพฤหัสบดี

คุณสมเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า การก่อตั้งชมรมระยะแรกต้องใช้เงินส่วนตัวช่วยสนับสนุนหมุนเวียนบ้าง และขอสนับสนุนเครื่องมือต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐ ชมรมคนพิการเริ่มเป็นที่รู้จัก มีบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ มาศึกษาดูงาน และได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรร่วมกับ ร.ต.อ. นริศ สร้างกำลังใจ ความภูมิใจ ต่อไปเตรียมที่จะเลี้ยงไก่ เพาะเห็ด และนำพลังงานโซลาร์เซลล์มาใช้ ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐด้วยดี แต่ชมรมมีปัญหามากที่ต้องเขียนโครงการของบประมาณ เพราะคณะกรรมการ 9 คน ไม่มีความรู้เชี่ยวชาญ ต่อไปนอกจากจะปลูกผักอินทรีย์แล้ว จะเริ่มเลี้ยงไก่ เพาะเห็ด จากที่เคยทำมาแล้วหยุดไป ตอนนี้สมาชิกมีงานทำ มีรายได้ มีความสุข สุขภาพดีขึ้น เป็นสิ่งที่ชมรมภูมิใจ

สนใจศึกษาดูงาน เยี่ยมชมให้กำลังใจชมรมคนพิการอำเภอบ่อไร่ ติดต่อ คุณสมเกียรติ วรโชติสกุลวงษ์ โทร. 084-543-9658