ผักกะหล่ำห่อ ใช้ตอกมัด ภูมิปัญญาชาวบ้าน

คุณป้าบุญเจตน์ เจริญการ วัย 67 ปี คุณแม่ของ คุณสมเกียรติ วรโชติสกุลวงษ์ ประธานชมรม เล่าว่า ตัวเองไม่ได้พิการแต่อย่างใด มาช่วยลูกชายปลูกผักและสอนสมาชิกชมรมทำแปลงปลูกผัก เล่าถึงขั้นตอนการปลูกผักว่า บางอย่างนำเมล็ดพันธุ์มาเพาะเอง บางอย่างซื้อต้นพันธุ์ที่เพาะแล้วมา อย่าง กะหล่ำปลี ซื้อต้นพันธุ์มาจากอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

เริ่มจากการเตรียมแปลง พลิกดินชั้นล่างของแปลงขึ้นมาสับให้ดินแหลก ตากแดดให้แห้ง และนำปุ๋ยแกลบขี้ไก่มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ดินร่วนจะช่วยให้รากผักเดิน จะได้โตเร็ว จากนั้นนำต้นพันธุ์มาปลูก ให้น้ำเช้า-เย็น ให้ปุ๋ยสัปดาห์ละครั้ง เมื่อผักโตขึ้นต้องรวกเพลี้ยกินใบ ใช้น้ำยาสูบผสมใบสะเดาฉีดพ่นไล่ และคอยจับตัว ใช้เวลา 40-45 วัน ตัดขาย แล้วแต่ผักแต่ละชนิด เสร็จแล้วเริ่มทำแปลงปลูกใหม่หมุนเวียนไป เพื่อให้มีผลผลิตทยอยต่อเนื่อง

“หัวกะหล่ำปลี ปลูกครั้งแรกจะไม่ห่อแน่น เนื่องจากอากาศจังหวัดตราดไม่หนาวเหมือนทางเหนือ หรือจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงทดลองใช้วิธีรวบใบห่อ เอาตอกไม้ไผ่มัด เมื่อปลูกไป 2 สัปดาห์ ช่วยให้ดอกกะหล่ำห่อแน่นได้ ใช้เวลาประมาณ 40-45 วัน ต้นโตตัดขายได้ ใกล้เวลาตัดจะต้องคอยเปิดแง้มใบออกดูเป็นระยะๆ จากการคิดและทดลองทำครั้งแรกได้ผลค่อนข้างดี ตอนนี้การปลูกกะหล่ำปลีของชมรมจะใช้วิธีมัดตอกให้ห่อ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าวิธีนี้จะเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกรุ่นหรือไม่ แต่ถ้าต้นไหนไม่ห่อก็สามารถขายได้ราคาเดียวกัน คือ กิโลกรัมละ 30 บาท” คุณป้าบุญเจตน์ กล่าว