“มะระขี้นก” พืชสมุนไพรพื้นบ้าน ขมเป็นยา ดีต่อสุขภาพ

เขาว่ากันว่า คนแก่ชอบกินของขม…ชมเด็กสาว ก็คงจะจริงอย่างว่าแหละนะ เพราะเริ่มสูงวัย อะไรที่ขมๆ ฝาดเฝื่อนกลืนไม่ค่อยลง สมัยที่ยังเป็นหนุ่มสาวนั้น ดูเหมือนจะกระเดือกง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะ ยารักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อะไรที่ใครว่าดี ไม่ว่าจะขมหรือเหม็น หรือสิ่งไหนที่หมอสั่งให้กินไม่มีการบิดพลิ้วเกี่ยงงอนเด็ดขาด ไม่รู้เป็นเพราะปุ่มรับรสที่ลิ้นไม่ทำงาน หรือเพราะว่าสันดานเปลี่ยนตามอายุกันแน่ ฮาฮา

มะระขี้นก เป็นผักพื้นบ้านของไทย ปู่ ย่า ตา ยาย ของพวกเรากินกันเป็นผักเป็นยามาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว น่าจะรู้จักกันมาก่อนมะระจีนด้วยซ้ำไป เด็กเมืองสมัยใหม่ที่ไม่มีโอกาสเห็นผักพื้นบ้านขึ้นตามริมรั้วหรือเลื้อยอยู่ในป่า ส่วนใหญ่คงจะคุ้นเคยกับมะระจีนที่มีขายกันตามตลาดสดและซูเปอร์มาร์เก็ตมากมายกว่ามะระขี้นก จะว่าไปแล้ว เป็น “มะระ” เหมือนกันแท้ๆ เชียว แต่เจ้ามะระขี้นกก็ช่างเล็กจิ๋วเสียเหลือเกิน ขณะที่มะระจีน เวลาวางเทียบกัน ก็เป็นมะระยักษ์นั่นเลยทีเดียว ส่วนเรื่อง “ขม” ต่างมีรสขมเหมือนกัน แต่มะระขี้นกมีรสขมจัดกว่ามะระจีนมากมาย ฉะนั้น อย่าไปหวังว่าเด็กเล็กหรือแม้แต่คนหนุ่มสาวจะยอมกินกันง่ายๆ

มะระขี้นก เป็นผักพื้นบ้านขึ้นตามธรรมชาติไม่มีราคาค่างวดอะไร หาเก็บกินได้ง่ายทั่วไป แถมรสชาติก็สุดแสนจะไม่ดึงดูดชวนเชิญ ฉะนั้น มะระขี้นกก็เลยนิยมกินกันเฉพาะในหมู่ผู้ใหญ่และผู้สูงวัยเป็นส่วนมาก…นิยมกินเป็นยา ในฐานะสมุนไพรและยาอายุวัฒนะมากกว่าจะกินในความรู้สึกว่าเป็นผักเหมือนผักชนิดอื่นทั่วไป

มะระอ่อน ผลมีขนาดเล็กมาก ลูกใหญ่สุดไม่เกินหัวแม่มือ แต่ส่วนใหญ่ประมาณปลายนิ้วชี้เท่านั้นเอง กินไม่ค่อยเต็มปากเต็มคำสักเท่าไหร่ คนรุ่นพ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่ที่สูงวัยนิยมใช้ผลอ่อนของมะระขี้นกเท่านั้น เอาเฉพาะที่ลูกยังเขียวอยู่ หรือมีสีขาวติดอยู่ด้วยซ้ำไป ไม่เอาลูกที่เริ่มมีสีเหลืองแซมเด็ดขาด เพราะมันเริ่มแก่ไม่น่ากินเสียแล้ว บรรดาผู้เฒ่าเหล่านั้นจะเอามะระขี้นกอ่อนๆ ทั้งลูกไปต้มในน้ำเดือดจัด ใส่เกลือสักหยิบมือ พอสุกก็รีบตักขึ้นเลย สีมะระจะยังเขียวจัดอยู่ จากนั้นเอาลงมาสะเด็ดน้ำ จิ้มน้ำพริกรสจัดๆ เข้าใจว่าความเผ็ดร้อนของน้ำพริกน่าจะช่วยดับความขมลงได้บ้าง

ใครที่ชอบมะระขี้นกลูกใหญ่ก็ต้องรอผลแก่สักหน่อย ลูกจะโตขึ้นประมาณลูกมะปรางขนาดย่อมๆ แต่มะระแก่จะขมจัดกว่าเดิมมาก ก็เลยต้องผ่าครึ่งควักไส้คว้านเมล็ดออกเสียก่อน วิธีนี้จะช่วยลดความขมลงได้ บางคนก็ชอบที่จะราดหัวกะทิลงบนมะระลวก ให้มีรสหวานมันปะแล่มผสมเข้าไปเจือในรสขมบ้าง แบบนี้ก็จะได้รสสัมผัสที่ซับซ้อนขึ้น

ส่วนที่อร่อยอีกอย่างของมะระขี้นกก็คือ ยอดอ่อนของมันนั่นเอง แต่ไม่ค่อยนิยมกินสดเหมือนผักชนิดอื่น เพราะฤทธิ์ขมของมันลามไปถึงใบด้วย ช่วงไหนที่มะระไม่ค่อยให้ผล ชาวบ้านก็จะเก็บยอดอ่อนมาลวกกินแทน ส่วนใหญ่ก็จิ้มกับน้ำพริกนั่นแหละเหมาะที่สุด หรือบางคนอาจจะเอาไปใส่แกงคั่ว แกงเลียง และแกงป่า เพิ่มความเข้มข้นให้น้ำแกงมีรสขมนิดๆ ก็ได้ แถวภาคอีสานชอบกินยอดมะระลวกกับปลาป่น หรือไม่ก็กินกับลาบ บางทีก็เอาไปใส่แกงอ่อมหน่อไม้ แกงเห็ดแบบพื้นบ้านเพิ่มรสขมกลมกล่อมเข้มเข้าไป

มะระยักษ์โอกินาวาติดผลง่ายและดกมาก

ส่วนภาคกลาง ได้ยินว่าบางบ้านก็ประดิดประดอยปรุงแกงจืดมะระขี้นกยัดไส้หมูสับเหมือนกับที่ครัวจีนชอบทำมะระยัดไส้หมูสับตุ๋นใส่เห็ดหอม ซึ่งตามร้านข้าวต้มริมถนนนิยมกันนัก ร้านข้าวต้มบางแห่ง มีลังถึงขนาดใหญ่ตั้งถ้วยน้ำแกงตุ๋นหมู ไก่ หน่อไม้จีนสองสามอย่างเตรียมเอาไว้ให้ร้อนกรุ่นตลอดเวลา เมนูขายดีคือ มะระตุ๋นยาจีน บางร้านใส่หมูสับยัดไส้เข้าไป บางร้านก็ฝานมะระชิ้นใหญ่ๆ เคี่ยวในน้ำต้มกระดูกหมูซี่โครงอ่อนเคี่ยวกันกรุบกรับ นึกไม่ออกเหมือนกันว่ามะระขี้นกลูกจิ๋วนั่น เวลายัดหมูสับเข้าไปเป็นไส้มันแล้วรสชาติจะดีขึ้นกว่ากินสดๆ แค่ไหน

ไหนๆ เราก็กินมะระขี้นกกันแบบกินเป็นยาแล้ว มาว่าถึงประโยชน์ทางยาดีกว่า ชาวโอกินาวา ในประเทศญี่ปุ่น นิยมกินมะระขี้นกมาก เพราะเชื่อกันว่า มะระขี้นกมีส่วนช่วยให้ชาวโอกินาวามีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่าชาวญี่ปุ่นทั่วไป ส่วนบ้านเรานั้นเชื่อกันมายาวนานว่า มะระขี้นกมีสรรพคุณช่วยเจริญอาหาร นั่นเป็นเพราะรสขมในเนื้อมะระเป็นตัวกระตุ้นให้น้ำย่อยออกมามาก ก็เลยทำให้กินอาหารได้เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้แหละที่ผู้อาวุโสชอบกินมะระ มันทำให้กินข้าวได้มากและอร่อยขึ้นนี่เอง

ใช้ช้อนขูดเอาเมล็ดหรือส่วนที่เราเรียกว่าไส้ออกให้หมด ก่อนนำไปประกอบอาหาร

นอกจากเจริญอาหารแล้ว เคยมีผลวิจัยว่า มะระขี้นกสามารถยับยั้งเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ด้วย ผลทดสอบจากห้องปฏิบัติการพบว่า โปรตีนและไกลโคโปรตีนเล็กทินจากมะระขี้นกมีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่สารเหล่านี้ดูดซึมผ่านระบบทางเดินอาหารได้น้อยมาก การกินเป็นอาหารจึงไม่สามารถลดปริมาณเชื้อไวรัสในผู้ป่วยได้

ฉะนั้น การรับประทานมะระขี้นกจึงน่าจะได้ประโยชน์ในการสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมากกว่าการรักษาผู้ที่ป่วยแล้ว มะระขี้นกจึงได้รับความนิยมใช้เป็นยาอายุวัฒนะเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วย โดยทั่วไปคนป่วยมะเร็งนิยมใช้ผลอ่อนคั้นหรือปั่นเป็นน้ำดื่ม หรือไม่ก็นำไปตากแห้งแล้วบดเป็นผงใส่แคปซูลเอาไว้กิน

การดื่มน้ำมะระคั้นนี้ว่ากันว่าได้ผลดีทีเดียวแหละ แต่จากการทดลองพบว่า วิธีสวนทวารด้วยน้ำคั้นมะระจะได้ผลดีกว่าการดื่มมาก เพราะสารสำคัญคือ MAB-30 ซึ่งเป็นสารโปรตีนนั้นหากกินผ่านหลอดอาหารจะถูกทำลายโดยกรดและน้ำย่อยอาหารในกระเพาะอาหารได้ง่าย ซึ่งโปรตีนดังกล่าวมีหลักฐานอ้างอิงว่า มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง! ฉะนั้น หากสวนผ่านทางทวารให้ร่างกายดูดซึมผ่านลำไส้ใหญ่ส่วนปลายโดยไม่เจอฤทธิ์กรดทำลายจึงดีกว่าแน่นอน

วิธีการที่ผู้รู้แนะนำมาก็คือ ให้ใช้เมล็ดจากผลสุกของมะระ 30 กรัม แกะเมล็ดจากฝัก ล้างเนื้อเยื่อสีแดงที่หุ้มเมล็ดออกให้หมด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำแล้วนำมากะเทาะเมล็ดในที่มีอุณหภูมิต่ำจะได้เนื้อในสีขาว ระหว่างกระบวนการทั้งหมดให้ระวังเรื่องความสะอาดให้ดีนะคะ ควรสวมถุงมือตลอดเวลา เมื่อได้เนื้อในเมล็ดของมะระแล้วล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง จากนั้นเติมน้ำหรือน้ำเกลือแช่เย็นลงไป 90-100 มิลลิลิตร นำไปปั่นแล้ว กรองด้วยผ้าขาวบาง 2-3 ชั้น จะได้น้ำยาสีขาวขุ่น

น้ำยาสีขาวขุ่นนี้ ใช้สวนทวารหนัก ครั้งละ 10 มิลลิลิตร วันละครั้ง โดยมีข้อควรระวังว่า ควรใช้วาสลินช่วยหล่อลื่นก่อนการสวนทวารทุกครั้ง ให้ระมัดระวังเรื่องความสะอาด และต้องรักษาความเย็นของน้ำมะระคั้นตลอดเวลา

ฤทธิ์ทางยาอื่นๆ น้ำต้มรากมะระขี้นกใช้ดื่มเป็นยาลดไข้ บำรุงธาตุ เป็นยาฝาดสมานแก้ริดสีดวงทวาร แก้บาดแผลอักเสบได้ น้ำคั้นใบ ดื่มเป็นยาทำให้อาเจียน บรรเทาอาการท่อน้ำดีอักเสบ แถมช่วยระบายท้องได้ดี ดอกชงกับน้ำ ดื่มแก้อาการหืดหอบ ผล นอกจากกินเป็นยาขมช่วยเจริญอาหาร บำรุงร่างกายแล้ว ยังขับพยาธิ แก้ตับและม้ามอักเสบ หรือจะคั้นน้ำมะระดื่มสัปดาห์ละไม่เกิน 1 แก้ว เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดก็ได้

อย่างไรก็ตาม มะระขี้นก เป็นพืชผักสมุนไพรมีฤทธิ์เป็นยาเย็น จึงไม่ควรกินต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ต้องเว้นระยะกินผักอย่างอื่นสลับกันไปบ้าง เพื่อให้ร่างกายเกิดความสมดุลในสภาวะหยิน หยาง เห็นไหมคะว่า “ขมเป็นยา” ของ มะระขี้นก นั้น น่าสนใจขนาดไหน

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพ วันที่ 18-22 สิงหาคมนี้ ติดตาม Healthcare 2021 “วัคซีนประเทศ” บนแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียเครือมติชน ทั้งเฟซบุ๊กมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และยูทูบมติชน ทีวี
อ่านสกู้ปเต็มๆ ที่นี่ :
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2564