“บุก” ต้นไม้เล็กๆ คุณสมบัติน่าทึ่ง

ชื่อสามัญ : Konjac/Konyakky/Devil’s tongue

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amorphophallus campanulatus/Amorphophallus paeoniifolius (Dennst.) Nicolson Family : ARACEAE

เมื่อถึงฤดูต้นฝน คนที่ชอบเดินเที่ยวตามป่าเขามักจะได้เห็นพืชประหลาดจำพวกหนึ่ง แทงก้านใบสูงขึ้นมาโผล่พ้นดินเป็นยอดแหลมๆ แล้วอีกไม่นานนักก็จะค่อยๆ คลี่ใบกางออกมาคล้ายร่ม ดูสวยงามสะดุดตา เจ้าต้นไม้ที่ว่านี้ก็คือ ต้นบุก นี่เอง พืชตระกูลบุกทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 90 กว่าชนิด พบมากแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอินโดนีเชีย มาเลเซีย พม่า ลาว เขมร ฯลฯ

ส่วนในบ้านเรา พบประมาณ 10 กว่าชนิด แต่ที่นิยมเอามาทำประโยชน์บริโภคได้จริงๆ มีแค่ 3 ชนิด ได้แก่

  1. Amorphophallus oncophyllus Prain ex Hook f. บุกไข่ หรือ บุกทรายเนื้อในหัวสีเหลือง ขาวอมชมพูใบใหญ่ กว้างประมาณ 1 เมตร ก้านใบสีเขียวมีลายขาวเป็นปื้นๆ รูปไข่สมชื่อ ช่อดอกยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร มีกาบหุ้มสีม่วงอมน้ำตาล หัวใหญ่กลมๆ แป้นๆ มีร่องบุ๋มตรงกลางด้านบน ชนิดนี้จะมีสาร Glucomannan อยู่ข้างในมากกว่าบุกชนิดอื่น พบมากทางแถบตะวันตก กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ฯลฯ
  2. Amorphophallus kerrii NE. พบมากทางแถบภาคเหนือ น่าน ตาก เชียงใหม่ เลย ฯลฯ ผิวขรุขระ สีน้ำตาล ก้านใบสีเขียวประจุดขาวเล็กน้อย
  3. Amorphophallus corrugatus N.E. เป็นบุกชนิดเล็กสุด พบตามชายป่า ชายทะเลทั่วไปทุกภาค ใบเล็กๆ หลายๆ ใบ มีสีเขียวอมน้ำเงิน บางทีมีขอบชมพูเรื่อๆ ส่วนที่เป็นดอกบุกจะได้เห็นก็ต่อเมื่อใบและต้นแห้งเหี่ยวเฉาโรยราลงไปเท่านั้น ถ้าเห็นใบไม่มีทางเห็นดอกเด็ดขาด อันนี้ธรรมชาติเขาสร้างมาเป็นเอกลักษณ์ แปลกกว่าไม้ชนิดอื่น

ดอกบุก ประกอบด้วย ปลี (spadix) และจานรองดอก (Spathe) วงในสีคล้ำๆ ม่วงอมดำ เวลาดอกบุกบานจะส่งกลิ่นเหม็นคล้ายซากสัตว์เน่าคลุ้งไปทั่วบริเวณรอบๆ คนเที่ยวป่าที่รู้ดีจะอุดจมูกเข้าไปแหวกกลีบดอกจับแมงกุดจี่ ด้วงบางชนิดที่มากินดอกบุกเอาไปคั่วซะเลย สบายไป พอดอกแก่ก็จะติดผลเม็ดกลมๆ เป็นช่อสีเขียว พอสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส้ม แดง สวยงาม เป็นอาหารโปรดของพวกนก กระรอก

บุกเอเชียเราเป็นอาหารเสริมสุขภาพโปรดปรานของชาวญี่ปุ่นมานาน สาวๆ แจแปนรู้จักกันดี ในนาม Konjac/Konyakky แอบเอาของเราไปพัฒนาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ลดพุง ลดไขมัน อาหารเพื่อสุขภาพ และยาคุมน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะแป้งจากหัวบุกมีกากใย (Fiber) สูงมาก สามารถพองตัวในน้ำได้หลายสิบเท่า แต่ร่างกายจะย่อยสลายได้ช้า ซึมซับได้ช้า จึงให้พลังงานสูง กากเยอะ ช่วยระบบขับถ่าย แบบว่ากินจนอิ่มแต่ไม่อ้วน

สาร Glucomannan จากบุก เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ให้น้ำตาลโมเลกุลใหญ่ (Polysaccharides) สองชนิด คือ D-Glucose กับ D-mannose ลักษณะเป็น Gel fiber ทำปฏิกิริยากับด่าง กลายเป็นวุ้นใสๆ มีคุณสมบัติดูดซับไขมันได้ดี จากการวิจัยพบว่า น้ำตาล mannose ที่ได้จากบุก จะถูกดูดซึมได้ช้ากว่า Glucose จึงทำให้การเพิ่มของระดับน้ำตาลในเลือดช้าไปด้วย เป็นคุณสมบัติน่าทึ่งของต้นไม้น้อยๆ จากเอเชียอันน่าสนใจมาก หากพี่ไทยยังชักช้าอีก สงสัยจะเสร็จเขาหมดอีก เหมือนเปล้าน้อยแน่ๆ

แถบชลบุรี ระยอง นิยมฝานหัวบุกเป็นแผ่นบางๆ หมักเคล้าเกลือเพื่อลดความเป็นพิษจากยาง แล้วเอาไปตากแห้งนึ่ง ทำขนม กินกับข้าวก็ได้ ทางเหนือบางทีก็ฝานปิ้งไฟกินเล่น หรือชงน้ำชา ก้านใบก็ลวกจิ้มน้ำพริก หรือทำแกงส้ม ทางเหนือเขาแช่น้ำปูน ขูดๆ เป็นเส้นๆ นำไปต้ม นึ่ง ทำอาหาร

เขาว่าสาวๆ ชาวเขานิยมกิน เพราะจะบำรุงผิวพรรณให้เต่งตึง แบบว่าคนมีลูกแล้วไม่บอกไม่รู้ไปโน่นเลย ส่วนทางอีสานใต้ท่านว่าให้เอาพวงช่อผลบุกแก่จัดมาอังไฟพอหอม ผูกเชือกจุ่มลงในหม้อน้ำร้อนเดือดๆ รอจนผลบุกร่วงลงในหม้อเป็นอันใช้ได้ รอให้อุ่นๆ จิบแทนชา ประมาณว่าจะช่วยท่านชายให้ “บุก” โจมตีข้าศึกให้โบกมือยอมแพ้บนเตียง เอ๊ยยอมแพ้ในสมรภูมิได้เลยเชียวแหละ อันนี้ต้องไปลองกันเองนะ ผมไม่เคยทดลอง จึงไม่สามารถการันตีได้ เคยแต่นำไปใช้จัดสวน ก็เรียกความสนใจได้ดีเลยล่ะครับ