กรมทรัพยากรธรณี ชูกระบี่เมืองน่าเที่ยวเชิงธรณีวิทยา-แหล่งซากดึกดำบรรพ์ ชี้เป้า 4 พิกัด ดึงชุมชนร่วมพัฒนา-อนุรักษ์ ฟื้นฟูรับนักท่องเที่ยวมาเยือน

กรมทรัพยากรธรณี มีภารกิจสำคัญในการสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการด้านธรณีวิทยา ทรัพยากรธรณี ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรณีและพื้นที่เสี่ยงต่อธรณีพิบัติภัย เพื่อการพัฒนาทรัพยากรธรณีอย่างยั่งยืน เมื่อเร็วๆ นี้ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ด้านธรณีวิทยา ธรณีพิบัติภัย ซากดึกดำบรรพ์ และธรรมชาติวิทยา จังหวัดกระบี่

เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านแหล่งซากดึกดำบรรพ์และการจัดการท่องเที่ยวเชิงธรณีสู่ชุมชน ตลอดจนศึกษาแนวทางการปลูกจิตสำนึกให้แก่ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของแหล่งซากดึกดำบรรพ์ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ให้เกิดความรักและความหวงแหน ดูแลรักษาและการอนุรักษ์แหล่งธรณีอย่างยั่งยืน นายมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบัน กระบี่ เป็นจังหวัดที่ได้รับการยอมรับว่ามีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายและล้วนมีชื่อเสียงระดับประเทศและทั่วโลกมากมาย เช่น เกาะพีพีเล เกาะพีพีดอน สระมรกต น้ำตกร้อนและสุสานหอย เป็นต้น โดยการลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานในครั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณีได้นำไปดูทั้งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเก่าและแหล่งท่องเที่ยวที่พึ่งค้นพบใหม่ๆ จำนวน 4 จุด ด้วยกัน โดยแต่ละจุดล้วนน่าทึ่งและน่าศึกษา ได้ทั้งความเพลิดเพลินและสาระความรู้ทางด้านธรณีวิทยา ทรัพยากรธรณี ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม และที่มาของธรณีพิบัติภัยที่น่าค้นหา ตามรอยแหล่งซากดึกดำบรรพ์ “ไฮยีนาลายจุด” ​ชูศักยภาพเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยา ​

สำหรับจุดแรกที่นำชมคือ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ “ไฮยีนาลายจุด” (Crocuta crocuta) ตั้งอยู่ถ้ำเขายายรวก บ้านถ้ำเพชร ตำบลอ่าวลึกเหนือ อำเภออ่าวลึก เป็นการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ “ไฮยีนาลายจุด” (Crocuta crocuta) ที่เก่าแก่ที่สุด อายุราว 400,000 ปี เป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้อายุทางธรณีวิทยาและสภาพแวดล้อมบรรพกาลที่เป็นทุ่งหญ้าสะวันนาในอดีต ซึ่งนับเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้อายุทางธรณีวิทยาและสภาพแวดล้อมบรรพกาลที่เป็นทุ่งหญ้าสะวันนาในอดีต หลายคนอาจไม่รู้จักว่า “ไฮยีนาลายจุด” คือตัวอะไร เนื่องจากเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีชีวิตในสมัยดึกดำบรรพ์ที่เก่าแก่ที่สุดอายุราว 400,000 ปี ซึ่งนอกจากมีการค้นพบ ไฮยีน่าลายจุด แล้วยังค้นแบบซากของแรดชวา (Rhinoceros sondaicus) อีกด้วย “การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไฮยีนาลายจุด ชี้ให้เห็นว่าแหล่งซากดึกดำบรรพ์ถ้ำยายรวกมีศักยภาพเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่สามารถพัฒนาสำหรับการเรียนรู้ทางด้านธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาของบุคคลทั่วไป การศึกษาวิจัยของนักวิชาการและการอนุรักษ์และท่องเที่ยวของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

นายมนตรี กล่าว เยือนแหล่งอนุรักษ์ทางธรณี “สุสานหอย 75 ล้านปี” ดึงชุมชนมีส่วนร่วมฟื้นฟู อนุรักษ์ ยกระดับการบริหารจัดการสู่แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน สำหรับจุดที่ 2 ที่ไปเยือน คือ แหล่งอนุรักษ์ทางธรณี “สุสานหอย 75 ล้านปี” ตั้งอยู่ ณ อุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี บ้านแหลมโพธิ์ แหล่งฟอสซิลในยุคโบราณเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและใหญ่เป็น อันดับ 3 ของโลก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่คุ้มครอง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 และถือเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติและหลักฐานทางโบราณคดีอย่างหนึ่งที่หาดูได้ยาก เกิดจากการสะสมตัวของตะกอน ดินเหนียวหรือ ดินเคลย์ (Clay) ตะกอนทรายและปูนในแอ่งสะสมตัวซึ่งอยู่บนบก เช่น ทะเลสาบ บึง หนอง แบ่งออกได้เป็นชั้นต่างๆ ตามชนิดของตะกอน จำนวน 8 ชั้น

โดยมีลำดับชั้นตามอายุที่แก่กว่าไปหาอายุน้อยกว่า แต่ปัจจุบันนอกจากสภาพพื้นที่เริ่มทรุดโทรม ยังพบว่าสภาพที่ตั้งของแนวฟอลซิล เริ่มพังทลายจุดเนื่องจากถูกน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ทำให้แผ่นฟอสซิลแผ่นใหญ่ เริ่มแตกหักเสียหายอย่างรุนแรง หากไม่มีการวางมาตรการป้องกัน ฟอสซิลเปลือกหอยอาจเสียหายมากขึ้น จากวิกฤติของสุสานหอย กรมทรัพยากรธรณีเตรียมแผนยกระดับคุณค่าของแหล่งธรณีวิทยาแห่งนี้ด้วยการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและเร่งสร้างจิตสำนึกเรื่องของการอนุรักษ์แก่ชุมชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งต้องปรับปรุงการบริหารจัดการพื้นที่ให้ดีขึ้น เพื่อยกระดับให้เป็นแหล่งเรียนรู้ครบวงจร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและน่าสนใจในการศึกษาหาความรู้ของนักเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ศึกษา ตรวจสอบธรณีวิทยากรณีหินถล่มเกาะทะลุ เฝ้าระวัง ติดตามการเคลื่อนตัวของหินจนกว่าหินจะมีเสถียรภาพที่มั่นคง

ส่วนจุดที่ 3 คือ การลงเรือไปสำรวจเรื่องธรณีพิบัติภัย อุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี การเกิดหินขนาดใหญ่ถล่มบริเวณเกาะแม่อุไร หรือที่รู้จักกันว่า “เกาะทะลุ” ในช่วงคลื่นลมแรง โดยลักษณะการถล่มของหินเป็นการถล่มแบบล้มคว่ำ (topple) เป็นการเคลื่อนที่โดยมีการหมุน หรือล้มคว่ำลงมาตามลาดเขา มักพบว่าเกิดบริเวณเชิงหน้าผาดิน หรือหินที่มีรอยแตกรอยแยกมาก ลักษณะทางธรณีวิทยาบริเวณเกาะทะลุ เป็นหินตะกอนเนื้อประสานชนิดหินปูนเนื้อโดโลไมต์ (dolomitic limestone) อายุยุคเพอร์เมียน (251-299 ล้านปี) มีสีเทา เนื้อแน่น เป็นมวลหนา ไม่แสดงชั้นหิน มีรอยแตกรอยร้าวมากมาย เปราะแตกหักง่าย พบรู โพรง ถ้ำ หินย้อยมากมาย อยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต์ (karst topography) โดยเกาะแม่อุไรแสดงลักษณะแบบหินปูนรูปหอคอย (karst tower) และอยู่ในเขตกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย

ซึ่งมีแนวแตกหลักอยู่ในแนวดิ่งและสามารถคำนวณน้ำหนักของหินถล่มได้ ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในภูมิภาคเขตมรสุม อากาศร้อนชื้น มีปริมาณน้ำฝนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยในการเร่งการผุกร่อนของหินอย่างรวดเร็ว โดยพบร่องรอยการแตกหักร่วงถล่มของหินได้ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกรมทรัพยากรธรณี โดยสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 4 ได้มีการแนะนำให้กันพื้นที่โดยรอบของพื้นที่เกาะ รวมถึงพื้นที่รอบหินที่ถล่มรัศมี 100 เมตร และห้ามไม่ให้เรือประมง เรือท่องเที่ยว เข้าในพื้นที่ เนื่องจากอาจมีเศษหินที่ยังค้างอยู่บริเวณด้านบนเกาะร่วงหล่นลงมา และหินถล่มอาจมีการเคลื่อนตัวหรือแตกหักเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งให้การเฝ้าระวัง ติดตามการเคลื่อนตัวของหิน หรือการแตกเพิ่มเติมของหินจนกว่าหินจะมีเสถียรภาพที่มั่นคง รวมทั้งติดป้ายประกาศห้ามนักท่องเที่ยวเข้าบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเพื่อป้องกันอันตรายจากหินถล่ม สำรวจ “น้ำตกร้อน : Hot Spring Waterfall คลองท่อมเหนือ เตรียมขึ้นแท่นออนเซน-แหล่งธรณีวิทยาสำคัญของเมืองไทย สำหรับการดูงานจุดสุดท้ายคือ แหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งของจังหวัดกระบี่ คือ “น้ำตกร้อน” บ้านบางคราม-บ้านบางเตียว ตำบลคลองท่อมเหนือ

ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งธรณีวิทยาสำคัญของประเทศไทย เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 5 เมตร และกว้างประมาณ 10 เมตร น้ำตกร้อนเกิดจากน้ำผิวดินซึมลงไปใต้ดิน ไหลผ่านชั้นน้ำในระดับลึก ถึงบริเวณที่หินแกรนิตที่ยังคงมีความร้อนอยู่ จนกระทั่งน้ำใต้ดินนั้นร้อนขึ้นมากกว่าจุดเดือดของน้ำ แรงดันของไอน้ำเพิ่มขึ้น น้ำใต้ดินจึงไหลย้อนขึ้นมาสู่ผิวดิน กลายเป็นน้ำพุร้อนขึ้นสู่ผิวดิน ไหลรวมกับลำธารในบางบริเวณสายน้ำมีควันลอยกรุ่นน้ำร้อนมีสารละลายแคลเซียมคาร์บอเนตในปริมาณสูง เนื่องจากไหลผ่านชั้นหินปูน เมื่อน้ำไหลผ่านชั้นดินและป่าทำให้เกิดคราบหินปูนสีต่างๆ ตลอดทาง โดยเฉพาะตลิ่งของคลองท่อมที่พบคราบหินปูนได้พอกหนาจนเกิดเป็นแอ่งน้ำตกขนาดเล็กหลายแอ่งเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันไปเป็นแอ่งน้ำให้นักท่องเที่ยวได้แช่น้ำร้อนได้อย่างสบาย อุณหภูมิของน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ ประมาณ 42 องศาเซลเซียส ใส และไม่มีกลิ่น เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปอาบน้ำตกร้อนและธารน้ำแร่เพื่อสุขภาพ

ปัจจุบัน น้ำตกร้อนแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองท่อมเหนือ ในพื้นที่ของน้ำตกร้อนมีห้องอาบน้ำแร่ บ่อน้ำร้อนแช่ตัว แช่เท้า และศาลานวดแผนไทยให้บริการกับนักท่องเที่ยว ส่วนบริเวณทางเข้ามีร้านค้า ร้านอาหาร และลานจอดรถบริการ ที่สำคัญของความพิเศษคือ น้ำตกร้อนแห่งนี้คือเป็นน้ำตกร้อนที่หาดูได้ยากในประเทศไทย และอาจจะมีเพียงแห่งเดียวในภาคใต้ สำหรับแหล่งธรณีวิทยาที่เป็นแหล่งธรรมชาติเหล่านี้ ล้วนเป็นทรัพยากรธรณีที่สำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา(Geo-tourism) ที่นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ความเพลิดเพลินแล้ว ยังได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรณีที่สำคัญของประเทศอีกด้วย และจูงใจให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเที่ยวในชุมชน นำมาสู่เศรษฐกิจชุมชนที่มั่นคงและยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย