สุบิน ยอดประทุม นักสู้เพื่อเกษตรอินทรีย์ แห่งเขาภูซาง หนองบัวลำภู

คุณสุบิน ยอดประทุม เกิดวันที่ 1 สิงหาคม 2514 อายุ 50 ปี จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบัน อยู่บ้านเลขที่ 296 หมู่ที่ 15 บ้านต่างแคน ตำบลบ้านโคก อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เบอร์โทรศัพท์ 080-193-4087 สมรสกับ คุณจันทนา ยอดประทุม อายุ 48 ปี มีบุตร 2 คน ชาย 1 คน หญิง 1 คน 

คุณสุบิน ยอดประทุม เล่าให้ฟังว่า ตนเองมีพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 16 ไร่ มีการทำการเกษตรของตนเองโดยเริ่มทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างเดียว ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเกือบทุกอย่างในการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี ยากำจัดวัชพืช สารฆ่าแมลง ซึ่งมีต้นทุนสูงมาก

กาแฟ

นอกจากนี้ ยังประสบกับปัญหาฝนทิ้งช่วงบ้างเป็นบางปี ศัตรูพืชทำลายผลผลิตได้รับความเสียหาย ประกอบกับราคาผลผลิตตกต่ำ ทำให้ขาดทุน ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ จนได้รู้จักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงเริ่มทำการเกษตรแบบผสมผสาน เน้นการทำเกษตรอินทรีย์ มีกิจกรรมหลากหลาย มีการปลูกพืชผักสวนครัว การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ตลอดจนปุ๋ยพืชสด และใช้วัสดุที่เหลือใช้มาเป็นปัจจัยการผลิตปุ๋ย เพื่อลดค่าใช้จ่ายและบำรุงดิน เช่น การเพาะเห็ดฟางจากวัสดุเหลือใช้ในไร่นา การนำแหนงไผ่มาทำร้านถั่วฝักยาว การปลูกไม้ผลสวนหลังบ้าน และไม้ใช้สอยในครัวเรือน การปลูกพืชสมุนไพรช่วยส่งเสริมสุขภาพอนามัย การเลี้ยงปลาในบ่อเพื่อเป็นอาหารโปรตีนและมีรายได้เสริม โดยใช้เศษอาหาร รำ และปลายข้าวจากผลผลิตการทำนามาเลี้ยงปลา โดยกิจกรรมทุกอย่างจะพึ่งพากันและเกื้อกูลกัน “กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน”

กิจกรรมเลี้ยงปลา

นอกจากทำการเกษตรทั่วไปแล้ว ยังได้ให้ความสนใจในเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะนำมาปรับปรุงและใช้พัฒนาสวนของตนเอง เช่น การทำอาหารเลี้ยงเชื้อเห็ด เพื่อใช้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ด แทนการซื้อเชื้อเห็ดจากภายนอก ปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาข้าว จากการหว่านข้าวมาใช้วิธีโยนข้าวแทน ซึ่งวิธีโยนข้าวมีข้อดีคือ สามารถควบคุมวัชพืช โดยเฉพาะข้าววัชพืช ที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงได้ผลเป็นอย่างดี ได้ต้นข้าวที่แข็งแรง นอกจากนั้น ยังเป็นการช่วยลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์และสารเคมีกำจัดวัชพืชลงอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่ และไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การทำเตาเผาถ่านชาร์โคล ปรับปรุงเตานึ่งก้อนเชื้อเห็ดให้มีขนาดใหญ่ สามารถนึ่งก้อนเชื้อเห็ดได้ในปริมาณมาก

คุณสุบิน ยอดประทุม

คุณสุบิน เล่าว่า ตนเองมีแนวคิดในการทำงาน “พึ่งตนเอง” คือพยายามพึ่งตนเองให้ได้ก่อน ในครอบครัวมีการบริหารจัดการอย่างพอดี ประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ให้เป็นหนี้ และได้ศึกษาแนวทาง และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง คือปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ไม่ว่าเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ และได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิต เชื่อฟังและปฏิบัติตามแนวพระราชดำริ

คุณสุบิน(ขวา)และผู้เขียน

เพราะเห็นผลแล้วว่า เพียงเดินทางสายกลาง มีความพอประมาณ ที่เป็นความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มีเหตุผลทุกการตัดสินใจ จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ มีภูมิคุ้มกันที่ดีในการเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล ภายใต้เงื่อนไข ความรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ คุณธรรมที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

เจ้าหน้าที่เกษตรมาเยี่ยม

การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้นั้น ขั้นแรกต้องยึดหลัก “พึ่งตนเอง” พยายามพึ่งตนเองให้ได้ก่อน ในครอบครัวมีการบริหารจัดการอย่างพอดี ประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนต้องรู้จักตนเอง สามารถรักษาระดับการใช้จ่ายของตน ไม่ให้เป็นหนี้ และรู้จักใช้ศักยภาพของตัวเอง มีการผสมผสานเทคโนโลยีต่างๆ ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับระบบการจัดการภายในฟาร์ม เพื่อช่วยแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ แม้จะมีผลแต่ก็ไม่มีผลกระทบมากนัก ปัญหาด้านเศรษฐกิจจะน้อยลง เพราะการทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งแตกต่างจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เพราะยังสามารถที่จะนำกิจกรรมอื่นๆ ที่มีอยู่ในฟาร์มมาช่วยเหลือทดแทนในส่วนที่เกิดผลกระทบได้ ทั้งยังสามารถดำรงชีพอยู่ได้ เพราะเน้นการมีปัจจัยสี่ ซึ่งมีเพียงพอในพื้นที่ หากราคาข้าวของเพิ่มขึ้น แต่เรามีปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นเองอยู่แล้ว ก็จะไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือผลกระทบ

นวัตกรรม

กิจกรรมการผลิตภายในฟาร์มสวนยอดประทุม

  1. กิจกรรมที่ทำรายได้ ได้แก่ การปลูกข้าว กข 6 การเพาะเห็ด หน่อไม้ กาแฟ ปลูกมันสำปะหลัง เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงหนู เป็นต้น
  2. กิจกรรมอาหาร ได้แก่ ปลูกข้าว กข 6 พืชผักสวนครัว ผลไม้ต่างๆ เห็ด หน่อไม้ พืชสมุนไพร ปลา กบ เป็นต้น
  3. กิจกรรมการใช้สอย ได้แก่ ไม้ไผ่ สัก ยางนา เป็นต้น
ใบรับรองเกษตรอินทรีย์

การปลูกข้าว จะใช้ข้าวพันธุ์ กข 6 ปลูกในพื้นที่ 8 ไร่ แต่เดิมมีการใช้พื้นที่แบบไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว มีการเผาตอซัง ดินจะแข็งและแน่นทึบมาก จึงต้องฟื้นดินให้ดีขึ้น โดยหว่านปอเทืองหลังนา โดยไม่มีการเผาฟาง และไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีในนาข้าว สำหรับผลผลิตจะได้ปริมาณใกล้เคียงกับใช้ปุ๋ยเคมี แต่ต้นทุนต่ำกว่า และดินยังดีขึ้นด้วย

รับรองพืชอินทรีย์

นอกจากนี้ ยังปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าว จากการหว่านข้าวมาใช้วิธีโยนข้าวแทน ซึ่งวิธีโยนข้าวสามารถควบคุมวัชพืช โดยเฉพาะข้าววัชพืชที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงได้ผลเป็นอย่างดี ได้ต้นข้าวที่แข็งแรง นอกจากนั้น ยังเป็นการช่วยลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ ได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 700 กิโลกรัม ต่อไร่

พร้อมทั้งใช้วิชาการในการปรับปรุงสภาพการผลิต ใช้วิธีการต่างๆ ที่ได้ฝึกอบรมเรียนรู้มา ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อฟาร์มมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงดิน น้ำ เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ มีการทดลองเปรียบเทียบและเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ในการทำการเกษตร แก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน และจัดการดินโดยการปลูกพืชหมุนเวียน โดยไม่เผาตอซังและไม่ใช้ปุ๋ยเคมี

ให้ความรู้กับเยาวชน

มีการจัดระบบนิเวศบริเวณแปลงปลูกผัก ที่ช่วยในการป้องกันศัตรูพืช เช่น ตะไคร้หอม กะเพรา แมงลัก เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชซึ่งได้ผลดี การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยขุดสระ จำนวน 3 บ่อ และขุดบ่อบาดาลพลังแสงอาทิตย์ ทำให้มีน้ำในการทำการเกษตรตลอดปี มีการใช้ระบบการจัดการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ มาใช้แทนการใช้สายยาง ทำให้สะดวกสบายและรวดเร็วขึ้น นำสิ่งที่ไตร่ตรองว่าดีแล้วหรือเห็นจากผลสำเร็จมาทดลองปรับใช้กับวิทยาการใหม่ๆ ตามวิชาการ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตเสมอ ภายในฟาร์มนั้นใช้แรงงานครอบครัว จึงเป็นผลดีที่สมาชิกในครอบครัวสามารถนำผลผลิตไปแปรรูป หรือสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อเพิ่มมูลค่าได้ตามต้องการ ทุกๆ สิ่งที่มีอยู่ภายในฟาร์มล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งสิ้น

ให้ความรู้เกษตรกรด้วยกัน

หลังจากใช้แล้ว สิ่งที่เหลือก็สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น

ต้นไม้ ทั้งไม้ผล ไม้พุ่ม เมื่อใบร่วงหล่นลงมา ก็สามารถกวาดเศษใบไม้ต่างๆ มาทำเป็นปุ๋ยได้

รำข้าว สามารถนำมาทำปุ๋ยหมัก เป็นอาหารปลา

แกลบ นำไปทำเป็นปุ๋ยในแปลงผัก ช่วยไม่ให้ดินแน่น ทำให้ดินโปร่ง อากาศถ่ายเทดี

ฟางข้าว ใช้ในการเพาะเห็ดฟางหรือใช้คลุมดิน เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดิน

มูลสัตว์ สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยในแปลงปลูก

น้ำ จากบ่อปลานำมารดในแปลงผัก

เศษผัก ก็สามารถนำกลับไปเป็นอาหารให้ปลาได้ นำไปทำน้ำหมักชีวภาพได้อีกด้วย

แหนงของไผ่หวาน ที่ปลูกไว้สามารถนำมาทำร้านถั่วฝักยาว

ต้นมันสำปะหลัง สามารถนำมาทำเป็นก้อนเชื้อเห็ดได้

มีการบันทึกผลติดตาม จดบันทึก ทำบัญชีต้นทุน เพื่อแสดงให้เห็น รายรับ-รายจ่าย ในแต่ละกิจกรรมภายในฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ สำหรับการจัดการผลผลิต การจำหน่าย การตลาด ส่งให้กับผู้มารับสินค้าที่ฟาร์ม หรือนัดส่งจุดรับสินค้า จำหน่ายให้กับผู้บริโภคตามออเดอร์ ตลาดนัดชุมชน ทางไลน์และเฟซบุ๊ก

อุปกรณ์จำเป็นในการผลิตก้อนเชื้อเห็ด

การเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดใช้สารป้องกันศัตรูพืช มีกิจกรรมดังนี้

  1. มีการปรับปรุงบำรุงดิน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด โดยไม่มีการเผาตอซัง
  2. มีการป้องกันกำจัดศัตรูพืช มีการใช้พันธุ์ต้านทาน ปลูกโหระพา กะเพรา ตะไคร้หอม รอบแปลงเพาะปลูก ป้องกันการรบกวนของแมลง สารชีวภาพ วิธีกล การใช้อุปกรณ์ล่อแมลง กระดาษกาว ไฟล่อแมลง เลือกวิธีการที่เหมาะสมในแต่ละสภาพ
  3. วางระบบท่อน้ำ เพื่อประหยัดน้ำ ใช้สปริงเกลอร์ที่เหมาะกับความต้องการน้ำของพืช
  4. ใช้แกลบมาทำปุ๋ย ช่วยให้ดินโปร่ง
  5. ผักที่เหลือจากการจำหน่าย เป็นเศษอาหารให้ปลากิน หรือนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก

คุณสุบิน จะใช้วิธีการต่างๆ ที่ได้ฝึกอบรมเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อฟาร์มมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงดิน น้ำ เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ มีการทดลองเปรียบเทียบและเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ในการทำการเกษตร ศึกษาเรื่องดิน เนื่องจากพื้นที่ที่ทำการเกษตรอยู่ทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องดินแข็ง ดินแน่นทึบ

เนื่องจากใช้พื้นที่ติดต่อกันโดยไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน ใช้ปุ๋ยเคมี และเผาฟาง รวมทั้งปัญหาจากโรค แมลงศัตรูพืช ฤดูกาล สภาพอากาศ จึงคิดฟื้นฟูดิน

โดยเริ่มจากงดเผาฟางและตอซัง ใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน และจัดการดินโดยการปลูกพืชหมุนเวียนคือ ปลูกปอเทืองหลังนา โดยไม่เผาตอซังและไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ลดการใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยน้ำหมักในการเพิ่มการเจริญเติบโตของพืชและการดูแลป้องกันกำจัดศัตรูพืช มีการจัดระบบนิเวศบริเวณแปลงปลูกผักที่ช่วยในการป้องกันศัตรูพืช เช่น ตะไคร้หอม กะเพรา แมงลัก เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชซึ่งก็ได้ผลดี

การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยขุดสระ จำนวน 3 บ่อ และขุดบ่อบาดาล มีการใช้ระบบการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์มาใช้แทนการใช้สายยาง

คุณสุบิน มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ เป็นสิ่งภูมิใจของตนเอง ได้แก่ การเพาะเห็ดหลายชนิด ใช้ในการบริโภคในครัวเรือน ส่วนที่เหลือจากการบริโภคก็นำมาจำหน่ายและแบ่งปันในชุมชน การเพาะเห็ดนั้นจะใช้ฟางข้าวและต้นมันสำปะหลังจากในแปลงที่ปลูกแบบอินทรีย์ในการทำก้อนเห็ด ทำให้มีต้นทุนต่ำ ไม่ต้องไปซื้อขี้เลื่อยราคาสูง ผลผลิตที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจ เห็ดที่เพาะในสวนจะเป็นเห็ดที่เลี้ยงเชื้อเห็ดเอง แยกเนื้อเยื่อจากดอกเห็ดเพื่อนำไปเพาะบนอาหารวุ้น และต่อเชื้อ ทำก้อนเห็ดเอง มีการเพาะเห็ดหลายชนิด เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดขอน  เห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดเผาะ

คุณวีรสุทธิ์ โฮสูงเนิน หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช กล่าวว่า จากการได้ออกติดตามงานในพื้นที่ โดยเฉพาะสวนของคุณสุบิน ยอดประทุม เป็นสวนเกษตรแบบผสมผสานระหว่างพืชและสัตว์ มีการจัดการเป็นสัดเป็นส่วนของกิจกรรมการผลิต ร่มเย็น ในสวนปลอดการใช้สารเคมี มีการใช้พืชสมุนไพรในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และมีการปลูกพืชแบบอินทรีย์

ทางจังหวัดหนองบัวลำภู ได้จัดอบรมพัฒนาเกษตรอินทรีย์ และสนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์ เมล็ดพันธุ์ผักบุ้ง เชื้อ BT ถาดเพาะกล้า และโรงเรือนพลาสติกกรองแสง จำนวน 1 โรงเรือน เพื่อส่งเสริมการผลิตแบบอินทรีย์ ให้เป็นต้นแบบเกษตรอินทรีย์ การปฏิบัติจริง ทำให้เป็นศูนย์ศึกษา ดูงาน ให้กับผู้ที่สนใจและเยาวชน เกิดการยอมรับทำตามเป็นแบบอย่างแก่สังคม ชุมชน พัฒนาอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังเป็นอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน, ปราชญ์ชาวบ้าน, Smart Farmer ต้นแบบ, กรรมการหมู่บ้าน, รองประธานกลุ่มแปลงใหญ่ไผ่, กรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชน, ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านต่างแคน,สมาชิกเกษตรอินทรีย์จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารถ่ายทอด ทั้งยังสามารถเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงาน โรงเรียน ให้คำแนะนำส่งเสริมองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่ผู้ศึกษาดูงานได้เป็นอย่างดี

หากเกษตรกรท่านใดสนใจ อยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือศึกษาดูงาน ติดต่อได้ตามที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้