การปรับปรุงพันธุ์มะม่วง

พันธุ์มะม่วงที่มีปลูกกันอยู่ในประเทศไทย เป็นผลมาจากการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มีการคัดเลือกพันธุ์กันมาหลายชั่วอายุคน จึงทำให้มีพันธุ์มะม่วงจำนวนมากในขณะนี้ พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้ามักเป็นพันธุ์ที่มีอยู่ที่เดิมและเหมาะสำหรับตลาดภายในประเทศมากกว่า ในสภาพการปัจจุบันการผลิตมะม่วงเพื่อส่งขายตลาดต่างประเทศมีการแข่งขันมาก จำเป็นต้องปรับปรุงพันธุ์หรือหาพันธุ์มะม่วงที่มีลักษณะเด่นเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ การปรับปรุงพันธุ์อาจทำได้โดยการผสมพันธุ์และการคัดเลือกพันธุ์ งานทางด้านนี้ในบ้านเรายังทำกันน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการปรับปรุงพันธุ์ไม้ผลเขตหนาวหรือเขตกึ่งร้อนในส่วนอื่นๆ ของโลก

การผสมพันธุ์มะม่วงเพื่อปรับปรุงพันธุ์นับว่าเป็นโอกาสและแนวทางที่สำคัญวิธีหนึ่ง และเป็นงานที่ท้าทาย วิธีการนี้ได้รับผลสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ ลักษณะต่างๆ ทั้งดีและเลวที่มีอยู่ในพันธุ์มะม่วงที่ปลูกเป็นการค้าและมะม่วงป่า มีอยู่อย่างไม่จำกัด พันธุ์มะม่วงจำนวนมากมายในโลกนี้เป็นผลมาจากการผสมข้ามตามธรรมชาติ ทำให้ได้พันธุ์ดีแบบโชคบังเอิญเป็นส่วนมาก แม้ว่าการผสมพันธุ์มะม่วงจะมีอุปสรรค์อยู่บ้าง เช่น การผสมไม่ติด การเกิดต้นกล้ามากกว่า 1 ต้น ต่อเมล็ด เป็นต้น แต่ถ้าหาวิธีการต่างๆ มาช่วย ก็อาจจะได้รับผลสำเร็จได้โดยไม่ยาก

ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมและทางสรีระหลายอย่างมีส่วนสัมพันธ์กับลักษณะที่ไม่ต้องการหลายลักษณะของพันธุ์มะม่วง เช่น การออกดอกติดผลไม่สม่ำเสมอ ฤดูกาลออกดอกติดผลที่สั้นหรือแคบ ความอ่อนแอต่อโรคและแมลง คุณภาพของผลในการรับประทานและการเก็บรักษาไม่ดี เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ อาจถูกควบคุมโดยยีนส์ (genes) ซึ่งเป็นลักษณะถ่ายทอดที่จะถูกนำไปจากพ่อแม่โดยโครโมโซมสู่ลูกหลาน การจะเอาชนะข้อบกพร่องเหล่านี้ การผสมพันธุ์นับว่ามีบทบาทสำคัญ

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์เพื่อใช้ในการผสมพันธุ์ที่มีความสำคัญมาก ก่อนอื่นเราต้องตั้งจุดประสงค์ในการปรับปรุงพันธุ์ไว้ก่อน เช่น ถ้าเป็นมะม่วงรับประทานสุก ควรมีรสชาติดี ทนทานต่อการขนส่ง มีสีสันสะดุดตา เป็นต้น จุดอ่อนอันหนึ่งในการผสมพันธุ์มะม่วงคือ เราไม่ทราบส่วนประกอบทางกรรมพันธุ์ของพันธุ์ต่างๆ ที่ใช้ผสม จึงไม่มีพื้นฐานทางกรรมพันธุ์ที่นักผสมพันธุ์จะคาดการเกี่ยวกับความแน่นอนของผลลัพธ์ในการผสมข้ามระหว่างพ่อแม่ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี การผสมพันธุ์มะม่วงไม่จำเป็นต้องใช้พ่อแม่ที่เป็นพันธุ์แท้ ทั้งนี้เพราะเราสามารถขยายพันธุ์มะม่วงด้วยวิธีติดตา ต่อกิ่ง หรือทาบกิ่ง เมื่อเราได้ลักษณะ

ที่ต้องการแล้ว ลักษณะเด่นในลูกผสมที่เราตั้งความหวังเอาไว้นั้น ปกติจะหวังได้ยากมาก และถ้าสำเร็จตามวัตถุประสงค์เพียงลักษณะเดียว ก็ถือว่ามากพอแล้ว แต่ถ้าได้มากกว่านั้นก็ถือว่าโชคดีมาก

ในการคัดเลือกพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์มะม่วง ลักษณะและคุณภาพของผลเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำเข้าพิจารณาผลมะม่วงที่มีลักษณะดี ควรมีลักษณะดังนี้คือ : รสชาติน่ารับประทาน กลิ่นดี เนื้อผลแน่น สีเนื้อเข้มสดใส ไม่มีเสี้ยน เมล็ดเล็ก ไม่มีเนื้อผลสุกรอบๆ เมล็ด มีขนาดพอดี ผิวผลมีสีเข้มสดใส ทนทานต่อโรคแมลง ผิวทนต่อการขีดข่วนบอบช้ำ คุณภาพในการเก็บรักษาและการขนส่งดี สำหรับลักษณะของต้นที่ต้องการนั้น ได้แก่ : ทรงพุ่มเตี้ย ตกผลเร็ว แข็งแรง ติดผลดก ทนทานต่อโรคและศัตรูอื่นๆ สามารถปรับตัวเข้ากับดินและฟ้าอากาศ ออกดอกติดผลสม่ำเสมอ ผสมตัวเองติดผลดก เป็นต้น

วิธีการที่ใช้ในการผสมพันธุ์มะม่วง

ในการปรับปรุงพันธุ์มะม่วงด้วยวิธีผสมพันธุ์อาจทำด้วยการผสมพันธุ์ และผสมตัวเองภายในพันธุ์เดียวกัน พาหะในการผสมอาจเป็นคนหรืออาศัยแมลง งานผสมพันธุ์มะม่วงจะดำเนินไปด้วยดีถ้าเราทราบพื้นฐานทางชีววิทยาของดอกมะม่วงพันธุ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้สภาพแวดล้อมของท้องถิ่นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้สภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ วิธีการผสมพันธุ์ในมะม่วงเริ่มครั้งแรกในประเทศอินเดีย ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1911 และดำเนินการปรับปรุงพันธุ์มะม่วงด้วยวิธีผสมข้ามพันธุ์ก็ยังไม่มีอะไรก้าวหน้า

จนกระทั่งในที่สุดได้พัฒนาเทคนิคการผสมเกสรข้ามพันธุ์ขึ้นใหม่โดยการปลิดเอาดอกตูมออก เหลือไว้เฉพาะดอกที่ต้องการผสมเกสรเพียงช่อดอกละไม่เกิน 10-20 ดอก ซึ่งเทคนิคนี้ช่วยให้การผสมเกสรข้ามพันธุ์ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น และลดความยุ่งยากได้เป็นอย่างมาก อีกเทคนิคหนึ่งคือ การผสมเกสรข้ามพันธุ์ระหว่างต้นแม่พันธุ์ที่ผสมตัวเองไม่ติดกับต้นพ่อพันธุ์ที่ต้องการ โดยการต่อกิ่งเข้าไว้ในต้นเดียวกัน และสร้างกรงหรือมุ้งครอบแล้วปล่อยแมลงวันบ้านเข้าไปช่วยผสมพันธุ์

1.การผสมข้ามพันธุ์

นำต้นแม่พันธุ์มะม่วงพันธุ์ต่างๆ ซึ่งปลูกในกระถาง จำนวน 51 ต้น ไปรวมกับต้นพ่อพันธุ์หนังกลางวัน จำนวน 6 ต้น ภายในมุ้งผ้า เก็บดอกตัวผู้และส่วนเกสรตัวผู้ในดอกสมบูรณ์เพศออก แล้วปล่อยแมลงวันบ้านเข้าไว้ในมุ้ง โดยให้กากน้ำตาลเป็นอาหาร แมลงวันจะบินไปเกาะที่ดอกของต้นพ่อพันธุ์แล้วนำเอาละอองเกสรมาผสมกับดอกสมบูรณ์เพศที่เตรียมไว้ เมื่อผสมเกสรข้ามพันธุ์เรียบร้อยแล้ว เข้าแบ่งสิ่งทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งปลิดเอาดอกที่ไม่ได้ผสมเกสรออกทั้งหมด และอีกกลุ่มหนึ่งคงช่อดอกที่ไม่ได้ผสมเกสรเหลืออยู่ไว้บนต้น พบว่า การปลิดช่อดอกออกได้ผลที่ผสมติดในมะม่วงพันธุ์หนังกลางวัน และ ทองคำ 67.21 และ 18.83% ตามลำดับ ส่วนการไม่ปลิดช่อดอก ได้ผลที่ผสมติดในมะม่วงดังกล่าว 38.94 และ 2.0% ตามลำดับ

2.การผสมตัวเอง

วิธีการผสมตัวเองทำได้โดยเก็บดอกตูมออก คงเหลือไว้เฉพาะดอกตัวผู้และดอกกะเทยที่พร้อมจะผสมแล้วปล่อยแมลงวันบ้าน จำนวน 3-5 ตัว เข้าไปในถุงผ้ามุ้ง ซึ่งคลุมแต่ละช่อดอก จำนวน 20 ช่อ ต่อต้น พบว่าการผสมเกสรด้วยคนทั้งผสมข้ามและผสมตัวเองได้ผลที่ผสมติด 20.34 และ 9.30% ตามลำดับ ส่วนการผสมเกสรด้วยแมลง ทั้งผสมข้ามและผสมตัวเอง ได้ผลที่ผสมติด 32.65 และ 42.10% ตามลำดับ

เป็นที่น่ายินดีที่โครงการนี้สามารถผลิตมะม่วงลูกผสมออกมาได้ 3 พันธุ์ คือ ประเภทรับประทานผลสุก ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างแม่พันธุ์หนังกลางวัน กับพ่อพันธุ์เออร์วิน มีลักษณะเด่นเหนือพ่อแม่ ได้แก่ ผิวผลสวยงามมาก บนไหล่ผลมีสีส้มอมแดง และปลายผลเป็นสีเหลืองอมส้ม รสชาติอร่อยมาก เปอร์เซ็นต์น้ำตาลสูง ไม่มีกลิ่นขี้ไต้ เส้นใยมีเพียงเล็กน้อย เมล็ดบาง มีเนื้อค่อนข้างมาก เปลือกค่อนข้างหนาช่วยยืดอายุการเก็บรักษาและการขนส่ง มีขนาดผล 4-5 ผล ต่อกิโลกรัม ให้ชื่อลูกผสมนี้ว่า พันธุ์ออนซอน เพื่อบ่งบอกถึงความสวยงามและถิ่นกำเนิดในภาคอีสาน

สำหรับประเภทอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างแม่พันธุ์แก้วเขียวกับพ่อพันธุ์สามปี มีลักษณะเด่นเหนือพ่อแม่ ได้แก่ เนื้อผลแน่น กลิ่นหอม เปลือกหนา ช่วยการเก็บรักษาและการขนส่ง รสชาติอร่อย เปอร์เซ็นต์น้ำตาลค่อนข้างสูง เนื้อค่อนข้างมาก เมล็ดค่อนข้างบาง ขนาดผล 4-5 ผล ต่อกิโลกรัม เหมาะที่จะใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และให้ชื่อว่าพันธุ์มรกต เพื่อบ่งบอกถึงลักษณะผิวของผล ส่วนประเภทต้นตอนั้นเป็นลูกผสมระหว่างมะม่วงพันธุ์เตี้ย 2 พันธุ์ คือแม่พันธุ์มันค่อมกับพ่อพันธุ์จูลี่ มีลักษณะเด่นเหนือพ่อแม่ ได้แก่ ทรงพุ่มขนาดเล็ก ต้นเตี้ย เหมาะสำหรับใช้เป็นต้นตอในการปลูกมะม่วงระบบปลูกชิด ให้ชื่อพันธุ์นี้ว่า พันธุ์พญาก้อม เพื่อบ่งบอกลักษณะทรงพุ่มที่มีขนาดเล็กและถิ่นกำเนิดทางภาคอีสาน