ม.เกษตร พัฒนานวัตกรรมใหม่ ปรับสูตรน้ำยางข้น เพิ่มมูลค่าน้ำยางพารา

แม้จะมีคำตอบจากภาครัฐ ในเรื่องของราคายางที่ผันผวนขึ้นลง และดูเหมือนขาลงจะยาวนานกว่าก็ตาม แต่ข้อข้องใจต่อราคาน้ำยางก็ไม่เคยกระจ่างในใจเกษตรกรแม้แต่คราเดียว

ทางออกของมุมนักวิชาการที่ทำงานอยู่กับตัวหนังสือ ฐานข้อมูล พอจะเป็นทางออกหนึ่งที่ชี้ทางสว่างให้กับเกษตรกรได้ โดยเฉพาะคำแนะนำในการแปรรูปน้ำยางจำหน่าย เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้มากขึ้น

ดร. วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์

ดร. วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ นักวิจัยจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวัสดุยางและพอลิเมอร์เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งผ่านประสบการณ์การทำงานในวงการผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราในระดับโลกมาก่อนหน้านี้ และนำความรู้ที่เป็นประสบการณ์มาสานต่องานวิจัย สร้างนวัตกรรมใหม่ให้มีศักยภาพตรงกับความต้องการของผู้ใช้ โดยปัจจุบัน มีผลงานวิจัยเรื่อง “กาวน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำยางธรรมชาติ, ฟินอลิก เรซิน และ กัมโรซินและกรรมวิธีการผลิต” ซึ่งได้รับอนุสิทธิบัตร เมื่อปี 2557 แล้ว

ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นผลิตภัณฑ์กาวน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำยางพาราจากธรรมชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติการติดที่ดี มีความเหนียว มีคุณภาพคงที่ ไม่มีตัวทำลายอินทรีย์ สามารถใช้ติดระหว่างผ้ากับผ้า ผ้ากับยาง และ ระหว่างวัสดุประเภทอื่นๆ ได้ดี เช่น กระเป๋า พื้นรองเท้าผ้าใบ

การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน

ดร. จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ผลงานวิจัยของ ดร. วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ เป็นผลงานที่นำน้ำยางธรรมชาติผสมกับสารยึดติดในกลุ่มฟีนอลิกเรซินและกัมโรซิน ร่วมกับการใช้สารช่วยการยึดติด เพื่อให้กลุ่มสารอินทรีย์กับตัวทำละลายที่เป็นน้ำเข้ากันได้ดี ด้วยการปรับสูตรน้ำยางข้น เพื่อให้ทาบนวัสดุทำให้แข็งตัวได้ และมีการเติมสารหน่วงไฟในกาวน้ำยาง ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กาวประเภทนี้ สามารถเกิดไฟลามที่ช้า เพื่อประยุกต์ใช้ในการติดวัสดุให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างสามมิติ และวัสดุที่ได้มีความแข็งแรง มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับกาวสังเคราะห์ได้ นับว่าเป็นการสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางมากขึ้น รวมทั้งเกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราของไทย

ในการทำวิจัย ได้ดำเนินการคัดเรซิน 2 ชนิด คือ ฟีนอลิก เรซิน และ กัมโรซิน ซึ่งสามารถช่วยปรับปรุงคุณสมบัติในกระบวนการผลิตให้ยางคอมพาวด์ไหลง่าย และทำให้สารตัวเติมผสมเข้ากับยางได้ดีขึ้น ผสมร่วมกับตัวทำละลายที่เป็นน้ำ ไม่ใช้ตัวทำลายอินทรีย์ที่มีพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

ผลงานวิจัย

การวิจัย ได้นำเรซิน 2 ชนิด มาผสมกับน้ำยางธรรมชาติ สามารถเพิ่มคุณสมบัติการติดของกาวในตัวละลายที่เป็นน้ำ โดยได้ทำการทดสอบ พบว่า มีคุณสมบัติการติดมากกว่ากาวน้ำที่มีเรซินชนิดเดียวในความเข้มข้นของเรซินเท่ากัน ทั้งนี้ ได้มีการทดสอบปริมาณของแข็ง (total solid content) ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ค่าความหนืด และประสิทธิภาพของแรงดึงเฉลี่ยจาก peel test 180 ระหว่างผ้ากับผ้าแล้ว ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับส่วนผสมกาวน้ำยางพาราที่เหมาะสม ให้สามารถมีความคงที่ ลดปัจจัยผลกระทบจากคุณภาพน้ำยาง โดยเพิ่มคุณสมบัติการติด เพื่อเพิ่มความเหนียวและความสามารถในการติดแน่น

จุดเด่นของผลงานวิจัย คือ การใช้น้ำยางพาราของประเทศไทยมาใช้ในการผลิตกาว โดยไม่ต้องนำเข้าพอลิเมอร์สังเคราะห์จากต่างประเทศ และไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นพิษสูง เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ ที่มีกลิ่นเหม็นรบกวน และมีอันตรายต่อสุขภาพ การใช้น้ำยางพาราในการผลิตกาว จะช่วยลดต้นทุนการผลิต เหนียวติดแน่น ไม่ติดไฟ และสามารถเชื่อมวัสดุที่มีรูพรุนเข้าด้วยกัน ทนต่อการบ่มเร่งได้ดี และเป็นการเพิ่มมูลค่าของน้ำยางพาราและเหมาะสำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เพื่อส่งขายทั้งในและต่างประเทศ

ได้รับการจดอนุสิทธิบัตร

ทั้งนี้ ผลงานวิจัยชิ้นดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำบันทึกข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัย “กาวน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำยางธรรมชาติ, ฟีนอลิก เรซิน และกัมโรซินและกรรมวิธีการผลิต” เลขที่อนุสิทธิบัตร 10454 และลงนามต่อยอดและพัฒนาผลงานวิจัยดังกล่าวให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ เรื่อง “การวิจัยกาวน้ำยางแข็งตัวและไฟลามช้า สำหรับแผ่นบอร์ดจากเศษผ้า” กับบริษัท สามพิม จำกัด และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับ บริษัท สามพิม จำกัด ลงนามในสัญญารับทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรม