แม็คโคร เปิดทางลัดสนับสนุนเอสเอ็มอี – เกษตรกรรายย่อย จัดงานจับคู่ธุรกิจ 4 ภาคทั่วไทย ตั้งเป้าดันสินค้าท้องถิ่น เพิ่มโอกาสเข้าถึงตลาดอย่างเท่าเทียม เน้นเติบโตไปด้วยกัน

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จัดงานจับคู่ธุรกิจ “แม็คโคร สนับสนุน SMEs และเกษตรกรไทย ก้าวไปด้วยกัน” เปิดเส้นทางลัดเชื่อมเอสเอ็มอี-เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงตลาดอย่างเท่าเทียม ตั้งเป้าจัด 4 ภูมิภาคทั่วไทย คิ๊กออฟภาคใต้เป็นแห่งแรก ผลักดันสินค้าท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรสู่ธุรกิจเกษตรยั่งยืน ตอกย้ำนโยบายแม็คโคร คู่คิดธุรกิจรายย่อย

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย 32 ปี แม็คโครมีเจตนารมณ์ในการพัฒนาธุรกิจไปพร้อมกับการเติบโตของกลุ่มเอสเอ็มอี และเกษตรกรรายย่อย ที่เป็นฐานกำลังสำคัญของเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศ ล่าสุดได้จัดงานจับคู่ธุรกิจ ‘แม็คโคร สนับสนุน SMEs และเกษตรกรไทย ก้าวไปด้วยกัน’ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เกษตรกร เข้าถึงช่องทางการจำหน่ายที่มั่นคงในทุกสาขาของแม็คโคร ซึ่งงานนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้ง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สภาหอการค้าไทย ที่ประสานพลังร่วมกันสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น

“แม็คโครให้ความสำคัญกับการส่งเสริม พัฒนาศักยภาพของเอสเอ็มอี เกษตรกร เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายที่มั่นคง โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต และพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ มีโอกาสเติบโตไปพร้อมกันกับธุรกิจของแม็คโครที่มี 137 สาขาทั่วประเทศ และยังมีความเป็นไปได้ในการส่งสินค้าไปขายในสาขาของแม็คโครที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศด้วย”

สำหรับงาน “แม็คโคร สนับสนุน SMEs และเกษตรกรไทย ก้าวไปด้วยกัน” มีกำหนดการจัดงานตลอดทั้งปี 2564 ใน 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคใต้  ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ที่จะเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอี เกษตรกรรายย่อย ลงทะเบียนเข้าร่วมจับคู่ธุรกิจ รับคำปรึกษาโดยฝ่ายจัดซื้อผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งมีการสัมมนา “ปั้นธุรกิจอย่างไรให้รุ่ง และเติบโตไปกับแม็คโคร” ให้แก่ผู้ร่วมงานด้วย

ทั้งนี้ ได้เริ่มจัดงานเป็นครั้งแรกที่ภาคใต้ ในวันพุธที่ 7 เมษายน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้รับความสนใจจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ตอบรับเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก