ไทยผลักดัน “ศาสตร์พระราชา” สู่ที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่การพัฒนาโลกยั่งยืน

ปัจจุบันประชากรโลกกว่า 820 ล้านคนกำลังเผชิญหน้ากับความอดอยาก โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ “การขจัดความหิวโหย” (zero hunger) เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) เพื่อให้ประชากรโลกสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการได้ตลอดทั้งปี เพื่อขจัดความหิวโหยและอดอยากให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งการสร้าง “ความมั่นคงทางอาหาร” และการส่งเสริม “การเกษตรอย่างยั่งยืน” นับเป็นรากฐานสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อให้โลกก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จึงได้จัดการเสวนาในหัวข้อ “ความมั่นคงทางอาหารในวิกฤตของโลก (จาก Local สู่ Global)” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน รวมถึงตัวแทนเกษตรกรจากเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนและเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนชาวไทยในอนาคต โดยเป็นการเสวนาในรูปแบบออนไลน์และเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ (Facebook Live) ของเพจมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ (https://www.facebook.com/agrinature.or.th/) ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน “มหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่ 14” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ และพนักงานร่วมทำกิจกรรมเอามื้อสามัคคี

การเสวนาครั้งนี้ อาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลกและที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารในหลายพื้นที่ แต่เกษตรกรที่ทำเกษตรอย่างยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา สามารถรับมือกับวิกฤตที่เข้ามาได้อย่างมั่นคง มีผลผลิตเพียงพอบริโภคในครัวเรือนและแบ่งปันให้คนอื่น ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้มีผู้ที่ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จหันมาลงมือทำการเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพราะตระหนักว่าแนวทางนี้เป็นทางรอดจากทุกวิกฤตได้อย่างแท้จริง

“คำว่า ‘เล็กเปลี่ยนโลก’ ในที่นี้หมายถึง เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีขนาดเล็ก แต่กลับสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้เกิดขึ้นบนโลก การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนที่ทำให้ทุกคนตระหนักว่าความมั่นคงทางอาหารเป็นหัวใจสำคัญของการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับวิกฤตในรูปแบบใดก็ตาม เกษตรกรชาวไทยที่เจริญรอยตามศาสตร์พระราชาและนำแนวทาง ‘โคก หนอง นา โมเดล’ ไปใช้ในพื้นที่ทำเกษตรของตนเองต่างมีอาหารเพียงพอต่อความต้องการของครอบครัว ทั้งยังสามารถแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย นอกจากนั้น เรายังได้เห็นถึงความสามัคคีและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อฟันฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ ทั้งยังได้เห็นว่ามีคนหันมาลงมือปฏิบัติตามแนวทางศาสตร์พระราชากันมากขึ้นเพราะได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จและเข้าใจแล้วว่าการปฏิบัติตามแนวทางนี้คือ ‘ทางรอด’ อย่างแท้จริง”

ผลผลิตจากการทำโคก หนอง นา

“อย่างไรก็ตาม การสานต่อศาสตร์พระราชา รวมถึงการสร้างพื้นที่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จนั้นยังเป็นภารกิจที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อเรามีตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรที่สามารถพึ่งพาตนเอง โดยเฉพาะในยุคการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากขึ้นเท่าใด จะยิ่งมีเกษตรกรหันมาให้ความสนใจและร่วมตามรอยศาสตร์พระราชามากขึ้นไปด้วย ซึ่งส่งผลให้แนวคิดนี้ได้รับการเผยแพร่และส่งต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทย เกิดเป็นความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนพร้อมรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมั่นคง”

นอกจากการร่วมด้วยช่วยกันภายในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ที่ทำให้ โคก หนอง นา โมเดล สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารและแนวทางดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเองได้สำเร็จในหลายพื้นที่แล้ว การสนับสนุนจากภาคเอกชนก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญเช่นกัน

พนักงานร่วมทำกิจกรรมเอามื้อสามัคคี

โดย นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เชฟรอนได้ร่วมมือกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และหน่วยงานหลายๆ ภาคส่วน ดำเนิน โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน (ตามรอยพ่อฯ) อย่างต่อเนื่องจนถึงปีนี้นับเป็นปีที่ 9 เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการทำเกษตรกรรมและการดำเนินชีวิตตามศาสตร์พระราชา เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งเชฟรอนไม่เพียงส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณ แต่ยังเข้ามาเรียนรู้และลงมือปฏิบัติ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีพนักงานของเชฟรอนและครอบครัวกว่า 2,500 คน รวมทั้งตัวผมเองได้เข้าร่วมเรียนรู้และลงมือปฏิบัติร่วมกับเกษตรกรและผู้สนใจกว่า 20,000 คน ในกิจกรรมของโครงการตามรอยพ่อฯ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้เข้าใจว่าการทำโคก หนอง นา นั้นช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ทำให้หลายครอบครัวรอดพ้นได้ในทุกวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือแม้แต่โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบวงกว้างไปทั่วโลกก็ตาม”

ลงมือทำ

“การปฏิบัติตามแนวทางโคก หนอง นา ยังถือเป็นการคืนชีวิตให้แผ่นดินอย่างแท้จริง ด้วยการทำเกษตรแบบผสมผสานและไม่ใช้สารเคมี จึงช่วยฟื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ นอกจากนั้น การดำเนินกิจกรรมของโครงการตามรอยพ่อฯ ที่ใช้ “การเอามื้อสามัคคี” หรือการลงแขกตามประเพณีดั้งเดิมของเกษตรกรไทย เพื่อประสานความร่วมมือของเกษตรกรและผู้สนใจในศาสตร์พระราชาจากทั่วประเทศเข้าด้วยกันได้มีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งเพื่อส่งต่อและแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนแรงบันดาลใจในศาสตร์พระราชาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่รู้จบ”

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ส่งผลให้ประชากรโลกต้องเผชิญกับวิกฤตความอดอยากอย่างรุนแรงกว่าในอดีตที่ผ่านมา องค์กรสหประชาชาติจึงเตรียมที่จะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ “UN Food Systems Summit” โดยจะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรในเดือนกรกฎาคม 2564 และระดับประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ในเดือนกันยายน 2564 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

อาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร

นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูตฝ่ายเกษตรและผู้แทนถาวรไทย องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวว่า “ประชากรหลายล้านคนทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนอาหารมาเป็นเวลาหลายปี แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีผู้ประสบภัยที่ 690 ล้านคน ในปัจจุบันตัวเลขได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 820 ล้านคน รวมถึงราคาอาหารโลกก็มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 8 เดือนติดต่อกัน จึงเป็นเหตุผลให้ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน จึงเป็นที่มาของการจัดการประชุม UN Food Systems Summit เพื่อผลักดันให้ทุกประเทศมีความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้นำเอาภูมิปัญญาด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหารไปเผยแพร่สู่ระดับสากล”

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ

“จากการที่ผมได้เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า แม้ในอดีตเราอาจเคยลองผิดลองถูกในการทำเกษตรกรรมหรือการผลิตอาหาร เคยมีระบบการผลิตอาหารที่ขาดความหลากหลายและส่งผลต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน แต่ในวันนี้ ประเทศไทยได้แรงสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงเหล่าเกษตรกร ในการสร้างสมดุลให้กับการผลิตอาหารรูปแบบใหม่ ซึ่งนำมาสู่ความมั่นคงทางอาหารที่ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในทุกสถานการณ์ ดังนั้น การประชุมสุดยอดผู้นำ “UN Food Systems Summit” จึงถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้ถ่ายทอดภูมิปัญญานี้สู่ระดับนานาชาติ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความอดอยากที่สร้างความลำบากในการดำเนินชีวิตของประชากรโลกมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา”