เกษตรกรลพบุรี เพาะพันธุ์ปลากัดสร้างรายได้ หมั่นพัฒนาสายพันธุ์ ช่วยให้ขายได้ราคางาม

ปลากัด เป็นปลาสวยงามที่นับว่าสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยได้อย่างดี จะเห็นได้จากสื่อโซเชียลต่างๆ ที่ปลาชนิดนี้มีการพัฒนาสายพันธุ์อยู่เสมอ จึงทำให้ปลากัดเป็นปลาที่มีสีสันสวยงามและสีสดสวย โดยการตลาดสามารถจำหน่ายได้เป็นหลายช่องทาง ทั้งตลาดในประเทศที่สร้างเป็นปลาที่มีราคาหลักสิบให้กับเด็กๆ ที่สนใจ รวมไปถึงราคาหลักร้อยและหลักพันบาทสำหรับผู้ที่มีความชำนาญต้องการนำไปพัฒนาสายพันธุ์ต่อไป

คุณวิศิษฎ์ นิ่มดิษฐ์

 

คุณวิศิษฎ์ นิ่มดิษฐ์ เกษตรกรตำบลงิ้วราย อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ได้เห็นถึงความพิเศษของปลากัดว่าน่าจะสร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี จึงได้นำปลากัดมาผสมพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดลูกพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีสีสันสวยงาม โดยสร้างตลาดที่หลากหลาย ทั้งเป็นตลาดที่ส่งจำหน่ายยังตลาดนัดจตุจักร และมีลูกค้าเข้ามารับซื้อถึงหน้าฟาร์มเพื่อไปจำหน่ายต่อ

คุณวิศิษฎ์ เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะเริ่มมาเพาะพันธุ์ปลากัดเหมือนเช่นทุกวันนี้ สมัยก่อนได้เพาะพันธุ์และเลี้ยงปลาเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ก่อน อย่างเช่น ปลาดุก ต่อมาประมาณ ปี 2559 ตลาดปลากัดเริ่มสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง จึงได้เปลี่ยนมาเพาะพันธุ์ปลากัดจำหน่าย โดยเน้นให้การเพาะพันธุ์มีความหลากหลายของสีสันมากขึ้น ส่งผลให้ปลากัดที่ฟาร์มของเขาเป็นที่ต้องการของตลาดมาจนถึงปัจจุบัน

“ตอนนี้เรียกว่าปลากัดที่ผมผลิตมีไม่พอจำหน่าย ค่อนข้างที่จะขายดีมาก เพราะลูกค้าสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง สาเหตุที่ผมมองว่าปลากัดสามารถสร้างเป็นอาชีพได้ดีนั้น เพราะว่าตั้งแต่ทำมาก็มีแต่คนสั่งซื้อไม่หยุดเลย และที่สำคัญปลากัดค่อนข้างที่จะใช้เวลาการผลิตไม่นาน ยิ่งเพาะพันธุ์ลูกออกมาแต่ละครั้งจะมีตัวสวยๆ ที่โดดเด่นออกมาให้เราสามารถทำราคาได้ ถือว่ายิ่งเรามีการพัฒนาอยู่เสมอ ปลาก็จะมีสีใหม่ๆ ลูกค้าก็ค่อนข้างชอบและซื้ออยู่ประจำ” คุณวิศิษฎ์ เล่าถึงที่มาของการเลี้ยงปลากัดเป็นอาชีพสร้างรายได้

หลักการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลากัดมาผสมพันธุ์ให้เกิดลูกปลาสายพันธุ์ใหม่ๆ นั้น คุณวิศิษฎ์ บอกว่า จะเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุ 5-6 เดือนขึ้นไป และเป็นสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการมาจับคู่ผสมกัน  โดยในช่วงแรกจะนำขวดโหลของพ่อพันธุ์มาวางเทียบกับขวดโหลของแม่พันธุ์ เพื่อให้ปลามีความคุ้นชินกัน จากนั้นนำพ่อแม่พันธุ์ปล่อยลงในบ่อที่เตรียมไว้สำหรับการวางไข่ ทิ้งไว้ 2-3 วัน ปลากัดตัวเมียจะวางไข่แล้วจึงย้ายปลาตัวเมียออกจากบ่อเพาะ เพื่อให้ตัวผู้เลี้ยงไข่เองตามลำพังจนกระทั่งไข่ฟัก

เมื่อปลากัดตัวผู้เลี้ยงอยู่กับไข่จนครบ 1 สัปดาห์ ลูกปลากัดจะเริ่มฟักออกมาเป็นตัวให้เห็น จึงย้ายลูกปลากัดทั้งหมด จากหลายๆ คอก มาเลี้ยงรวมกันในโอ่งน้ำอีกครั้ง เพื่อเป็นการอนุบาลลูกปลาให้โตมีความสมบูรณ์ โดยอาหารในช่วงอนุบาลจะเลี้ยงด้วยลูกไรแดงที่หาได้จากธรรมชาติ และเพาะขึ้นเองมาให้ลูกปลากัดกิน วันละ 2 มื้อ ส่วนปลากัดที่มีขนาดใหญ่อย่างเป็นขนาดพ่อแม่พันธุ์ก็จะให้กินลูกไรแดงด้วยเช่นกัน

เตรียมส่งลูกค้า

“พอลูกปลากัดได้อายุประมาณ 2 เดือน เราก็จะเริ่มดูความพร้อม พอเห็นโตเต็มตัวและหางที่สมบูรณ์ สีสันปลาก็จะเริ่มชัดเจนมากขึ้น เราก็จะนำปลาที่อนุบาลขึ้นมาใส่ลงในโหลเลี้ยงแยก หรือใช้ขวดพลาสติกลิตรครึ่งก็ได้ ช่วยลดต้นทุนการผลิต จากนั้นก็ดูแลถ่ายน้ำอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เลี้ยงไปประมาณอีก 1 เดือน ก็จะนำมาคัดความสวยอีกครั้งหนึ่ง แล้วนำไปเลี้ยงในบ่อขนาด 6 ลิตรอีกครั้ง พอสวยได้ที่ก็ขายได้ทันที” คุณวิศิษฎ์ บอก

ร้านที่ขายตลาดนัดจตุจักร

สำหรับการทำตลาดเพื่อจำหน่ายปลากัดนั้น คุณวิศิษฎ์ เล่าว่า ปลากัดที่จำหน่ายจะต้องมีอายุ 4 เดือนขึ้นไป โดยปลากัดทุกตัวเป็นปลาที่คัดเองกับมือ ทั้งในเรื่องของความสวยและความสมบูรณ์ของตัว มีทั้งทำตลาดออนไลน์และส่งจำหน่ายให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดนัดจตุจักรในกรุงเทพมหานคร และมีตลาดเป็นชาวต่างชาติที่ติดต่อเข้ามาในเพจเฟซบุ๊กที่อยู่เป็นประจำ

การแยกปลาที่คัดแล้วเลี้ยงแยกโหล

โดยราคาปลากัดที่จำหน่ายราคาเริ่มต้นอยู่ที่ตัวละ 35 บาท และแพงที่สุดอยู่ที่ราคาตัวละ 2,000 บาทขึ้นไป ซึ่งราคาที่แตกต่างกันนั้นเกิดจากการที่ปลากัดยังมีสีสันที่หายาก และไม่ซ้ำแบบทั่วไปเหมือนในท้องตลาดที่จำหน่ายกัน

การเลี้ยงรวม ก่อนคัดความสวย

“การเลี้ยงปลากัดให้ได้คุณภาพอยู่เสมอ และติดตลาดเราต้องเลี้ยงให้ปลามีลูกพันธุ์ใหม่ๆ เสมอ เพราะฉะนั้นการผสมพันธุ์อยู่เรื่อยๆ จากพ่อแม่หลายๆ สีสันมาจับคู่กัน ก็จะยิ่งทำให้ปลากัดของเรามีความแปลกใหม่ ทำให้ลูกปลากัดเรามีลูกเล่นใหม่ๆ เพราะปลาที่ได้ต้องไม่ซ้ำใคร เราก็จะได้ราคาที่ดีตามไปด้วย ซึ่งใครที่จะเลี้ยงปลากัด ถ้าอยากประสบผลสำเร็จ อยากบอกว่าให้มีเรื่องใจรักเป็นหลัก พร้อมกับเพาะพันธุ์ไรแดงเองให้ได้ ก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างดี เลี้ยงปลากัดสร้างรายได้อย่างแน่นอน” คุณวิศิษฎ์ บอก

หากท่านใดสนใจในเรื่องของการเลี้ยงปลากัด หรือต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องของการเลี้ยง สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวิศิษฎ์ นิ่มดิษฐ์ หมายเลขโทรศัพท์ (089) 172-1195