เผยแพร่ |
---|
ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้จะถึง ประชาชนส่วนใหญ่ต่างใช้โอกาสนี้กลับบ้านพบปะญาติพี่น้อง และมักซื้อหาเนื้อสัตว์มาบริโภคในช่วงเทศกาล และมีผู้บริโภคบางส่วนที่มีรสนิยมการรับประทานเนื้อสัตว์ดิบหรือสุกๆ ดิบๆ อาทิ ลาบ ก้อย ส้า ซอยจุ๊ รวมถึงการปิ้งย่างแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ จึงมีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส เกิดจากมีเชื้อแบคทีเรีย Streptococus suis ปนเปื้อนอยู่กับเนื้อสัตว์ ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบและเป็นสาเหตุให้เกิดประสาทหูดับเฉียบพลันได้ การติดเชื้อในกระแสเลือด การสูญเสียการได้ยิน จนอาจทำให้หูหนวกถาวร หรือในกรณีร้ายแรงที่สุดอาจเสียชีวิตได้
“ขอเตือนประชาชนให้เลิกหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์หมูที่ไม่ได้ปรุงสุก เพื่อหลีกเลี่ยงโรคไข้หูดับ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ แนะวิธีป้องกันง่ายๆ โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกเท่านั้น และต้องไม่ใช้เขียงหั่นของดิบและของสุกร่วมกัน ไม่สัมผัสเนื้อสัตว์และเลือดดิบด้วยมือเปล่า ควรสวมถุงมือทุกครั้งเมื่อปรุงอาหาร และยังเป็นการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่เคร่งครัดเพื่อสุขอนามัยที่ดี หลีกเลี่ยงการรับประทานหมูที่มาจากโรงฆ่าไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่มีแหล่งที่มา ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน ในสถานที่จำหน่ายที่กรมปศุสัตว์รับรอง โดยสังเกตเครื่องหมาย ปศุสัตว์ OK ที่ปัจจุบันกระจายอยู่ทั่วประเทศ มากกว่า 7,000 จุด ทำให้มั่นใจได้ในกระบวนการผลิตจนถึงการจัดจำหน่ายที่ได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่” น.สพ.สุเจตน์ กล่าว
สำหรับการติดต่อของไข้หูดับเกิดได้ 2 ทาง คือ จากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ และจากการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค ผ่านทางบาดแผลเปิดตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตาที่มีเชื้ออยู่ สังเกตผู้ป่วยที่รับเชื้อจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการกินเนื้อดิบและการสัมผัสเนื้อสัตว์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยได้เร็วขึ้น จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้
ส่วนวิธีการป้องกันโรคไข้หูดับที่สำคัญคือ การบริโภคอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ผ่านความร้อนอย่างน้อย 10 นาที เน้นทำสดใหม่ และต้องไม่ซื้อเนื้อหมูสีคล้ำที่มีกลิ่นเหม็นหรือคาวจัด กรณีรับประทานอาหารปิ้งย่าง หมูกระทะ ต้องทำให้สุกก่อนเสมอ ควรใช้ช้อนกลางส่วนตัว แยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน ที่สำคัญผู้ทำงานที่ต้องใกล้ชิดหรือสัมผัสตัวหมู เนื้อ เลือด ต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน อาทิ รองเท้าบู๊ต ถุงมือยาง สวมเสื้อผ้าที่รัดกุม หากมีบาดแผลต้องปิดให้มิดชิด ล้างและฟอกสบู่ทุกครั้งที่สัมผัสหมูดิบหรือชำแหละหมู สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100% หมั่นล้างมือ นอกจากจะช่วยป้องกันไข้หูดับแล้ว ยังเป็นการป้องกันเชื้อโควิด-19 อีกด้วย