ไรฝุ่นตัวร้ายสาเหตุสำคัญ โรคภูมิแพ้และโรคหืด

นายแพทย์จิรวัฒน์ เชี่ยวเฉลิมศรี อาจารย์แพทย์อนุสาขาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก สาขาวิชาอายุรกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เผยว่า ไรฝุ่น คือ ไรชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ลักษณะเป็นตัวกลมๆ มีขาทั้งหมด 8 ขา ใช้ในการดูดน้ำและยึดเกาะ จะเติบโตได้ดีในสภาพอากาศชื้นแบบในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส เพราะฉะนั้น จะพบว่าในประเทศไทยเรามักพบปริมาณไรฝุ่นจะมากที่สุดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว โดยเมื่อสภาพอากาศเหมาะสมตัวเมียจะผสมพันธุ์กับตัวผู้และออกไข่ทีละ 1 ใบ ได้วันละ 3 ครั้ง อายุของไรฝุ่นช่วงโตเต็มวัยอยู่ได้ประมาณ 6 สัปดาห์ เพราะฉะนั้น โดยเฉลี่ยไรฝุ่นเพศเมีย 1 ตัว วางไข่ประมาณ 80 ฟอง เลยทีเดียว

 

ไรฝุ่น

อาหารของไรฝุ่นคือเศษผิวหนัง รังแคของมนุษย์ซึ่งจะร่อนหลุดออกมาตลอดเวลาเยอะสุดแถวบนเตียง โซฟา เพราะฉะนั้น เราจึงพบว่าไรฝุ่นชอบอยู่เยอะที่ฟูก โซฟา พรม ผ้าม่าน ตุ๊กตา และรวมถึงสัตว์เลี้ยงของท่าน และพบว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เราแพ้คือโปรตีนในมูลของไรฝุ่น เมื่อมูลของไรฝุ่นเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจหรือทางผิวสัมผัส จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันทำให้บุคคลที่แพ้มีอาการผิดปกติ เช่น คัดจมูก จาม น้ำมูก คันตา หายใจไม่ออก หายใจหอบเหนื่อย ตลอดจนผื่นคันที่ผิวหนัง

โดยอาการดังกล่าวเกิดจากการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า อิมมูโนโกลบูลินอี (IgE) ที่จำเพาะต่อโปรตีนของมูลไรฝุ่นขึ้นมา โดย IgE ตัวที่จำเพาะนั้นอยู่บนเม็ดเลือดขาวเมื่อมีโปรตีนของมูลไรฝุ่นมาจับ จะกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวปล่อยสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เราจึงสามารถตรวจหา IgE ที่จำเพาะต่อไรฝุ่น เพื่อวินิจฉัยภูมิแพ้ไรฝุ่น ในคนที่มีอาการสงสัยได้ ดังนี้

ตรวจทางผิวหนัง หรือวิธี skin prick test โดยใช้เข็มสะอาดสะกิดผิวหนังด้วยสารก่อภูมิแพ้น้ำยาไรฝุ่นสกัด แล้วดูปฏิกิริยาที่เกิดกับผิวหนัง อ่านผลหลังทำประมาณ 20 นาทีได้เลย โดยสามารถตรวจหาสารก่อภูมิแพ้อื่นๆ ได้ในเวลาเดียวกัน เช่น รังแคแมว ขนแมลงสาบ วิธีนี้ต้องหยุดยาแก้แพ้ชนิดรับประทานก่อนทำ 5-7 วันเจาะเลือดตรวจหา IgE ที่จำเพาะต่อไรฝุ่น วิธีนี้ไม่ต้องหยุดยาแก้แพ้ สามารถเจาะเลือดตรวจได้เลย แต่ราคาอาจค่อนข้างสูงได้ถ้าตรวจหาสารก่อภูมิแพ้หลายชนิด

ภาพขยายไรฝุ่น

วิธีการที่ดีในการลดไรฝุ่นควรทำหลายวิธีร่วมกันดังนี้ 1. การลดความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยการใช้เครื่องดูดความชื้น เครื่องปรับอากาศ หรือเปิดหน้าต่างรับแสงแดดและระบายความชื้นออกไป 2. วัสดุปูพื้นที่ดีควรเป็นไม้เนื้อแข็งกระเบื้อง ควรเอาพื้นพรมออก หรือมีพรมให้น้อยที่สุด 3. ในห้องนอนควรให้แสงแดดส่องถึงที่นอน ฟูก หมอน ควรห่อด้วยถุงพลาสติกหรือวัสดุกันไรฝุ่นโดยเฉพาะ ผ้าปูที่นอนปลอกหมอนชนิดที่ทอถี่และได้รับรองมาตรฐานว่ากันไรฝุ่นได้ปูเป็นชั้นแรก และปูผ้าปูทั่วไปห่อไปอีกชั้นหนึ่ง (ชั้นนอก) 4. ย้ายของที่จะเป็นที่อยู่ของไรฝุ่นได้ออกไป เช่น ตุ๊กตามีขน หมอนเก่า 5. ควรเปลี่ยนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนชั้นนอก (ชั้นที่ไม่ใช่วัสดุกันไรฝุ่น) อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และซักด้วยนํ้าร้อน (5060 องศาเซลเซียส) นาน 20 นาที ทุกสัปดาห์ และตากแดดจัดหรือเป่าให้แห้งด้วยความร้อน 6. เครื่องดูดฝุ่นที่ใช้ระบบ HEPA สามารถดูดกักเก็บไรฝุ่นได้ดีกว่าการใช้ไม้กวาด หรือไม้ปัดฝุ่น (ควรดูดฝุ่นอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง) และหากเป็นไปได้แนะนำให้บุคคลอื่นที่ไม่แพ้ไรฝุ่นทำความสะอาดแทน และหลังทำความสะอาดให้ผู้ที่แพ้ไรฝุ่นหลีกเลี่ยงการเข้าบริเวณที่ทำความสะอาดก่อนเพราะโปรตีนของมูลไรฝุ่นจะคลุ้งอยู่ได้อีกนานกว่าครึ่งวัน

หากผู้ป่วยภูมิแพ้ โรคหืด ที่แพ้ไรฝุ่นได้ปฏิบัติวิธีลดไรฝุ่นร่วมกับใช้ยาแล้วยังไม่ดีขึ้น ปัจจุบันยังมีการรักษาด้วยวิธีการปรับภูมิคุ้มกันที่ทำให้หายขาดจากภูมิแพ้ไรฝุ่น โดยการสร้างภูมิคุ้มกันให้เรียนรู้เพื่อปกป้องไม่ให้เกิดอาการแพ้ มีทั้งรูปแบบฉีดเข้าทางใต้ผิวหนังทุกสัปดาห์ และรูปแบบอมใต้ลิ้นทุกวัน ทั้งนี้ ในการรักษาควรอยู่ในการพิจารณาของแพทย์เฉพาะทาง เพราะอาจมีผลข้างเคียง เช่น การแพ้รุนแรงได้