พลังงานสะอาดขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย

ในปัจจุบันประเทศไทย ภาคพลังงาน เป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 43% ภาคขนส่งอีก 27% คิดเป็นสัดส่วนรวมกว่า 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในประเทศ และ 99.95% ของยานพาหนะทั้งหมดในประเทศเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งเป็นที่มาของปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์

เมื่อเร็วๆ นี้ สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เปิดงานนิทรรศการ “พลังงานสะอาดขับเคลื่อนสังคม” ที่ห้างสรรพสินค้า สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ โดยมี คุณเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย คุณสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และ ดร.พูลพัฒน์ สีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นประธาน

งานนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการคมนาคมขนส่งของโลกและประเทศไทย จากปัจจุบันไปสู่อนาคตที่จะมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจัดทำขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน ผ่านวิสัยทัศน์และการแสดงความคิดเห็นด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่อนาคตที่ยั่งยืน

คุณสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์

คุณเกออร์ก กล่าวในพิธีเปิดว่า “Less is more ในที่นี้ หมายถึง ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้มากขึ้น และเราจะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร นิทรรศการนี้มีคําตอบ โดยนิทรรศการนี้ได้ให้แนวคิดและแนวทางปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างอนาคตที่ดี มั่งคั่งและยั่งยืน เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้”

คุณเกออร์ก ชมิดท์

คุณสรพงศ์ กล่าวว่า “กระทรวงคมนาคมตระหนักถึงความสําคัญของนวัตกรรมสมัยใหม่ที่จะนําไปสู่การเปลี่ยนแปลงในภาคการขนส่ง ทางกระทรวงสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและการพัฒนาเทคโนโลยี การขนส่งที่ยั่งยืน สะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากภาคการขนส่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งมาจากการขนส่งทางถนนเป็นหลัก ประเทศไทยจึงได้จัดทําแผนปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยมีมาตรการต่างๆ เพื่อการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ และยังสอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่มีสาเหตุมาจากการจราจรติดขัดในเขตเมือง ในปัจจุบันองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. กําลังวางแผนจัดหารถเมล์ไฟฟ้า 2,511 คัน หลังจากที่แผนฟื้นฟูกิจการ ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ผมเชื่อว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้คนกรุงเทพฯ จะได้ใช้รถเมล์ไฟฟ้า นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกยังได้ร่วมรณรงค์การลดมลภาวะทางอากาศโดยการลดภาษีรถยนต์ประจําปีสําหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแพร่หลายดังเช่นประเทศต่างๆ ในยุโรป”

คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

คุณสรพงศ์ ได้กล่าวเสริมอีกว่า “อีกหนึ่งโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการขนส่งในเมืองคือ การเปิดใช้งานสถานีกลางบางซื่อในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นี้ ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงการภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 โดยสถานีกลางบางซื่อเป็นตัวแทนของศูนย์กลางของระบบการขนส่งทางรางของประเทศไทย ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 600,000 คน ต่อวัน มากกว่าสถานีหัวลําโพงถึง 10 เท่า และยังเป็นจุดศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบการขนส่งทางรางที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมืองและอู่ตะเภา เมื่อแล้วเสร็จจะมีระยะทางรวม 220 กิโลเมตร และเป็นจุดตั้งต้นของรถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทย เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งกําลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร ในอนาคตสถานีกลางบางซื่อจะกลายเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจแห่งใหม่และเป็นจุดเชื่อมต่อหลักของระบบการขนส่งมวลชนทางรางของกรุงเทพมหานคร และในขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการรถไฟทางไกลซึ่งจะมีการเปลี่ยนจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นพลังงานไฮโดรเจน และการใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้า โครงการทั้งหมดนี้เป็นการดําเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม คือ 1. การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2. การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ 3. การเข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม 4. การใช้นวัตกรรมและการจัดการ”

นิทรรศการ

ดร.พูลพัฒน์ กล่าวว่า “เพื่อสร้างแนวทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย กระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างการจัดทํา “แผนพลังงานแห่งชาติ” โดยคํานึงถึงแนวคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งมุ่งเน้นการเสริมสร้างภาคพลังงานของประเทศให้มีความมั่นคงและสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่ออนาคตทางพลังงานที่ยั่งยืน โดยแผนพลังงานแห่งชาตินี้จะกําหนดอนาคตพลังงานของประเทศ และเปลี่ยนภาคพลังงานให้สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานหมุนเวียนและนวัตกรรมด้านพลังงานจะเป็นกุญแจสําคัญในการจัดทําแผนพลังงานแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนทิศทางนโยบายพลังงานให้ประเทศไทยสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน รวมถึงการสร้างสังคมคาร์บอนตํ่าด้วยการดําเนินนโยบายที่ยั่งยืนในระยะยาว”

Advertisement
บรรยากาศในงาน

ดร.พูลพัฒน์ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยจะเป็นประธานและเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปก ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลักคือ “โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว” (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความรู้ความสามารถ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อนําทรัพยากรด้านพลังงานของประเทศมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ ภายใต้แนวคิด BCG ดังกล่าว ภาคพลังงานถือเป็นหนึ่งในส่วนสําคัญที่ช่วยพลิกโฉมประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมีนวัตกรรมต่อไป”

หลังจากพิธีเปิด ยังมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “A move towards a smarter future” ซึ่งมี คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักผลิตสารคดี และผู้ก่อตั้งช่องชื่อดัง “เถื่อน Channel” คุณธนัย โพธิสัตย์ ผู้ก่อตั้ง ReCharge โครงการเพื่อสังคม และ คุณแอนโทนี่ ปิยชนม์ เด็กนักเรียนอัจฉริยะจากจังหวัดเชียงราย ผู้ที่เสนอโครงการดักจับคาร์บอนในอากาศเพื่อแปลงเป็นออกซิเจน เสนอต่อ ลีออน มัสก์ โดยเวทีเสวนานี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และบอกเล่าเรื่องราววิธีการที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานหรือคมนาคมให้ดีขึ้น

Advertisement

คุณวรรณสิงห์ ได้มีความสนใจในด้านของความขัดแย้งของมนุษย์​ จึงเล็งเห็นว่าทุกๆ ปัญหาในสังคมมนุษย์ มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเป็นเบื้องหลังที่อยู่ในทุกปัญหา เช่น ความขัดแย้งในบางพื้นที่ต่างประเทศ ก็เกิดมาจากการขาดน้ำใช้ในการบริโภค และยิ่งตนเองมีโอกาสเดินทางไปในหลายพื้นที่ทั่วโลก จึงเริ่มเข้าใจได้ว่าทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเป็นเบื้องหลังของทุกสิ่งจริงๆ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมก็สามารถแก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยีเช่นกัน อาทิ ปัญหาไฟป่า ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากการเผาไร่ข้าวโพด ซึ่งทำให้เกิดภาวะมลพิษขึ้นได้ แม้ว่าจริงๆ แล้ว สามารถฝังกลบข้าวโพดเพื่อทำลายได้ แต่การเผาก็เป็นอะไรที่ง่ายกว่า พอเริ่มมีเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกเข้ามาคือ พลังงานชีวมวล (Biomass) ทำให้ซากของข้าวโพดที่แต่ก่อนต้องทำลายอย่างเดียว ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาเพื่อที่จะเอาไปทำเป็นพลังงานได้

คุณธนัย ได้เล่าว่า ด้วยการที่ตนเองนั้นเรียนด้านสิ่งแวดล้อมมา จึงให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ พอได้ลงไปเจอปัญหาแบบจริงๆ เลยเริ่มรู้สึกว่า มันไม่ได้เป็นแค่ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว เป็นปัญหาทางด้านสังคมด้วย เช่น การศึกษา การเข้าถึงข้อมูล การเข้าถึงสื่อการเรียนการสอน การเข้าถึงพัฒนาการอื่นๆ รวมไปถึงระบบสาธาณูปโภค เลยอยากที่จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ด้วยการใช้พลังงานทดแทนจากทักษะการเรียนรู้ที่ตนเองนั้นมี เกิดเป็นที่มาของโครงการ ReCharge เพื่อลงไปแก้ไขปัญเหล่านี้ ซึ่งเริ่มทำโครงการมาได้ 5 ปีแล้ว ปัจจุบันก็ยังทำอยู่ และจะทำต่อไปเรื่อยๆ

ผู้ร่วมเสวนา

ทางด้าน คุณแอนโทนี่ มีนวัตกรรมเครื่องดักจับคาร์บอน มีกลไกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศให้เป็นก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์ และก๊าซออกซิเจน รวมไปถึงยังสามารถดักจับฝุ่นละออง PM 2.5 ได้อีกด้วย นวัตกรรมนี้จะนำเสนอต่อ อีลอน มัสก์ ถ้าหากนวัตกรรมนี้ถูกรับเลือก คุณแอนโทนี่จะได้เงินรางวัลมากถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท

การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนจากการใช้ฟอสซิลมาเป็นการใช้พลังงานหมุนเวียน ที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านพลังงานคือ ความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องการความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับภาคพลังงานและการขนส่ง

ภายในงานนิทรรศการ มีตู้คำนวณค่าไฟฟ้าและผลกระทบโลกร้อน ยกตัวอย่าง หากเราอยู่ในห้องพักที่มีพื้นที่ 16-31 ตารางเมตร มีแอร์ขนาด 16,000 BTU มีตู้เย็น 2 ประตู หากใช้แอร์วันละ 8 ชั่วโมง ใช้ตู้เย็นแช่ของตลอด 24 ชั่วโมง ค่าไฟใน 1 ปี จะตกอยู่ที่ประมาณ 15,759 บาท ต่อปี หรือประมาณเดือนละ 1,313.28 บาท เปรียบเป็นการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Carboon Footprint) ประมาณ 4 ตัน ต่อปี เทียบเท่ากับการขับรถที่ผลิตขึ้นใหม่ในปี 2021 ไป/กลับ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ถึง 161 รอบ

ประเทศไทยในปัจจุบันมีการใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว ตัวอย่างโครงการที่ผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนพลังงานคือ ศูนย์การเรียนรู้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เป็นโครงการที่ กฟผ. ทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งการเรียนทางด้านพลังงานไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ ทั้งจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงนวัตกรรมผลิตไฟฟ้าทันสมัยด้วยระบบ Wind Hydrogen Hybrid เป็นเทคโนโลยีการกักเก็บไฟฟ้าจากกังหันลมในรูปแบบของก๊าซไฮโดรเจนมาผลิตพลังงานไฟฟ้าผ่านกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (electrolysis) และนำมาใช้ร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้า กฟผ. ได้พัฒนาโครงการนี้จนกลายเป็นระบบไฮโดรเจนไฮบริดที่แรกของเอเชีย เพื่อรองรับระบบพลังงานหมุนเวียนในอนาคต

สุดท้ายนี้ ปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลาย ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะดีขึ้น หากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสุขภาพของลูกหลานในอนาคต

 

ขอบคุณรูปภาพจาก : GIZ Thailand