นายกฯสุกรภาคใต้ หนุนเลี้ยง-แปรรูปขายเอง

นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้คนใหม่เปิดเผยว่า นโยบายสำคัญของสมาคมในยุคนี้คือ การยกระดับและพัฒนาแบบครบวงจร โดยสมาชิกจะต้องเลี้ยงสุกรเอง ชำแหละ-แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และขายเอง รวมทั้งมีการพัฒนาคุณภาพฟาร์มสุกรให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับผู้บริโภค เพราะแนวโน้มธุรกิจสุกรจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น

“ผู้เลี้ยงสุกรต้องมีการพัฒนาเพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยการนำเทคโนโลยีและวิชาการมาใช้ เนื่องจากผู้เลี้ยงที่มีประสิทธิภาพดีกับผู้เลี้ยงที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า จะมีต้นทุนการผลิตห่างกันมากประมาณ 10% เช่น ผู้เลี้ยงที่ดี จะมีต้นทุนประมาณ 55 บาท / กิโลกรัม(กก.) และผู้เลี้ยงที่ด้อยกว่าจะมีต้นทุนถึง 60 – 65 บาท /กก. จากราคาเฉลี่ยต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 60 บาท / กก.”

สำหรับสถานการณ์ราคาสุกรนั้นได้เริ่มขยับดีขึ้นมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2560 เป็นต้นมา โดยขณะนี้มีการส่งอออกสุกรไปยังประเทศจีนวันละ 900 ตัว และประเทศกัมพูชาวันละ 300 ตัว ราคาหน้าท่าอยู่ที่ 55 – 56 บาท /กก.

ส่วนราคาในประเทศมีความแตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับปัจจัยปริมาณสุกรในพื้นที่และภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ทางภาคเหนือราคาสุกรมีชีวิตเคลื่อนไหวอยู่ที่ 58 – 60 บาท / กก. ภาคกลาง 59 – 61 บาท/กก. ภาคตะวันออก 62-63 บาท/กก. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 60-62 บาท/กก. ภาคตะวันตก 52-56 บาท / กก. ภาคใต้ 60 บาท/กก. และราคาประกาศของสมาคมอยู่ที่ 60 – 62 บาท / กก.

นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง อดีตนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจะต้องเดินไปด้วยกันทั้งฟาร์มขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และบริษัทใหญ่ต้องดูแลให้ทุกขนาดอยู่กันได้ ปัจจุบันแม่พันธุ์สุกรในภาคใต้มีประมาณ 100,000 แม่ ส่วนราคาสุกรเริ่มกระเตื้องขึ้นหลังจากที่ประเทศจีน และกัมพูชาได้ทยอยรับซื้อสุกรจากไทย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้วงการปศุสัตว์ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในระดับโฟร์แมนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ส่วนสายวิชาการระดับปริญญาตรีด้านปศุสัตว์ ปัจจุบันพบว่ามีนักศึกษาหญิงนิยมเข้ามาเรียนมากถึง 90% และมีตลาดรองรับไว้หมดแล้ว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์