กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยทราย ชูผ้าไหมเลอค่า ถิ่นมหาสารคาม

โดยวัฒนธรรมของชาวไทยไม่ว่าภาคใด การทอเครื่องนุ่งห่มไว้ใช้ภายในครัวเรือน เป็นสิ่งที่แม่บ้านปฏิบัติสืบมา ไม่จำเป็นต้องควักกระเป๋าซื้อให้เสียเงิน ต่อมาความเจริญและการพัฒนารุกเข้าสู่ตัวเมือง อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ชุมชนและครัวเรือน ทำให้การทอเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นวัฒนธรรมการดำรงชีพในอดีต แปรเปลี่ยนเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แต่ละภูมิภาคดำรงไว้เท่านั้น หรือหากจะยังหลงเหลืออยู่ก็ปรับปรุงกระบวนการเป็นเชิงพาณิชย์ไปเสียเกือบทั้งหมด

คุณบุญเที่ยง คำยอดแก้ว ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยทราย

มหาสารคาม ยังคงได้ชื่อว่าเป็นถิ่นผ้าไหมล้ำเลอค่า ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น จึงขอหยิบยกฝีมือการทอผ้าไหมของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยทราย ตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม มาให้ชม เนื่องจากผ้าไหมของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรกลุ่มนี้ มีความประณีตงดงาม ถึงขึ้นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ 5 ดาว

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยทรายแห่งนี้ ไม่เฉพาะฝีมือการทอผ้าไหมที่เป็นเลิศ แต่ไหมที่นำมาทอ ยังได้จากตัวไหมที่เลี้ยงเองแต่ละครัวเรือนด้วย

จำนวนหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด ที่มารวมกลุ่มทอผ้าไหม

คุณบุญเที่ยง คำยอดแก้ว ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยทราย เล่าให้ฟังว่า การรวมกลุ่มของแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยทราย เกิดจากการว่างเว้นจากอาชีพประจำ คือ การทำนาและทำไร่ และการนำภูมิปัญญาเดิมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานานมาร้อยต่อกัน สร้างเป็นอาชีพ เสริมรายได้ในครัวเรือนได้มากกว่าที่คิด

ตัวไหม ที่เลี้ยงด้วยใบหม่อน

“การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เป็นการทอผ้าไว้ใช้เองภายในบ้าน เครื่องมือที่ใช้ทอผ้า คือ หูก และมีกันทุกครัวเรือน เมื่อผ้าทอมีมากเกินความจำเป็น บ้างเก็บไว้ บ้างเห็นว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนก็สามารถนำออกมาขายได้ จึงรวมกลุ่มกันเพื่อเป็นพื้นที่ส่วนกลางนำผ้าที่ทอในแต่ละครัวเรือนมาขาย”

ปี 2537 เป็นปีแรกที่เริ่มต้นรวมกลุ่มของแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยทรายกลุ่มนี้ คุณบุญเที่ยง เป็นหลักในการรวบรวม เพราะเห็นว่า การขาดรายได้ในช่วงที่ไม่ได้ทำเกษตรกรรม ก็เป็นผลเสีย และต่อสู้กับรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ เมื่อรวมกลุ่มกันผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทอผ้าก็มีให้เลือกหลากหลาย สร้างความรู้จักเป็นวงกว้างให้กับผู้สนใจ อีกทั้งผ้าทอที่มีอยู่เป็นไหมอย่างดีที่ชาวบ้านเลี้ยงเอง และฝีมือการทอผ้าของบ้านห้วยทรายก็ไม่เป็นรองใคร

เด็กนักเรียนที่ได้รางวัลชนะเลิศการสาวไหมประดับภาค ฝึกฝีมือในกลุ่มนี้ด้วย

ในการก่อตั้งกลุ่มระยะแรก มีสมาชิกกลุ่ม 36 คน ลงหุ้นร่วมกัน หุ้นละ 50 บาท นำเงินที่ลงหุ้นมาบริหารจัดการภายในกลุ่ม แม้จะยังไม่มีตลาดรองรับที่แน่นอน แต่ทุกครั้งที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหยิบยื่นโอกาสมาให้ สมาชิกกลุ่มนี้ก็จะมีผลงานออกสู่สายตาประชาชน และเป็นที่สนใจมาโดยตลอด ซึ่งการพัฒนาฝีมือและรูปแบบการบริหารจัดการภายในกลุ่มที่ดี ทำให้ผลิตภัณฑ์การทอผ้าไหมกลายเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอทอป ระดับ 5 ดาว

จากเริ่มแรกสมาชิกเพียง 36 คน ปัจจุบันเติบโตเป็น 51 คน จำนวน 84 ครัวเรือน เพราะผ้าไหมที่ทอขายในนามของกลุ่ม ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากการทอผ้าจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการทอและฝีมือในการทอมากพอสมควร

หลังการผูกลาย ย้อมสี นำมาแกะเชือกออกให้เป็นลาย

“แต่ละครัวเรือนมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอยู่แล้ว วัตถุดิบที่ได้ก็นำมาทอผ้าตามความถนัดของแต่ละคน เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ก็นำมาขายด้วยกันในทุกครั้งที่มีโอกาสออกงานตามที่ต่างๆ ใครขยันทอมากก็ได้มาก ซึ่งผ้าที่แม่บ้านแต่ละครัวเรือนทอจะนำมาขายในนามของกลุ่ม และได้ค่าทอผ้าคิดความยาวเป็นเมตร ใครสะดวกทอที่บ้านก็ได้ หรือใครจะมาทอศูนย์รวมของกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งมีอุปกรณ์ทอพร้อมก็ได้ ทั้งนี้ ทุกสิ้นปีจะมีปันผลให้กับสมาชิก 25 เปอร์เซ็นต์”

หูกขนาดใหญ่ ใช้สำหรับทอผ้าห่มหรือผ้าคลุมเตียง

ตลอดทั้งปี กลุ่มแม่บ้านยังคงมีงานประจำคือการทำนาและทำไร่ตามฤดูกาล เมื่อว่างเว้นจึงได้จับงานทอผ้า ทำให้จำนวนผลิตภัณฑ์ที่ได้ในแต่ละปีไม่มากนัก เฉลี่ยเดือนละเกือบ 200 ผืน ทุกผลิตภัณฑ์ เช่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าคะม้า ผ้าพันคอม และผ้านุ่ง

คุณบุญเที่ยง บอกว่า ผ้าคะม้า ผ้าคุลมไหล่ และผ้าพันคอ เป็นผลิตภัณฑ์ที่คนนิยมซื้อ เนื่องจากชิ้นเล็ก ราคาไม่สูงนัก คนจึงนิยมซื้อเป็นของฝาก

ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ใช้สำหรับย้อมสีผ้าไหม

เป็นความโชคดีของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยทราย ที่นอกจากจะมีพื้นที่ยืนในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าระดับต้นของจังหวัดแล้ว ผ้าไหมฝีมือกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยทรายยังมีชาวเดนมาร์กเห็นความงดงามในฝีมือ จึงเป็นลูกค้าประจำสั่งทอเครื่องนุ่งห่มส่งไปยังประเทศเดนมาร์กอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการเปิดตลาดต่างประเทศเล็กๆ ให้กับกลุ่มแม่บ้านได้ชื่นใจ

ความพิเศษของเส้นไหมอยู่ที่ความเหนียว นุ่ม เมื่อฟอก ย้อมสีแล้ว เส้นไหมยิ่งมีความเงามันโดยเนื้อของเส้นไหมตามธรรมชาติ ที่สำคัญเส้นไหมของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยทราย ย้อมด้วยสีจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี ไม่มีอันตรายต่อผิวหนัง ซึ่งการใช้สีจากธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าชื่นชอบมากเป็นพิเศษ

การย้อมไหมจากสีธรรมชาติ เช่น สีม่วง ใช้ดอกอัญชัน สีเขียว ใช้ใบสบู่เลือด สีน้ำตาล ใช้ฝักคูน สีน้ำตาลอมเขียวอ่อนหรือสีกากีอมเขียว ใช้ใบหูกวาง เป็นต้น

ตัวอย่างการย้อมไหมจากสีธรรมชาติ (ใบหูกวาง)

การคัดเลือกวัตถุดิบ ทำโดยคัดเลือกใบหูกวางที่สดและไม่ตายนึ่ง หากใช้ใบแก่เต็มที่จะให้สีเข้ม ใบอ่อนและยอดอ่อนจะให้สีน้ำตาลอมเขียวอ่อน หรือ สีกากีอมเขียว

วัสุดอุปกรณ์ เส้นไหม 1 กิโลกรัม ใบหูกวาง 7-8 กิโลกรัม

วิธีย้อม

1          สับใบไม้เป็นชิ้นเล็กละเอียด

2          นำไปต้มกับน้ำ 40 ลิตร ประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรือต้มจนเหลือน้ำสีสกัด 30 ลิตร สำหรับย้อมไหม 1 กิโลกรัม กรองเอากากออก

3          แช่เส้นไหมที่ลอกกาวแล้วในน้ำสะอาด ให้เส้นไหมอิ่มตัว แล้วบิดหมาด จากนั้นนำเส้นไหมลงแช่ในน้ำสีสกัด ไม่ต้องต้ม (ย้อมเย็น) นานประมาณ 10-15 นาที

4          ยกน้ำสีขึ้นตั้งไฟจนน้ำสีร้อนจัด จึงนำเส้นไหมที่พักไว้ลงต้มย้อมในน้ำสีประมาณ 1 ชั่วโมง

5          ครบเวลาแล้ว ให้นำเส้นไหมขึ้นผึ่งให้เย็น บีบน้ำออกให้หมาด แล้วกระตุกให้เส้นเรียงตัว ผึ่งให้แห้ง

6          เมื่อเส้นไหมแห้ง จึงนำไปล้างในน้ำอุ่นผสมน้ำยาเอนกประสงค์ชนิดไม่มีสีและไม่มีกลิ้น อัตราส่วน น้ำยาเอนกประสงค์ 20 ซีซี ต่อน้ำ 8-10 ลิตร ประมาณ 3-5 นาที

7          นำไปล้างน้ำจนเส้นไหมสะอาด บิดให้หมาด กระตุกและผึ่งให้แห้ง ได้เส้นไหมสีน้ำตาล ถ้าต้องการให้เส้นไหมสีเข้มขึ้น หรือ สีดำ ให้นำเส้นไหมที่ย้อมสีแล้วไปหมักโคลนนาน 1 ชั่วโมง ได้โทนสีน้ำตาลดำ ถ้าต้องการให้สีเข้มขึ้นให้หมักโคลนได้หลายครั้ง แต่ละครั้งไม่ให้เกิน 1 ชั่วโมง สำหรับเส้นไหมที่ย้อมด้วยฝักคูนอ่อน สามารถย้อมให้สีเข้มขึ้นหรือสีเปลี่ยนไป โดยนำเส้นไหมที่ย้อมแล้วไปแช่ในน้ำปูนใส (อัตราส่วนปูนเคี้ยวหมากสีขาว 100 กรัม ต่อน้ำเปล่า 10 ลิตร ผสมทิ้งไว้ข้ามคืน แล้วนำเฉพาะส่วนที่น้ำใสมาใช้) ใช้เวลาในการแช่ประมาณ 5 นาที แล้วนำเส้นไหมล้างน้ำจนสะอาด (ตามข้อ 6)

ทั้งหมดคือกระบวนการย้อมไหมจากสีธรรมชาติ ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยทราย หมู่ 6 ตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์ 087-2367571