ถอดรหัสรอดภัยแล้ง บ้านมาบจันทร์ จ.ระยอง

ถอดรหัสรอดภัยแล้งมาบจันทร์
แหล่งน้ำ

นอกเหนือจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั่วโลกแล้ว ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ สภาพอากาศแปรปรวนฉับพลัน ฝนทิ้งช่วง หรือตกนอกฤดูกาล นำไปสู่ปัญหาน้ำขาด น้ำเกิน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน ไปจนถึงเศรษฐกิจระดับครอบครัว ชุมชน และประเทศ

นางสาวเพ็ญศศิตาภรณ์ สิทธิชัย อาสาสมัครวิจัยท้องถิ่น

ในช่วงนี้ ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัว Climate Changeอีกครั้ง แล้วจะทำอย่างไร ให้ภัยแล้งไม่กลับมาเยือนเราแบบนี้ทุกๆ ปี นี่คงเป็นคำถามที่หลายๆ คนอาจกำลังตามหาคำตอบกันอยู่ เราจึงขออาสามาถอดรหัสรอดภัยแล้ง ที่ “บ้านมาบจันทร์ จ.ระยอง หนึ่งในชุมชนต้นแบบของโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” ที่ตั้งอยู่รอบเขายายดา และเป็นแหล่งเกษตรที่สำคัญของจังหวัดระยอง ซึ่งเคยเผชิญวิกฤตแล้งมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อชุมชนร่วมมือร่วมใจกันบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางยาวนานกว่า 10 ปี ผลสำเร็จแห่งความพยายาม คือ ชุมชนมีน้ำสะสมไว้ใช้ตลอดปี แม้ปีที่ผ่านมาจะเกิดภัยแล้งรุนแรงทั่วประเทศ แต่ชุมชนรอบเขายายดาสามารถผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งนี้ไปได้ และมีผลผลิตออกดอกออกผลเติบโตงอกงาม

น้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเพื่อสังคม

แล้งซ้ำซาก… เราต้องรอด

หากย้อนกลับไปในปี 2549 ชุมชนรอบเขายายดาต่างเคยเผชิญวิกฤตภัยแล้งซ้ำซาก อันเป็นผลจากการบุกรุกพื้นที่ป่าหันไปทำเกษตรเชิงเดี่ยวจนทำให้พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลาย ทั้งยังเกิดเหตุไฟป่าครั้งรุนแรง จากวิกฤตนี้ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ก่อให้เกิดความร่วมมือเพื่อหาหนทางรอด โดยปี 2550 คนในชุมชนรอบเขายายดาเริ่มหันหน้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เกิดการพูดคุย ลงมือทำ และการร่วมมือร่วมใจของหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นชุมชน  องค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานราชการในพื้นที่ รวมไปถึงภาคเอกชน ทำให้เกิดความหวังร่วมกันว่า เราจะพลิกฟื้นพื้นที่เขายายดา ปอดของจังหวัดระยอง ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติให้ชาวระยองได้ชื่นฉ่ำหัวใจไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานและต่อๆ ไป

นายธงชัย พงษ์ศิลา ประธานประปาหมู่บ้าน

“เพราะน้ำคือชีวิต เอสซีจีจึงใส่ใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งภายในโรงงาน และชุมชนโดยรอบ ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) ซึ่งพื้นที่เขายายดา เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของจังหวัดระยอง ต้องใช้น้ำเพื่อผลผลิตทางเกษตร เราเห็นปัญหาน้ำแล้ง และป่าเสื่อมโทรมตั้งแต่เริ่มแรก ทีมงานเอสซีจีจึงได้ร่วมกับชุมชน ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าต้นน้ำ และภาคส่วนต่างๆ ขับเคลื่อนการสร้างฝายบริเวณเขายายดาตั้งแต่ ปี 2550 เพื่อให้ป่าต้นน้ำกลับมาสมบูรณ์ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ และเก็บกักน้ำใต้ดิน เพื่อให้ชุมชนรอบเขายายดามีน้ำใช้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำยังช่วยให้ระบบนิเวศของระยองดีขึ้นตามมาด้วย” นางสาวน้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเพื่อสังคม กล่าว

พลิกฟื้นป่าต้นน้ำ…ด้วยการชะลอน้ำ

สิ่งแรกที่ชุมชนรอบเขายายดาให้ความสำคัญ คือ การฟื้นฟู ‘ป่าต้นน้ำ’ เพราะหากป่าอุดมสมบูรณ์ ความชุ่มชื้นในพื้นที่ก็จะมีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ฝนตกอย่างสม่ำเสมอ แต่จะทำอย่างไรให้พื้นที่ป่าเก็บกักความชุ่มชื้นจากน้ำฝนให้ได้มากที่สุด  ซึ่งหลักคิดง่ายๆ ก็คือ ต้องหาทางชะลอน้ำฝนที่ตกลงมาให้ค่อยๆ ซึมสู่ผิวดินให้นานที่สุด

“เมื่อเข้าใจหลักคิดเรื่องชะลอน้ำฝนเพื่อช่วยอุ้มน้ำไว้ในดินแล้ว เราก็เริ่มที่จะฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ทำธนาคารต้นไม้ ชวนคนในชุมชนมาช่วยกันคัดเลือกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ซึ่งจะต้องมีพันธุ์ไม้ชั้นเรือนยอดระดับต่างๆ กัน เนื่องจากเรือนยอดหลายชั้นของต้นไม้ช่วยลดแรงตกกระทบของเม็ดฝน พื้นดินจึงสามารถค่อยๆ ดูดซึมน้ำฝนลงสู่ใต้ดินได้อย่างเต็มที่ หลังจากนั้นจึงช่วยกันปลูกป่าควบคู่ไปกับการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อให้ผิวดินช่วยกักเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นาย ธงชัย พงษ์ศิลา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแกลง และประธานประปาหมู่บ้าน      หมู่ที่ 7 บ้านมาบจันทร์ จังหวัดระยอง เล่าถึงปฐมบทของการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน พื้นที่เขายายดา มีจำนวนฝายชะลอน้ำในพื้นที่กว่า 6,700 ฝาย เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของจิตอาสาทั่วประเทศกว่า 34,385 คน เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ ปริมาณน้ำใต้ดินมีมากขึ้น ความชุ่มชื้นช่วยคืนความสมบูรณ์ให้ผืนป่า พืชพรรณที่เคยหายไปอย่างต้นซก ได้กลับมาแพร่พันธุ์และเจริญเติบโต

วางแผนการบริหารจัดการน้ำชุมชน ด้วยงานวิจัยท้องถิ่น

เมื่อป่าต้นน้ำกลับคืนมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ก้าวถัดไปที่ชุมชนได้เรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ภายในชุมชน ก็คือ การทำวิจัยท้องถิ่น นางสาวเพ็ญศศิตาภรณ์ สิทธิชัย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านมาบจันทร์ หนึ่งในอาสาสมัครวิจัยท้องถิ่น เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การเป็นนักวิจัยท้องถิ่น ไว้ว่า

“ก่อนหน้านี้ พวกเราใช้ประสบการณ์และความรู้สึกในการวางแผนเรื่องน้ำ บางทีความรู้สึกของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ทำให้ตัดสินใจผิดพลาดไปก็มี แต่เมื่อปี 2560 เอสซีจี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เข้ามาช่วยแนะนำเรื่องการบริหารจัดการน้ำด้วยการนำข้อมูลเชิงสถิติมาใช้ มาสอนและฝึกอาสาสมัครจากชุมชนให้เป็นนักวิจัยท้องถิ่น ให้พวกเราเข้ามาร่วมเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เริ่มจากการสำรวจและจัดทำแผนผังแหล่งน้ำรอบเขายายดา ต่อมามีการคำนวณต้นทุนน้ำจากธรรมชาติ โดยทุกๆ วัน จะได้รับภารกิจให้จดบันทึกปริมาณน้ำฝน อัตราการระเหยของน้ำ อุณหภูมิอากาศ ด้วยอุปกรณ์ที่ทำเองจากวัสดุภายในครัวเรือน พร้อมกับการบันทึกปริมาณการใช้น้ำของชุมชน จากการจดบันทึกมิเตอร์ทั้งน้ำอุปโภคบริโภคในครัวเรือน น้ำเพื่อทำเกษตร สวนผลไม้ หรือเลี้ยงสัตว์ สุดท้ายนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มปริมาณน้ำ นำไปสู่การวางแผนหาแนวทางการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนที่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ของชุมชนรอบเขายายดา”

ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น นำนวัตกรรม ต่อยอดสู่การบริการจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน

จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากการวิจัยท้องถิ่น ทำให้พบวิถีทางแก้ปัญหาที่หลากหลาย ตั้งแต่การหาแหล่งน้ำต้นทุนของชุมชนเพิ่ม โดยได้สำรวจพบบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้ถูกนำมาจัดสรรใช้ประโยชน์ภายในชุมชน จึงได้จัดทำเครื่อง “สูบน้ำด้วยพลังงานสะอาด” โดยใช้นวัตกรรมทุ่นลอยน้ำระบบโซลาร์เซลล์ของเอสซีจีมาประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ ยังได้รื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ การทำ “ทำนบชะลอน้ำ” ที่บรรพบุรุษเคยใช้ มาช่วยชะลอน้ำเก็บไว้บริเวณคลอง และได้ผสานองค์ความรู้เรื่อง “ธนาคารน้ำใต้ดิน” เพื่อช่วยกักเก็บน้ำส่วนเกินจากผิวดินตามบริเวณบ้านเรือน เติมเข้าสู่ระดับชั้นน้ำบาดาลได้โดยตรง ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยกักเก็บน้ำช่วงหน้าแล้งเท่านั้น แต่ยังช่วยลดปัญหาน้ำท่วมช่วงหน้าฝนได้อีกด้วย

นางสาววันดี อินทรพรม ผู้ใหญ่บ้าน

ความหวังเป็นจริง…ด้วยความสามัคคี

นางสาววันดี อินทรพรม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านมาบจันทร์ จังหวัดระยอง นักคิด นักพัฒนา และสร้างจิตวิญญาณรักษ์ป่ารักษ์น้ำให้กับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในบ้านมาบจันทร์ว่า “ในปี  2563 ที่ผ่านมา เป็นปีที่เราได้เห็นผลจากสิ่งที่เราทำจริงๆ เมื่อทราบถึงข่าวสถานการณ์ภาวะภัยแล้ง ผู้ใหญ่ได้เรียกประชุมลูกบ้านมาร่วมกันวางแผนการใช้น้ำด้วยกัน โดยคำนวณจากข้อมูลที่นักวิจัยท้องถิ่นของเราเก็บมาได้ แล้วมาช่วยกันคิดต่อว่าจะจัดสรรน้ำอย่างไรให้ทุกบ้านได้ใช้เพียงพอ และที่สำคัญต้องมีเพื่อทำการเกษตรด้วย เราจึงได้สร้างกติกาการใช้น้ำร่วมกัน โดยแบ่งพื้นที่จ่ายน้ำประปาช่วงเช้าสำหรับคนบ้านราบและช่วงเย็นสำหรับคนที่อยู่บนเนิน โดยเฉพาะช่วงที่เราเข้มงวดมาก มีการปรับคนที่ใช้น้ำเกินกว่าที่กำหนดเป็น 2 เท่า ซึ่งคนในชุมชนก็ไม่มีปัญหาอะไร เราเข้าใจกัน และคิดว่าเราจะต้องผ่านภัยแล้งไปได้ แล้วเราก็ทำได้”

สร้างกติกาการใช้น้ำร่วมกัน

ชุมชนรอบเขายายดา สามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยความสามัคคี การมีส่วนร่วมกับปัญหาที่เกิดขึ้น และการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ส่งผลให้ชุมชนผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งที่ผ่านมา มีรายได้เพิ่มขึ้นจากสินค้าเกษตรทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง และยังมีแนวคิดต่อยอดสู่การสร้างบ้านมาบจันทร์ จังหวัดระยอง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อส่งต่อรหัสรอดภัยแล้งสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจี ได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel