กลุ่มแปลงใหญ่อ้อยชัยภูมิ หนุนสมาชิกใช้เทคโนโลยีลดต้นทุน

กลุ่มแปลงใหญ่อ้อยชัยภูมิ หนุนสมาชิกใช้เทคโนโลยีลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้เกษตรกร

นายดิลก ภิญโญศรี ประธานกลุ่มแปลงใหญ่อ้อย หมู่ที่ 5 ตำบลหนองคอนไทย อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า กลุ่มแปลงใหญ่อ้อยตำบลหนองคอนไทย เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในหมู่บ้านเดียวกัน เมื่อปี 2560 จำนวนสมาชิก 34 ราย พื้นที่รวมกันประมาณ 1,000 ไร่ ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ปัจจัยการผลิตจากกรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงโรงงานน้ำตาลในพื้นที่

ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ได้นำความรู้ตามหลักวิชาการไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง จากเดิมที่ต่างคนต่างปลูก โดยใช้ความเคยชินปลูกตามประสบการณ์ที่สั่งสมมา ใส่ปุ๋ยตามใจฉัน ก็ปรับมาเป็นมีการตรวจวิเคราะห์ดิน ใช้ปุ๋ยตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ใส่ปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

“เกษตรกรที่นี่ถือว่าเป็นชาวไร่อ้อยมืออาชีพอยู่แล้ว แต่พอมีกลุ่มแปลงใหญ่ก็ทำให้มีจุดศูนย์กลางที่เปิดโอกาสให้สมาชิกได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้เทคโนโลยี การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือการประสานงานกับโรงงานน้ำตาลทำได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งผมในฐานะประธานกลุ่มแปลงใหญ่ไม่ได้เน้นเรื่องรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก แต่มองเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสมาชิกกลุ่มมากกว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปหลังมีการรวมกลุ่มแปลงใหญ่คือสมาชิกไม่ได้ปลูกอ้อยแบบเดิมๆ มีหลักวิชาการมากขึ้น รู้จักบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแบ่งพื้นที่บางส่วนมาปลูกพืชผัก ขุดบ่อน้ำไว้ใช้ในไร่และเลี้ยงปลาควบคู่กันไป เพราะปลูกอ้อยอย่างเดียวมีรายได้แค่ปีละครั้ง ต้องปลูกพืชอื่นที่สามารถเอาไว้กินเอง เหลือก็ขายเป็นรายได้รายวันอีกทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มและสมาชิกยึดแนวทางการทำเกษตรผสมผสานและหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนและมีความสุข” นายดิลก กล่าว

 

สำหรับอ้อยเป็นพืชไร่ที่ไม่มีปัญหาด้านราคา เนื่องจาก มี พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทรายควบคุม ดังนั้น เกษตรกรรายใดที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า รายได้จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กลุ่มแปลงใหญ่อ้อยหมู่ที่ 5 ตำบลหนองคอนไทย จึงมุ่งเน้นส่งเสริมสมาชิกกลุ่มให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งการปรับพื้นที่เตรียมแปลงรองรับรถตัดอ้อย เพื่อทดแทนการใช้แรงงาน เป็นการแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนและยังลดต้นทุนได้ด้วย

เนื่องจากค่าจ้างแรงงานคิดเป็นค่าตัดและค่าขนขึ้นรถรวมแล้วประมาณ 240 บาท ต่อตัน ขณะที่รถตัดอ้อยอยู่ที่ 190 บาท ต่อตัน การใช้รถตัดอ้อยในการเก็บเกี่ยวยังช่วยให้อ้อยสด สะอาด มีใบคลุมดิน จัดการอ้อยตอได้รวดเร็ว ที่สำคัญลดการเผาใบซึ่งสร้างปัญหาฝุ่นควันและมลพิษ อีกทั้งการปลูกอ้อยระยะห่างระหว่างร่องมากขึ้น จากเดิม 1-1.5 เมตร มาเป็น 1.85 เมตร จะช่วยลดการใช้ท่อนพันธุ์ จาก 1.5 ตัน เหลือ 1.2 ตัน แม้จำนวนร่องปลูกจะลดลง แต่สามารถบริหารจัดการแปลงได้สะดวกยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญของเกษตรกรชาวไร่อ้อย คือ แหล่งน้ำ หากไม่มีแหล่งน้ำในแปลง รอแต่น้ำฝนเสี่ยงมากที่จะไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร ทางกลุ่มแปลงใหญ่พยายามที่จะประสานไปยังโรงงานน้ำตาลขอสนับสนุนเจาะบ่อน้ำในราคาสินเชื่อต่ำ รวมทั้งขอแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน หรือบ่อจิ๋วของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อให้สมาชิกกลุ่มได้มีแหล่งน้ำในแปลง พร้อมกับส่งเสริมให้ทำระบบน้ำหยด ซึ่งประหยัดน้ำและให้น้ำได้เร็วกว่าน้ำราด