กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง แหล่งผลิตใหญ่ ข้าวสังข์หยด ข้าวจีไอ รายแรกของประเทศ

จากข้อมูลเชิงสถิติของสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ระบุว่า ข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมือง และได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เป็นรายแรกของประเทศนั้น ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกลดลง ซึ่งก่อนหน้านั้น พื้นที่ปลูกข้าวสังข์หยดของจังหวัดพัทลุง มีมากถึง 30,000 ไร่ และพบว่าปลูกมากในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอควนขนุน และอำเภอปากพะยูน

จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ทำให้ทราบว่า การลดพื้นที่ปลูกข้าวสังข์หยด ซึ่งถือเป็นปัญหาในเชิงการอนุรักษ์ข้าวพื้นเมืองสายพันธุ์ดี มีผลสืบเนื่องมาจากหลายสาเหตุ ปัญหาหนึ่งคือผลผลิตต่อไร่ของข้าวสังข์หยดน้อย เมื่อเทียบกับข้าวสายพันธุ์ทั่วไป ยิ่งเมื่อรัฐบาลออกมาตรการประกันราคาข้าว และโครงการจำนำข้าว ยิ่งทำให้เกษตกรส่วนใหญ่บ่ายหน้าไปปลูกข้าวสายพันธุ์อื่นแทน อย่างไรก็ตาม การลดพื้นที่ปลูกข้าวสังข์หยดลงนั้น ยังพบด้วยว่า การส่งเสริมให้ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งอัตราการต่อรองราคาในทางการตลาดมีสูงกว่า ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งเห็นพ้อง ตัดสินใจปรับพื้นที่นาเป็นสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันแทน

แต่ยังคงมีเกษตรกรอีกหลายกลุ่มที่พยายามคงเอกลักษณ์ของข้าวสังข์หยดในพื้นที่จังหวัดพัทลุงไว้ โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง หมู่ 13 ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งถือได้ว่า เป็นกลุ่มวิสาหกิจขนาดใหญ่ มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนทุกด้าน เกี่ยวกับข้าวสังข์หยด

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง เดิมเป็นเพียงกลุ่มออมทรัพย์เล็กๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อออมเงินสำหรับชุมชน แต่เพิ่มจำนวนสมาชิกขึ้น เมื่อมีโรงสีข้าวเป็นของกลุ่มเอง และเพิ่มจำนวนสมาชิกจากกลุ่มออมทรัพย์เล็กๆ ที่มีเพียง 55 คน เป็น 104 คน ในปี และมีสมาชิกลาออกจากกลุ่มไปบ้าง มีหุ้นทั้งสิ้นประมาณ 500,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 100-2,000 บาท

จากกลุ่มออมทรัพย์เล็กๆ เติบโตและขยายฐานกลุ่มขึ้นเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพราะปัจจัยเพียง 2 เหตุ คือ ความลำบากของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสังข์หยด ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าข้าวคนกลาง กดราคารับซื้อ เกษตรกรหลายรายถอดใจ ปรับเปลี่ยนจากการทำนาเป็นพืชชนิดอื่น หรือไม่ก็เลือกข้าวสายพันธุ์อื่นที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง และปลูกได้ไม่น้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง รวมถึงเงินออมของกลุ่มออมทรัพย์ที่มีเหลือมากหลายล้านบาท จึงมีแนวคิดนำมารับซื้อข้าวจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสังข์หยดด้วยกันเอง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

นับว่าเป็นโอกาสอันดีของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง ในปี 2546 ที่เริ่มจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รับซื้อข้าวจากเกษตรกรแทนพ่อค้าคนกลาง โดยให้ราคารับซื้อสูงที่สุดของราคาตลาด ทั้งนี้ เพื่อให้มีอำนาจต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางได้มากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัด มอบหมายให้สหกรณ์จังหวัดเป็นผู้ดูแล มีการจัดหางบประมาณจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ สร้างโรงสีขนาด 12 ตันต่อวัน เครื่องอบลดความชื้นขนาด 30 ตันต่อวัน และได้รับการสนับสนุนจากโครงการเอสเอ็มแอล สร้างโรงเรือนเก็บข้าวเปลือก โดยกลุ่มรับซื้อข้าวเปลือกราคาเกวียนละ 1.3 หมื่นบาท พอสิ้นปีมีเงินปันผลให้อีก ส่งให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

เกือบ 10 ปีเต็ม วันนี้กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่ออนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค กับผลิตภัณฑ์ “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” ยี่ห้อ “เขากลาง” เพราะนอกจากให้คุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว ทุกขั้นตอนการผลิตตั้งแต่เตรียมดิน คัดสรรเมล็ดพันธุ์ ใส่ปุ๋ย สี บรรจุถุง ผ่านการควบคุมจากศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวพัทลุง ผ่านระบบจัดการคุณภาพปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agriculture Practice :GAP) และนับเป็นข้าวพันธุ์แรกของไทยที่ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) เพื่อคุ้มครองตามกฎหมายในสิทธิชุมชนผู้ผลิตอีกด้วย

คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ข้าวสังข์หยดพัทลุงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่องสุขภาพรวดเร็ว จนทำให้กลุ่มไม่สามารถกระจายสินค้าให้ผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัด จัดหาช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้น เช่น ศูนย์โอท็อปพัทลุง ที่ทำการ อบจ.ไปรษณีย์จังหวัด ม.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ และได้รับการสนับสนุนจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาพัทลุง ให้วางจำหน่ายด้วย