คู่มือจัดเตรียมสถานที่ปลูกกัญชง ให้ถูกระเบียบ อย.

“กัญชง” เป็นพืชสมุนไพรที่มากคุณค่า ยุโรป ใช้กัญชงเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ ผ้า เส้นใย และเชือกตั้งแต่สมัยโบราณ

ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปส่งเสริมให้สมาชิกแต่ละประเทศปลูกกัญชาเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์อย่างแพร่หลายนับตั้งแต่ปี 1970เป็นต้นมา เพราะมองว่า กัญชง เป็นพืชที่มีความยั่งยืน ทนทานต่ออุณหภูมิและสภาพอากาศหนาวเย็นของยุโรปได้อย่างดีแล้ว ยังเป็นที่ปลอดจากวัชพืช เจริญเติบโตง่าย เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ไม่ต้องการปุ๋ย สามารถปลูกติดต่อกันได้ โดยไม่ต้องปลูกพืชอื่นสลับหมุนเวียน ทุกวันนี้ ประเทศฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ นับเป็นแหล่งปลูกกัญชงที่สำคัญของภูมิภาคยุโรป

ปัจจุบัน รัฐบาลไทยผลักดันให้ “กัญชง” ให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกกัญชง เนื่องจากกัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจได้สูงในอนาคต เพราะแทบทุกส่วนของกัญชงตั้งแต่ ช่อดอก ใบ เมล็ด เปลือก ลำต้น ยังสามารถนำไปใช้แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรมได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเวชภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง อาหาร เครื่องดื่ม อาหารเสริม อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมเส้นใยสิ่งทอ แฟชั่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติกชีวภาพ ฯลฯ

ภายใต้นโยบายการสนับสนุนของภาครัฐ รวมทั้งกระแสตอบรับทางการตลาด ของภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภค ส่งผลให้เกษตรกรจำนวนมาก สนใจอยากปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องยื่นขออนุญาตกัญชงด้วยตนเองเป็นรายบุคคล กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการขึ้นทะเบียนปลูกกัญชงตามกฎหมาย

ผู้ปลูกกัญชงไม่สามารถใช้ใบอนุญาตเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่าย หรือนำใบอนุญาตของบุคคลอื่นมาสวมได้ เนื่องจากต้องระบุพื้นที่ปลูกอย่างชัดเจน เปลี่ยนพื้นที่ปลูกไม่ได้ และต้องปลูกกัญชงตามระยะเวลาที่ขออนุญาตเท่านั้น

การจัดเตรียมสถานที่ปลูกกัญชง

ภก.สัญชัย จันทร์โต เภสัชกรชำนาญการ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ให้คำแนะขั้นตอนจัดเตรียมสถานที่ปลูกกัญชาอย่างไรให้ถูกต้องตามระเบียบ อย. (ถอดความจากเวทีสัมมนาหัวข้อ การกำกับดูแลและการนำ “กัญชาและกัญชง”ไปใช้ประโยชน์ภายใต้กฏหมายใหม่  ในงานมหกรรมกัญชง กัญชา 360° จังหวัดบุรีรัมย์ 6 มีนาคม 2564)

ภก.สัญชัย กล่าวว่า อย. ได้วางระเบียบขั้นตอนหรือมาตรฐานสถานที่การปลูกกัญชง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 ซึ่งใจความสำคัญดังนี้

1. ให้เลือกรูปแบบสถานที่ปลูก (การปลูกในระบบเปิด การปลูกในระบบกึ่งเปิด การปลูกในระบบปิด) ทางอย.ไม่ได้บังคับ สามารถเลือกปลูกได้ทั้งหมด

2. ข้อกำหนดด้านสถานที่ (การจัดเตรียมพื้นที่ปลูก) ต้องระบุเรื่องของแผนที่ที่ตั้งให้ชัดเจน สิ่งปลูกสร้างรอบๆ รวมทั้งเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ และแยกแบบแปลนแยกกับพืชอื่น

2.1 การตรวจสอบพิกัดสถานที่ GPS ของพื้นที่เฉพาะปลูก เพราะกัญชงนี้ เจ้าหน้าที่จะลงตรวจสอบก่อนได้รับอนุญาตทั้งหมด จะไม่ได้ตรวจจากภาพถ่าย

2.2 พื้นที่ปลูก ต้องจัดให้มีแนวเขตพื้นที่ปลูกที่เห็นได้ชัดเจน กำหนดบริเวณพื้นที่ปลูกที่ชัดเจน พื้นที่ปลูกต้องแยกจากการปลูกพืชชนิดอื่นเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน

2.3 กรณีที่ปลูกในระบบปิดหรือการปลูกในระบบกึ่งเปิด ให้แสดงแบบแปลนพื้นที่ปลูก และภาพถ่ายบริเวณภายนอกรวมถึงบริเวณภายในอาคารหรือโรงเรือน สำหรับการปลูกในระบบเปิดให้แสดงแบบแปลนพื้นที่ปลูก ภาพถ่ายแปลงปลูกและบริเวณโดยรอบ เพื่อใช้ประกอบการขออนุญาตและการตรวจสอบ

3. ข้อกำหนดด้านการรักษาความปลอดภัย จัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยในบริเวณ พื้นที่ปลูกและครอบคลุมบริเวณที่มีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ หรือกัญชงหลังจากดำเนินการเก็บเกี่ยวแล้ว (แยกเก็บกัญชงเป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกับวัตถุอื่นๆ เช่น ตู้เก็บ หรือกล่องเก็บที่มีกุญแจล็อกเพื่อป้องกันการเข้าถึง) ในกรณีที่มีช่อดอก บริเวณรั้วตรงมีลวดหนาม ประตูต้องมีระบบล็อกป้องกันการเข้าถึงจากบุคคลภายนอก หากปลูกเอาเส้นใยไม่ต้องรั้ว (หากปลูกในชุมชนต้องมีรั้ว)

4. ข้อกำหนดเรื่องการควบคุมการปลูก ต้องระวังในเรื่องของโลหะหนัก สารปนเปื้อน ยาฆ่าแมลง เพราะพวกช่อดอกจะนำไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้

5. ข้อปฏิบัติในการดำเนินการเกี่ยวกับกัญชง

5.1 หมวดสถานที่ (จัดทำป้ายที่ทำจากวัตถุถาวร ในขนาดที่เหมาะสม ระบุว่าเป็นสถานที่ผลิต/จำหน่าย/นำเข้า/ส่งออก กัญชง แสดงใบอนุญาต และวันที่สิ้นสุดการอนุญาต)

5.2 หมวดการจัดวิเคราะห์เพื่อหาปริมาณสาร (ต้องการตรวจหาสารค่า THC ก่อนนำมาจำหน่ายหรือออกมาจากสถานที่ปลูก)

5.3 หมวดการเก็บเกี่ยว

5.4 กำหนดขั้นตอนและวิธีการควบคุมการทำลาย

5.5 หมวดการขนส่ง

5.6 หมวดการตรวจสอบการจัดทำบัญชีรับ-จ่าย

5.7 หมวดทั่วไป