เอสทีฯ เผยยอดขายปุ๋ยอินทรีย์พุ่ง เทรนด์รักสุขภาพผู้บริโภคหันใช้สินค้าปลอดเคมี

“เอสที เฟอร์ทิลิตี้” รับอานิสงส์เทรนด์รักสุขภาพ-สังคมสูงวัย ดันยอดขายปุ๋ยอินทรีย์พุ่ง พร้อมทุ่ม 60 ล้าน ขอ BOI ขยายโรงงาน 60,000 ตัน ต่อปี

นายสมบัติ สุขมะณี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสที เฟอร์ทิลิตี้ จำกัด ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยอินทรีย์เคมีสำหรับภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เทรนด์ความต้องการบริโภคของประชาชนที่เน้นดูแลสุขภาพและการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ส่งผลดีทำให้แต่ละปีผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2560 บริษัทได้เตรียมเงินลงทุนไว้ประมาณ 50-60 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจาก 20,000 ตัน ต่อปี เป็น 60,000 ตัน ต่อปี ทั้งนี้ ตามแผนที่วางไว้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เรื่องมาตรการทางด้านภาษี เพื่อขยายโรงงานผลิตในพื้นที่โรงงานเดิมที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนครปฐม

ส่วนแผนการลงทุนในต่างประเทศได้เริ่มเข้าไปทำตลาดที่กัมพูชา กลางปี 2559 โดยบริษัทได้รับใบอนุญาตผลิต 21 ลิขสิทธิ์ และที่เมียนมา เข้าไปทำตลาดปลายปี 2559 ได้รับใบอนุญาตผลิต 1 ลิขสิทธิ์ ร่วมกับพาร์ตเนอร์ 1 ราย ทั้งนี้ บริษัทยังไม่พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตต่างประเทศ เนื่องจากตลาดแต่ละแห่งยังมีความต้องการไม่สูงมาก ขณะเดียวกันเวลาศึกษาเก็บข้อมูล แต่หากมีออเดอร์ให้กับแบรนด์รายใหญ่ปริมาณมากกว่า 10,000 ตัน นับว่าน่าสนใจ สำหรับประเทศลาว ถือเป็นเป้าหมายอีกแห่งที่เตรียมเปิดตลาด คาดว่าภายใน 3 ปี สัดส่วนการส่งออกในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 30% จากปัจจุบัน 10-15% จะทำให้มีรายได้รวมทั้งหมดถึง 400 ล้านบาท จากปัจจุบันประมาณ 100 ล้านบาท

“การมีกลุ่มลูกค้าหลากหลายและหลายตลาด คือการกระจายความเสี่ยง เช่น ปุ๋ย เราปรับสูตรตามพืชแต่ละกลุ่มเป้าหมาย มีทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง เป็นต้น การผลิตปุ๋ยที่ใช้กับหลายพืช ทำให้เมื่อเกิดวิกฤตอย่างภัยแล้ง น้ำท่วม พืชบางชนิดได้รับผลกระทบ แต่เราไม่ได้รับผลกระทบหรือเสียตลาดยอดขายไปในตอนนั้นไป เพราะเรามีปุ๋ยตัวที่ขายให้กับพืชชนิดอื่นด้วย เช่นเดียวกันกับการมีตลาดทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ วันใดที่ประเทศหนึ่งเกิดปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี เรามีอีกประเทศหนึ่งสร้างรายได้ให้เราได้อยู่ ดังนั้น นักธุรกิจหลายคนควรเลือกกระจายความเสี่ยงด้วยการบริหารแบบนี้ จะทำให้ธุรกิจเราอยู่รอดได้”

ปัจจุบัน บริษัทเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) ป้อนให้กับเทรนด์เดอร์ ประมาณ 20 แบรนด์ ในประเทศไทย เช่น ตรานิลเพชร ปริมาณเติบโตจากการใช้จริงเฉลี่ยโดยเฉพาะกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ 8-9 ล้านตัน/ปี สามารถส่งสินค้าออกขายต่างประเทศในแถบอาเซียนได้เกือบทั้งหมด เป็นผลมาจากการที่บริษัทมีผลิตภัณฑ์แตกต่างจากคู่แข่ง ความได้เปรียบที่ตนเป็นนักวิชาการเกษตรอยู่แล้ว รวมถึงเคยทำงานกับ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิควิชาการหลายด้านจากต่างประเทศ จากนั้นนำมาพัฒนากับสินค้าและการดำเนินธุรกิจของบริษัทเองรวมไปถึงการที่บริษัทได้ผ่านการอบรมกับทางบีโอไอ ในโครงการอบรมหลักสูตรสร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ ทำให้สามารถวิเคราะห์ตลาดปัจจุบัน เทรนด์อนาคต และความต้องการของลูกค้าได้ ปัจจุบัน จึงมีศักยภาพที่จะส่งสินค้าออกขายต่างประเทศในสัดส่วนถึง 10-15% ขายในประเทศประมาณ 85% ขณะที่มูลค่าตลาดปุ๋ย 50,000-60,000 ล้านบาท

“เราไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ เพราะเทรนด์การทานอาหารปลอดภัยมากขึ้น เติบโตตลอดเวลาจากความต้องการที่มากขึ้น และคนยังมีกำลังซื้อ ซึ่งเราเห็นเทรนด์คนรักสุขภาพมา 15 ปีแล้ว ภาครัฐเริ่มปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับสารอาหาร องค์ประกอบในปุ๋ยเมื่อปี 2550 เราจึงปรับสูตรการผสมและเน้นมาที่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอนินทรีย์ เป็นโมเดลธุรกิจเพื่อแนะนำให้ทั้งผู้บริโภค ผู้ปลูกหันมาใส่ใจเรื่องการปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำคือการปลูก ปัญหาตอนนี้เกษตรกรขาดความรู้ ยังใช้ปุ๋ยเคมีในพืชที่ปลูกเพื่อบริโภคหลายชนิดสัดส่วนถึง 90% และใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพียง 10% เท่านั้น”

ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบในประเทศ โดยเฉพาะควบคุมการใช้สารเคมีที่เป็นองค์ประกอบตั้งแต่การปลูก เพื่อตระหนักถึงสินค้าที่ปลอดภัยในการบริโภค และป้องกันไม่ให้ถูกหลายประเทศใช้มาตรการกีดกันทางการค้า เพราะพบสินค้าส่งออกไทยปนเปื้อนสารเคมีซึ่งเป็นการปกป้องพลเมืองในประเทศ

 

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ