เรื่องเล่าว่าด้วยข้าวของโลก ตอน ข้าวเวียดนาม

นับย้อนหลังไปสัก 10 ปี เวียดนามไม่เคยเป็นคู่แข่งของไทยในเรื่องการค้าหรือส่งออกข้าว แม้จะผลิตข้าวเหมือนกัน แต่เป็นที่รู้กันว่าผลผลิตข้าวเวียดนาม ทั้งปริมาณและคุณภาพ ยังห่างไกลข้าวจากไทยอีกมาก           

ข้อเท็จจริงเมื่อ 20 ปีก่อนนั้นทำให้พี่ไทยลืมไปว่า ทุกอย่างพัฒนาการได้

วันนี้เวียดนามกลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ คุณภาพข้าวของเวียดนามพัฒนาไปไกล และแม้จะยังไม่มีข้าวคุณภาพระดับเทพอย่างข้าวหอมมะลิจากไทย แต่เวียดนามมีข้าวหอมมะลิของตัวเอง ส่งไปขายทั่วโลก ภายใต้ชื่อ Jasmine Rice เหมือนกัน และก็ขายดิบขายดี โดยพี่ไทยทำอะไรได้ไม่มาก นอกจากโวยว่าเขาเลียนแบบ แต่กระนั้นก็ทำอะไรตลาดข้าวเวียดนามไม่ได้ ข้าวสารที่ขายในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มาจากเวียดนามเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าคนไทยจะโวยต่ออีกว่าที่จริงก็ข้าวไทยนั่นแหละ แต่เอาไปใส่ตราเวียดนามแต่ก็นั่นแหละ คนเขารู้จักว่าข้าวสารที่ขายดีในสหรัฐอเมริกา คือ ข้าวเวียดนาม (เหมือนซอสพริกศรีราชา ที่เริ่มจากไทย แต่ตอนนี้กลายเป็นยี่ห้อของซอสพริกเวียดนามไปแล้ว)

3

เวียดนาม มีพื้นที่ 3 แสนกว่าตารางกิโลเมตร เป็นป่าเสีย 1 ใน 3 และราว ร้อยละ 20 ใช้เพาะปลูกพืชตามฤดูกาล มีประชากร 87 ล้านคน เรียกว่าทั้งขนาดทั้งคนไม่ได้ไกลเกินกว่าไทยสักเท่าไหร่

โครงสร้างประชากรของไทยกับเวียดนามก็ไม่ต่างกันมาก คนเวียดนาม ร้อยละ 70 ของประชากรอาศัยอยู่นอกเมือง ประชากรในวัยทำงาน มีราว 50 ล้านคน เกินครึ่งอยู่ในภาคเกษตร

6

2-3 ปีมานี่ เวียดนามเป็นประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่ อันดับ 5 ของโลก ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 25 ล้านตัน ในปี 2538 มาเป็น 40 ล้านตัน ในปี 2553 ที่เพิ่มนี่มาจากทั้งการเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าว และการพัฒนาคุณภาพข้าว ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น คือเพิ่มจาก 3.7 ตัน ต่อเฮกตาร์ ในปี 2538 (1 เฮกตาร์ เท่ากับ 6.25 ไร่) เป็น 5.3  ตัน ในปี 2553

เขาพัฒนาทั้งพันธุ์ การใช้ปุ๋ย และกระบวนการเพาะปลูกที่เหมาะสม พื้นที่ในเขตชลประทานกว่าร้อยละ 90 ถูกนำมาปลูกข้าว ปัจจุบัน เวียดนาม มีพื้นที่ปลูกข้าวเกือบ 50 ล้านไร่

ราว 10 ปีก่อน ข้าวจากเวียดนามลดลงไปพักใหญ่ เพราะพื้นที่เพาะปลูกถูกนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมมาก และปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น ผู้รู้วงการข้าวเวียดนามบอกว่าหากยังขยายพื้นที่อุตสาหกรรมเบียดบังพื้นที่ปลูกข้าวอย่างนี้ต่อไป เวียดนามจะมีปัญหาในการส่งออก ตั้งแต่ ปี 2563 เป็นต้นไป

7

นอกจากผลิตเพื่อส่งออกแล้ว ข้าวยังเป็นอาหารหลักของคนเวียดนาม คนเวียดนามกินข้าว เฉลี่ยคนละ 141.2กิโลกรัม ต่อปี นี่รวมทั้งที่แปลงกายเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว กวยจั๊บ และแผ่นเปาะเปี๊ยะแล้วนะ

ปัญหาของชาวนาเวียดนามก็ไม่ต่างจากชาวนาไทย นอกจากพื้นที่เพาะปลูกถูกเปลี่ยนเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเสียเยอะต่อเยอะแล้ว ความยากจนและการเข้าถึงเงินทุนจำกัด ยังทำให้พวกเขาไม่สามารถเงยหน้าอ้าปากได้ สถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน ยังให้การสนับสนุนชาวนาน้อยมาก

นอกจากนั้น ก็มีปัญหาน้ำไม่เพียงพอในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ดอน และยังเจอน้ำท่วมในฤดูมรสุมหรือยามไต้ฝุ่นอาละวาด

2

และที่เหมือนยิ่งกว่าเหมือนกับเมืองไทยคือ ชาวนาเวียดนามเป็นเจ้าของที่ดินแปลงเล็ก และมีศักยภาพจำกัดในการพัฒนาอาชีพของตนเอง

เวียดนามมีลมมรสุมพัดผ่านปีละ 2 ครั้ง ทั้งในหน้าร้อนและหน้าหนาว และมีไต้ฝุ่นมาอาละวาดในหน้าร้อนอยู่เนืองๆ มีฝนปีละ 1,300 ถึง 2,300 มิลลิเมตร นับว่ามากน่าชื่นชม ฝนส่วนใหญ่มาช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมหรือไปจนถึงพฤศจิกายน แต่ถ้าเป็นแถวสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ฝนจะอยู่ยาวปีละ 5-6 เดือน แต่ละเดือนมากกว่า 100 มิลลิเมตร ตกหนักสุดน่าจะเป็นเดือนตุลาคม

พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจึงเป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญที่สุด ปลูกได้ปีละ 3 ครั้งทีเดียว ส่วนพื้นที่ปากแม่น้ำแดงรองลงมาปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง เฉพาะ 2 พื้นที่นี้ปลูกข้าวได้เกือบ ร้อยละ 20 ของประเทศ

4

เวียดนามพยายามจะขยายตลาดตัวเองทุกวิถีทาง เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ World Trade Organization เมื่อมกราคม 2550 เป็นคู่เจรจาวง Trans-Pacific Partnership เป็นสมาชิกเอเปค และลงนามการค้าระดับทวิภาคีกับอีกมากมายหลายประเทศทั่วโลก

รัฐบาลเวียดนามควบคุมตลาดค้าข้าวในประเทศ ผ่านรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือผ่านสมาคมการค้าอาหาร (the Vietnam Food Association : VFA) ที่รัฐมีบทบาทสูงมาก และไม่เป็นเรื่องแปลกสำหรับประเทศสังคมนิยมพรรคเดียว

VFA จะเป็นตัวกลางซื้อข้าวจากชาวนาเพื่อพยุงราคาไม่ให้ต่ำเกินไป และไม่ให้พ่อค้าส่งออกเอาเปรียบชาวนาโดยการกดราคารับซื้อ เรียกว่ารัฐเป็นผู้กำหนดราคาผ่านกลไกที่มีในมือนั่นเอง

ราคาข้าวของเวียดนามจึงถูกกว่าข้าวไทยในตลาดโลกเสมอมา และอาจตลอดไป ถ้าโรงงานอุตสาหกรรมไม่ขย้ำนาข้าวไปหมดเสียก่อน

……………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน ์เป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2564

……………..

ร่วมส่งเสียงเชียร์นักกีฬาไทยในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ให้สุดแรงใจ พร้อมร่วมสนุกกับแคมเปญกีฬาสุดยิ่งใหญ่’ ‘MATICHON – KHAOSOD SEA GAMES 2022’ โดยมติชน-ข่าวสด ในเครือมติชน ได้ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน ถึง 26 พฤษภาคมนี้ และสามารถติดตามข่าวสารอัปเดตซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ได้ทุกสื่อในเครือมติชน ที่ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม ทั้งสิ่งพิมพ์ ออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย

#ซีเกมส์ #ซีเกมส์2021 #ซีเกมส์2022