เผยแพร่ |
---|
“เนื่องจากในปัจจุบัน เกษตรกรของจังหวัดตราดจำนวนไม่น้อยได้หันมาปลูกทุเรียน แทนการปลูกยางพารา เนื่องจากขายได้ราคาดี มีตลาดต่างประเทศรองรับ ที่สำคัญมีแหล่งน้ำเพียงพอในการนำมาบำรุงต้นทุเรียน เช่น ที่บ้านคลองมะนาว ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ มีอ่างเก็บน้ำคลองมะนาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นเขื่อนดินยาว 630.0 เมตร สูง 10.80 เมตร สันเขื่อนกว้าง 6.00 เมตร ความจุ 650,000 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์มีน้ำอย่างเพียงพอตลอดทั้งปีกว่า 650 ไร่”
นายชยุธกฤดิ นนทแก้ว เกษตรจังหวัดตราด เปิดเผยถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการทำการเกษตรในพื้นที่จังหวัดตราด ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมสนองงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ
เกษตรจังหวัดตราด กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันเป็นพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกับภาคใต้ คือ ฝน 8 แดด 4 เมื่อฝนตกลงมาอ่างเก็บน้ำคลองมะนาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริลูกนี้ ได้ช่วยเก็บกักน้ำเอาไว้ให้เกษตรกรได้ใช้ในช่วงที่เกิดฝนทิ้งช่วงและช่วงหน้าแล้ง ทำให้พืชที่ปลูกไม่ขาดแคลนน้ำ ยังผลให้ผลผลิตออกมาดี มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด
“จากความเหมาะสมของพื้นที่ในการทำการเกษตร ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด จึงน้อมนำพระราชดำริ ในการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานให้ชาวไทยมาส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปฏิบัติใช้ควบคู่กับการปลูกพืชหลัก คือ ทุเรียน เพื่อเป็นการรองรับ หากปีใดราคาทุเรียนตกต่ำหรือมีปัญหากับการขนส่งก็จะมีพืชอื่นๆ เข้ามารองรับให้เกษตรกรมีรายได้ต่อเนื่อง อย่างน้อยก็มีกินจากพืชผักที่นำมาปลูก”
นายชยุธกฤดิ กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ให้กับเกษตรกรในพื้นที่นั้น ทางสำนักงานเน้นการพัฒนาคน ด้วยความสมัครใจ พื้นที่เหมาะสม สินค้าตามที่ตลาดต้องการ ทำจริง ทำต่อเนื่อง และยั่งยืน โดยเฉพาะทุเรียนที่เกษตรกรปลูก มุ่งส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพ เนื่องจากมีแหล่งน้ำสมบูรณ์ ทุเรียนมีคุณภาพ รสชาติดี กลิ่นหอม สีสวย หวานละมุน และรูปทรงตรงตามความต้องการของตลาด
“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสานรักษาต่อยอดงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการทำเกษตรในพื้นที่จังหวัดตราด ที่ปัจจุบันมีมากถึง 7 โครงการ ได้รับการพัฒนาต่อยอดให้เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและเพิ่มมากขึ้น” นายชยุธกฤดิ กล่าว
ด้าน นายชายดาว ขำวงศ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ กล่าวว่า เมื่อก่อนในพื้นที่มีการสู้รบเนื่องจากติดกับประเทศกัมพูชาราษฎรส่วนใหญ่อพยพจากพื้นที่ริมป่ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินที่ชายทะเล ทำการประมงเป็นหลัก ต้องใช้น้ำบ่อที่ขุดขึ้นมา ต้องไปแย่งน้ำกัน ต่อมาเมื่อสถานการณ์สงบลง ราษฎรเริ่มกลับไปทำการเกษตรเช่นเดิม แต่มีปัญหาเรื่องน้ำที่ใช้บำรุงต้นพืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาสำรวจเพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ 9 ทุกคนดีใจและเห็นด้วยกับการเกิดขึ้นของโครงการ ได้ร่วมกันบริจาคพื้นที่ทำกินเพื่อสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำ
“พอสร้างอ่างเก็บน้ำเสร็จ พี่น้องคลองมะนาวต่างเฮกันอย่างทั่วหน้า มีน้ำใช้ทั้งปี จวบจนทุกวันนี้ ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดี กินดี มีสวนทุเรียน แต่ก่อนมีแต่ป่า ปลูกยางพารา ขณะนี้เปลี่ยนมาเป็นสวนทุเรียน เพราะผลผลิตมีราคาดีกว่ายางพารา แต่ละปีมีรายได้ดีมาก” นายชายดาว กล่าว
สำหรับทุเรียนที่เกษตรกรในพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี ซึ่งให้ผลผลิตดี โดย นายชายดาว บอกว่า มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด เข้ามาดูแลให้คำแนะนำในการบำรุงต้นทุเรียน ตั้งแต่ระยะการให้น้ำ การตัดแต่ง การกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี สนับสนุนใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ขี้ค้างคาว หรือกระดูกป่น โดยใส่เดือนละครั้งหลังการเก็บเกี่ยวผล ได้รับการถ่ายทอดวิธีการกำหนดระยะการออกผล เพื่อให้ผลผลิตออกมาไม่กระจุกตัว และตรงตามที่ตลาดต้องการ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ซึ่งตลาดหลักอยู่ที่ประเทศจีน โดยส่งผ่านทางประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ส่วนหนึ่งก็จำหน่ายภายในประเทศ
“ปัจจุบัน มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ มีสมาชิก 187 ครัวเรือน มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งการใช้บำรุงต้นพืช การใช้ในครัวเรือน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่มีอ่างเก็บน้ำคลองมะนาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้ราษฎรมีน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคอย่างเพียงพอ ทำให้มีรายได้ที่มั่นคง ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัดเจน” นายชายดาว กล่าวในที่สุด