ธ.ก.ส. เดินหน้า สนับสนุนสินเชื่อล้านละร้อย พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก-คุณภาพชีวิตชนบท

เมื่อเร็วๆ นี้ สื่อมวลชนจากส่วนกลาง ได้มีโอกาสติดตาม คุณธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปเยี่ยมชมความสำเร็จของโครงการสินเชื่อธุรกิจสร้างไทย ซึ่งชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “โครงการล้านละร้อย” ในพื้นที่ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช

ย้อนกลับปี 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทย ฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนเสียหาย อันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ รวมทั้งผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ และสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ โคเนื้อขุน กระบือเนื้อ แพะเนื้อ และไก่พื้นเมือง

กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อตามมติ ครม. (26 พ.ย. 62) ภายใต้ชื่อ ธุรกิจชุมชนสร้างไทย ซึ่งเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 0.01 ต่อปี (กู้ 1 ล้าน ดอกเบี้ย 100 บาท ต่อปี) ให้แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ที่สนใจอาชีพเลี้ยงสัตว์ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำการผลิต” เพื่อลดความเสี่ยงด้านภาระหนี้สิน เป็นการเพิ่มทางเลือกและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร

คุณสมเกียรติ กิมาวหา รอง ผจก. ธ.ก.ส. ด้านพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ถ่ายรูปกับลูกแพะ

ธ.ก.ส. ได้กำหนดวงเงินสินเชื่อโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย รวม 50,000 ล้านบาท (ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 พฤศจิกายน 2565) เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย จะได้รับสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนและเงินทุนหมุนเวียน ในอัตราดอกเบี้ย ล้านละ 100 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันกู้ หลังจากนั้น ปีที่ 4 เป็นต้นไป ธ.ก.ส. คิดอัตราดอกเบี้ยตามเกณฑ์ปกติ กำหนดชำระคืนเงินกู้กรณีค่าใช้จ่ายหมุนเวียน ไม่เกิน 12 เดือน (พิเศษไม่เกิน 18 เดือน) กรณีค่าลงทุน ไม่เกิน 15 ปี (พิเศษไม่เกิน 20 ปี) นับแต่วันที่กู้

คุณธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ทั้งนี้ คุณธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายขับเคลื่อน ธ.ก.ส. เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท โดยกระบวนการทำงานให้ทันสมัย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการดูแลเกษตรกรลูกค้าให้สามารถยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน ผ่านมาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อที่วางไว้

หากใครสนใจ โครงการสินเชื่อโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ หรือ ธ.ก.ส. ในพื้นที่ได้ตลอดเวลา ในวันและเวลาราชการ

ผจก. ธ.ก.ส. ถ่ายรูปกับสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะสิชลก้าวหน้า

วิสากิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะสิชลก้าวหน้า

“คุณจารึก เพ็ชรด้วง” (โทร. 087-908-0227) ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะสิชลก้าวหน้า ตำบลเขาน้อย อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้การต้อนรับผู้จัดการ ธ.ก.ส. และคณะ ด้วยความยินดี

ชุมชนเลี้ยงแพะแห่งนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2556 โดย คุณจารึก เพ็ชรด้วง เริ่มอาชีพเลี้ยงแพะเพียงคนเดียวก่อน สามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่ดี ทำให้เกษตรกรรายอื่นสนใจทำอาชีพเลี้ยงแพะตามมาอีก 7 คน ต่อมาพวกเขาได้จดทะเบียนตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะสิชลก้าวหน้า กิจการของกลุ่มฯ เจริญเติบโตมาตามลำดับ จนถึงปัจจุบันมีเกษตรกรในพื้นที่ 6 ตำบล 13 หมู่บ้าน สนใจทำอาชีพเลี้ยงแพะ และสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มฯ แล้ว จำนวน 32 คน

(ซ้าย) คุณจารึก เพ็ชรด้วง ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ (ขวา) คุณธนารัตน์ ผจก. ธ.ก.ส.

กลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้ เป็นหนึ่งในสถาบันเกษตรกรตัวอย่างที่เข้มแข็ง ประสบความสำเร็จทางการตลาดอย่างน่าชื่นชม สามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกปีละ 1.5 แสนบาท ต่อคน จากการขายแพะเนื้อ ผลิตภัณฑ์จากแพะ เช่น โยเกิร์ตนมแพะ ขนมชั้นนมแพะ นมแพะสด สบู่นมแพะ กระเป๋าหนังแพะ ปุ๋ยมูลแพะ ฯลฯ

ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะสิชลก้าวหน้า ส่งเสริมการเลี้ยงแพะแบบครบวงจรให้กับชาวบ้านในชุมชน และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นานาชนิด ส่งขายในประเทศและต่างประเทศ แม้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกลุ่มจะเลี้ยงแพะขุน แพะตัวเมีย แต่พวกเขาไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันความต้องการของกลุ่มผู้รับซื้อและตลาดผู้บริโภค ราคาแพะจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ

แพะพันธุ์บอร์

นอกจากนี้ ยังเจอปัญหาอุปสรรคในเรื่องต้นทุนวัตถุดิบอาหารแพะที่มีราคาสูง รวมถึงวัสดุในการก่อสร้างคอกเลี้ยงก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ทำให้ทางกลุ่มฯ มีต้นทุนการผลิตที่สูงและไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันกับความต้องการของตลาด

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะสิชลก้าวหน้า จึงสมัครเข้าร่วมโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย กับ ธ.ก.ส. โดยได้รับสนับสนุนสินเชื่อ จำนวน 5,100,000 บาท ซึ่งทางกลุ่มฯ นำไปจัดซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ให้กับสมาชิก โดยแจกจ่ายแพะให้แก่สมาชิก รายละ 20 ตัว สามารถเพิ่มพ่อพันธุ์ 15 ตัว และแม่พันธุ์ 300 ตัว และทำให้เกิดลูกแพะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 300 ตัว

ผจก. ธ.ก.ส. เยี่ยมชมกิจการ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะสิชลก้าวหน้า

ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเลี้ยงแพะให้กับชุมชนแห่งนี้ ได้แก่การสร้างคอกเลี้ยงสัตว์ยกสูง ซึ่งมีข้อดีคือ อากาศถ่ายเทได้สะดวก และปูพื้นเป็นร่อง ทำให้มูลของแพะตกลงข้างล่าง พื้นคอกแห้ง สะอาดอยู่เสมอแล้ว เกษตรกรยังมีรายได้เพิ่มจากการเก็บมูลแพะไปขายเป็นปุ๋ยคอก เฉลี่ยกระสอบละ 30-50 บาท

นอกจากนี้ ยังแนะนำเทคนิคการผสมอาหารโดยใช้หัวอาหารผสมกับผักที่ปลูกในฟาร์ม ทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลง ขณะเดียวกัน กลุ่มเกษตรกรได้เรียนรู้เรื่องการแปรรูปเนื้อแพะ เช่น แพะเนื้อ แพะขุน แกงแพะ ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง แพะสวรรค์ ฯลฯ ทำให้สมาชิกกลุ่มฯ มีรายได้และผลกำไรเพิ่มมากขึ้น

เกษตรกรโชว์ผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปของกลุ่มฯ

ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะสิชลก้าวหน้า เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเลี้ยงแพะ  มีเกษตรกรและผู้สนใจแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมกิจการอย่างต่อเนื่องแล้ว ที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่อีกด้วย

กล่าวได้ว่า ทางกลุ่มฯ ประสบความสำเร็จทางการผลิตและการตลาดอย่างน่าชื่นชม เป็นตัวอย่างที่ดีของการประกอบอาชีพการเลี้ยงแพะของท้องถิ่น ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรแห่งนี้ได้รับรางวัลวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับประเทศ และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ในการประกวดสถาบันเกษตรกรดีเด่นระดับชาติ กรมปศุสัตว์ ประจำปี 2560

ขอขอบคุณ ข้อมูลและภาพประกอบข่าว จาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะสิชลก้าวหน้า