หมอเซ็งโฆษณาเกินเหตุ อ้างกาแฟเห็ดหลินจือแก้เบาหวาน

ไลน์แชตขายของระบาด อ้างกาแฟลดอ้วน แถมรักษาโรค หมอรามาฯ ร้อง อย.ตรวจสอบ ด้านเลขาฯ เตือน ปชช.อย่าหลงเชื่อไตร่ตรองให้ดี

ผู้สื่อข่าวรายงานจากการสนทนาในไลน์ของกลุ่มธุรกิจบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มปรึกษาหารือ สื่อสาร การให้ความรู้มาตรฐานการดูแลสถานประกอบการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกิจการด้านการดูแลสุขภาพ และดูแลผู้สูงอายุรวมกลุ่มกัน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ในกลุ่มดังกล่าวก็ได้รับข้อความเชิงโฆษณาชวนเชื่อจากผู้ที่ใช้ชื่อว่า Champpeach อ้างตัวว่าอาชีพพยาบาล มาโพสต์ข้อความขายกาแฟ ที่อ้างว่าสกัดมาจากเห็ดหลินจือสกัด โดยอ้างว่าเป็นยารักษาโรคเบาหวาน โรคอ้วน ลดไขมันในเลือด กินแล้วจะอ่อนกว่าวัย 5 ปี ที่สำคัญอ้างว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ได้รับการวิจัยและรับรองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์การเภสัชกรรมแล้ว โดยพยายามชักจูงให้สมาชิกในห้องดังกล่าวไปเป็นสมาชิกขายตรงกับตัวเอง สร้างความไม่พอใจแก่หมอหลายคนที่อยู่ในห้องไลน์ดังกล่าวอย่างมาก เพราะเห็นว่าโฆษณาที่เกินจริง แอบอ้างงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาชั้นนำมากมาย

โดยในห้องสนทนา นายแพทย์คนหนึ่งใช้ชื่อว่า Khanat ได้พยายามโต้แย้ง และบอกว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง และเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน รวมทั้งยืนยันว่างานวิจัยที่อ้างนั้นแท้จริงแล้ววิจัยแค่ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเห็ดหลินจือเท่านั้น ไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับกาแฟสกัดชนิดนี้ การออกมาอ้างว่ารักษาโรคเรื้อรังต่างๆ ให้หายขาดได้ จึงเป็นการให้ข้อมูลเท็จ ทำให้ประชาชนผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้

ผู้สื่อข่าวสอบถามเรื่องนี้ไปยัง นพ. ฆนัท ครุธกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนวิทยาคลินิก รพ.รามาธิบดี และที่ปรึกษากรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับการชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ตนได้แจ้งเรื่องนี้ไปยังสำนักงานอาหารและยาเข้าไปตรวจสอบผลิตภัณฑ์ชนิดนี้แล้ว ในขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมถึงปล่อยให้มีการโฆษณาออกมามากมายได้ขนาดนี้

นพ. วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ต้องมีการตรวจสอบเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ขอเตือนว่าอย่าหลงเชื่อการโฆษณาชวนเชื่ออวดอ้างสรรพคุณเหล่านี้ และต้องพิจารณาด้วยว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการอนุญาตจาก อย. หรือไม่ และหากได้รับ อย.ก็ต้อง พิจารณาอีกว่าเป็นการอนุญาตรูปแบบใด เนื่องจากหากขอเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็จะอ้างว่าบำรุงตับ บำรุงหัวใจ แต่พอได้รับเลขทะเบียนแล้ว กลับไปโฆษณาว่ารักษามะเร็ง รักษาเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ต้องพิจาณาดีๆ เพราะผลิตภัณฑ์หลายตัวไปแอบอ้างสรรพคุณเกินจริง อย่างสารในสมุนไพรบางตัวอาจมีคุณลักษณะเฉพาะในการบำรุงตับ บำรุงหัวใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อนำมาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้วจะรักษาโรคตับ โรคหัวใจ หรือเบาหวาน มะเร็ง หรือลดความอ้วนได้

“การที่บอกว่ารักษาโรคนั้นเป็นเรื่องของยา ซึ่ง้ถ้าจะอ้างว่ารักษาโรคร่วมด้วยนั้นต้องมาขออนุญาตขขึ้นทะเบียนเป็นยา ไมเช่นนั้นทำไม่ได้ ก็จะกลายเป็นโฆษณาเกินจริงซึ่งกฎหมายก็มีหลายขั้น เริ่มตั้งแต่ปรับ ไปจนถึงถอนทะเบียนจากที่เคยขึ้นทะเบียนกับ อย.ไว้ แต่ถ้าหากพบว่าไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. แต่แอบอ้างอีก ก็จะโดนเรื่อง อย.ปลอมปัญหาคือพวกนี้ก็จะกลับไปหลอกมาขายอีก ดังนั้น สิ่งสำคัญประชาชนต้องอย่าหลงเชื่อพิจารณาไตร่ตรองให้ดี” นพ. วันชัย กล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน