ตำรับยากัญชา ของอภัยภูเบศ

กัญชา ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคครั้งแรกสมัยพระนารายณ์ กัญชามีสารออกฤทธิ์หลักคือ แคนนาบินอยด์ มีสารสำคัญ เรียกว่า ทีเอชซี (THC) มีฤทธิ์ลดปวด ช่วยให้นอนหลับ ส่วนสาร ซีบีดี (CBD) ช่วยลดอักเสบได้ดี ปัจจุบันการรักษาด้วยยากัญชา ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ แพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์แล้ว

มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสมุนไพรในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง “กัญชา” เป็นสมุนไพรตัวล่าสุดที่ “อภัยภูเบศร” ใช้เวลา 2 ปี บุกเบิกปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ ปัจจุบัน มีการจ่ายยากัญชาให้แก่ผู้ป่วยไปแล้วเป็นจำนวนมาก

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้บอกเล่าถึงความก้าวหน้าในการพัฒนากัญชาทางแพทย์ ที่ช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (ถอดความจากเวทีเสวนา หัวข้อ “กัญชา” ครบวงจรกับอภัยภูเบศร ภายในงานมหกรรมกัญชง กัญชา 360 องศา จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564)

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร

การพัฒนาต่อยอดกัญชาทางการแพทย์

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร กล่าวว่า การผลิตกัญชาเพื่อการแพทย์ให้ได้คุณภาพมาตรฐานนั้น อภัยภูเบศรดูแลใส่ใจตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ ช่วงแรก อภัยภูเบศรใช้กัญชา ซึ่งเป็นกัญชาของกลางที่ไม่มีสารฆ่าแมลงแต่มีโลหะหนักตกค้าง อย่างไรก็ตาม เราสามารถแยกโลหะหนักออกได้ด้วยวิธีการสกัด ที่เรียกว่า Supercritical CO2 ซึ่งสารกัญชาละลายได้ดีในน้ำมัน มีสารออกฤทธิ์หลักคือ แคนนาบินอยด์ ที่สำคัญ ได้แก่ ทีเอชซี (THC) มีฤทธิ์ลดปวด ช่วยให้นอนหลับ นำมาผลิตเป็นยากัญชา

สารสำคัญของกัญชา กัญชง อยู่ที่ช่อดอก หลังจากปลูกกัญชาและได้ช่อดอกที่สมบูรณ์และตากจนแห้งแล้ว จะนำเข้าสู่กระบวนการสกัดในขั้นตอนต่อมา เพื่อให้ได้สารสำคัญในกลุ่มแคนนาบินอยด์ คือสาร THC กับ CBD

สำหรับสาร THC มีฤทธิ์เมา ซึ่งมีข้อดีเมื่อใช้ทางการแพทย์ แต่ต้องใช้ในอัตราส่วนที่เหมาะสม ส่วนสาร CBD มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดี นำมาใช้เสริมการทำงานให้กับสาร THC ได้ ยากัญชามีหลายตำรับ ทั้งสูตร THC สูง, CBD สูง, THC กับ CBD เท่ากัน

กระบวนการผลิตยากัญชา กัญชง

การผลิตยากัญชาของอภัยภูเบศร มี 3 รูปแบบ ช่วยรักษาอาการแต่ละโรคแตกต่างกันไป

1. สูตรที่เป็น THC สูง จะใช้กลุ่มผู้ที่มีภาวะคลื่นไส้จากยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยที่มีภาวะปวดประสาท

2. สูตร THC กับ CBD 1 : 1 จะใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ผู้ป่วยโรคประสาท ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

3. สูตร CBD สูง มีผลวิจัยชัดเจนแล้วว่า ใช้รักษาอาการลมชักในเด็กได้ดี

ตำรับยากัญชาแผนไทยและภูมิปัญญาพื้นบ้าน

ยากัญชาสั่งจ่ายผ่านคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ผู้สั่งจ่ายและผู้ตรวจโรคเป็นหมอแผนไทย ยกตัวอย่าง เช่น ตำรับศุขไสยาศน์ ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ

จากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาจากคลินิกกัญชาแพทย์แผนไทยของอภัยภูเบศร พบว่า ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการหลับยาก หลังจากได้รับยาศุขไสยาศน์แล้ว ผู้ป่วยมีอาการนอนหลับที่ดีขึ้นถึง 80% สามารถใช้ทดแทนยานอนหลับ ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันได้อย่างดี

อภัยภูเบศรได้รับการถ่ายทอดตำรับยากัญชาจากหมอพื้นบ้าน ซึ่งใช้กัญชาทั้ง 5 ส่วน (ใบ ราก ต้น กิ่งก้าน ช่อดอก) รักษาผู้ป่วยมาเป็นเวลานาน อภัยภูเบศรได้นำตำรับยาสูตรนี้มาพัฒนาให้มีความทันสมัยมากขึ้น และใช้งานได้ง่าย เรียกว่า น้ำมันกัญชาทั้ง 5 สูตร รับประทาน เป็นน้ำมันหยดใต้ลิ้นช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ช่วยเจริญอาหาร แก้ลมปะกัง (ไมเกรน) แก้ปวดเรื้อรัง โดยยากัญชาสูตรนี้ เปิดให้บริการที่คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยของอภัยภูเบศร หากมีคลินิกแพทย์แผนไทยแห่งใดสนใจนำยากัญชาไปรักษาผู้ป่วย สามารถติดต่อมาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

นอกจากนี้ ยังมียากัญชาอีกสูตรหนึ่ง เรียกว่า ยาน้ำมันกัญชาทั้ง 5 ส่วน ซึ่งเป็นสูตรสำหรับใช้ภายนอก มีความเข้มข้นแตกต่างจากสูตรรับประทาน จะใช้ทารักษาโรคผิวหนังต่างๆ เช่น โรคสะเก็ดเงิน เรือนกวาง หรือใช้นวดร่างกายบรรเทาอาการเจ็บปวด ซึ่งใช้ได้ผลดีกว่าตำรับยาพื้นบ้านในอดีต

คลินิกกัญชาทางการแพทย์

ปัจจุบัน อภัยภูเบศรมีการจ่ายยากัญชา ผ่านคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยของอภัยภูเบศร ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาต้องผ่านการวินิจฉัยโรคจากแพทย์ก่อนว่า มีภาวะเจ็บป่วยอย่างไร ขณะนี้ใช้ยาอะไรอยู่บ้าง เพื่อให้คุณหมอวินิจฉัยอาการและสั่งจ่ายยากัญชาได้ถูกต้อง

ขั้นตอนการรับบริการ เริ่มจากเข้าพบแพทย์ที่คลินิกกัญชา เพื่อสอบถามอาการเบื้องต้น ก่อนสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วย หลังจากผู้ป่วยได้รับยาแล้ว จะจดบันทึกอาการเพื่อเก็บข้อมูล เนื่องจากเป็นยาใหม่ ต้องมีการดูแลติดตามผลการใช้ยาโดยเภสัชกร

………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2564