“เอ็นไอเอ” เพิ่มโอกาสช่วงวิกฤตให้เกษตรกรไทย ผ่านการใช้เทคโนโลยีจากสตาร์ทอัพ พร้อมดึงพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญหลากสาขาร่วมต่อยอดอุตฯ เกษตรไทยในโครงการ AgTech Connext

กรุงเทพฯ 13 พฤษภาคม 2564 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมหน่วยงานพันธมิตร อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด จัด “โครงการแพลตฟอร์มเชื่อมโยงเกษตรกรกับวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรสู่การเป็นเกษตรกรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี” หรือ AgTech Connext เพื่อเชื่อมโยงสตาร์ทอัพสายเกษตรและเกษตรเข้าหากัน พร้อมเปิดโอกาสให้กลุ่มเกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรไทยในภาวะการระบาดของโควิด-19 โดยโครงการดังกล่าว ยังมุ่งผลักดันให้เกิดการเติบโตของสตาร์ทอัพสายเกษตร พร้อมสร้างโอกาสที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น โอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น การเติบโตและขยายตลาดร่วมกันของเกษตรกร การลงทุน รวมถึงยังมีสิทธิพิเศษและรางวัลพิเศษจากผู้สนับสนุนในโครงการ อาทิ เงินสนับสนุนมูลค่า 300,000 บาท จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ สำหรับสตาร์ทอัพที่มีผลงานโดดเด่นในการพลิกโฉมธุรกิจการเกษตร เพื่อร่วมพัฒนาวงการสตาร์ทอัพและภาคการเกษตรของไทย

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA เล็งเห็นถึงความสำคัญของธุรกิจของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจถดถอยเพราะการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นอุปสรรคและช่องว่างสำหรับสตาร์ทอัพด้านการเกษตร (AgTech Startup) และเกษตรกร ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหรือบริการได้ รวมทั้งยังขาดการเชื่อมโยงให้รู้จักผลิตภัณฑ์หรือบริการของวิสาหกิจเริ่มต้น เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนยังมีความกังวลถึงความคุ้มค่าในการใช้เทคโนโลยีความรู้ และขาดทักษะในการใช้งาน ประกอบกับแรงงานในภาคการเกษตรมีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น ดังนั้น NIA จึงได้จัด “โครงการแพลตฟอร์มเชื่อมโยงเกษตรกรกับวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรสู่การเป็นเกษตรกรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี” หรือ AgTech Connext เพื่อสร้างพื้นที่เกษตรกรและสตาร์ทอัพด้านเกษตรให้สามารถมาเจอกัน เพื่อร่วมกันสร้างและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในภาคการเกษตรของไทย รวมไปถึงการผลักดันสมาร์ทฟาร์มเมอร์ในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น ที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในปรับใช้ในการทำเกษตรดั้งเดิม เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศ

“สำหรับโครงการ AgTech Connext 2021 เป็นการขยายผลจากโครงการสร้างตลาดรูปแบบใหม่จากสตาร์ทอัพด้านการเกษตรสำหรับกลุ่มโอท็อป เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น หรือ AgTech4OTOP ที่นำ 10 สตาร์ทอัพเกษตรสาขาด้านระบบรูปแบบตลาดใหม่มาจับคู่กับ 50 กลุ่มโอท็อปเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ด้วยการใช้เรื่องราวดึงเอกลักษณ์และคุณค่าของสินค้าเกษตรที่โดดเด่น สร้างสรรค์สินค้า สร้างแผนทางการตลาดร่วมกันขึ้นบนแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพ ทำให้สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นมีโอกาสในการเข้าสู่ช่องทางตลาดรูปแบบใหม่ พร้อมกันนี้ ยังจะช่วยให้สตาร์ทอัพได้สามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงกับเกษตรที่หลากหลายกลุ่มผ่านหน่วยงานพันธมิตรที่ดูแลเกษตรกรทั่วประเทศ และโอกาสสำคัญอื่นๆ ได้แก่

Brand awareness การสร้างการรับรู้ การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการนำข้อมูลมาปรับปรุงรูปแบบธุรกิจให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า หรือผู้ใช้งานได้อย่างตรงจุด

Matching กับกลุ่มเกษตรกรเพื่อร่วมทดสอบการใช้ผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจและนวัตกรรมสำหรับสร้างการเติบโตทางธุรกิจของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ที่สำคัญยังช่วยให้เกษตรกรสามารถขยายตลาด

Growth สตาร์ทอัพด้านการเกษตรและเกษตรกร สามารถขยายตลาดและเพิ่มกลุ่มลูกค้าให้หลากหลายผ่านช่องการทางขายใหม่ๆ และสามารถปรับรูปแบบธุรกิจให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการเพิ่มโอกาสการได้รับการลงทุน

รวมถึงยังมีสิทธิพิเศษและรางวัลพิเศษจากผู้สนับสนุนในโครงการ อาทิ บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด มอบเครดิต AWS Cloud มูลค่า 300,000 บาท เมื่อสตาร์ทอัพได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ตามโปรแกรม เป็นโปรแกรมฟรีสำหรับสตาร์ทอัพที่ลงทุนเองจนถึง Series A เพื่อสนับสนุนให้สตาร์ทอัพมีเวลาคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตขึ้น และกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ สนับสนุน เงินรางวัลรวมมูลค่า 300,000 บาท สำหรับสตาร์ทอัพที่มีผลงานโดดเด่นในการพลิกโฉมธุรกิจการเกษตร เพื่อร่วมพัฒนาวงการสตาร์ทอัพและภาคการเกษตรของไทย

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง

ดร.กริชผกา กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าว NIA ได้ร่วมมือกับภาครัฐ และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเครือข่ายที่สำคัญ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งองค์กรต่างๆ จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้สตาร์ทอัพสามารถคิดและสร้างนวัตกรรมที่ช่วยสร้างธุรกิจให้เติบโต รวมไปถึงการพลิกโฉมธุรกิจการเกษตรของไทยให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หากสตาร์ทอัพด้านการเกษตร มีสินค้าหรือบริการที่ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้แก่เกษตรกรได้ NIA ขอเชิญชวนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ AgTech Connext 2021 ที่เพิ่มพื้นที่ในการขยายและสร้างธุรกิจให้เป็นที่รู้จัก พร้อมเรียนรู้และทดสอบการใช้งานจริงไปกับเกษตรกร มาร่วมเป็นพลังการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพลิกโฉมการเกษตรไทย โดยสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ http://agtechconnext.nia.or.th/ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 14 พฤษภาคม 2564