กรมชลฯ-วว.ร่วมเอ็มโอยูพัฒนางานวิจัยเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุจากธรรมชาติป้องกันตลิ่งพัง

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลฯได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ความร่วมมือทางวิชาการ โครงการเครือข่ายงานวิจัย ทดสอบและวิเคราะห์คุณภาพกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านงานวิจัย ทดสอบ และวิเคราะห์คุณภาพระหว่างทั้งสองหน่วยงาน พัฒนาสมรรถนะบุคลากรและระบบคุณภาพในห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ศึกษาคุณสมบัติ วิเคราะห์ ทดสอบ และพัฒนาวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงานด้านชลประทานสู่ระบบมาตรฐานสากลตลอดจนประเมินคุณภาพน้ำ และวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการพัฒนาด้านชลประทาน โดยมีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือไว้ 3 ปี

นายสัญชัย กล่าวว่า ทั้งสองหน่วยงานยังจะร่วมมือกันดำเนินการตรวจประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทานที่ดำเนินการมาแล้ว 3-5 ปี อาทิ โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลธร จ.ชลบุรี โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ทั้งนี้เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีความสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน เนื่องมาจากการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ยังจะมีการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองคณิตศาสตร์ สำหรับประเมินคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการคาดการณ์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และสามารถวางแผนจัดการแก้ไขปัญหาผลกระทบคุณภาพน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงนามเอ็มโอยู โครงการเครือข่ายงานวิจัย ทดสอบและวิเคราะห์คุณภาพ สำหรับโครงการงานวิจัยที่ วว. มีแนวคิดจะทำร่วมกับกรมชลประทาน คือ การพัฒนาวัสดุป้องกันการกัดเซาะตลิ่งเพื่อการชลประทาน ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์บล็อกประสานซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการกัดเซาะ โดยมีช่องว่างที่พืชสามารถเจริญเติบโต และมีแผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์จากยางธรรมชาติทำหน้าที่เป็นชั้นกรอง โดยมีพื้นที่ผิวที่ช่วยเก็บกักตะกอนดินเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชทั้งนี้วัสดุดังกล่าวสามารถป้องกันการชะล้างของดินออกจากตลิ่ง มีคุณสมบัติด้านความแข็งแรงและส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ตลอดจนมีอายุการใช้งานนาน ทนทานการกัดกร่อนจากการไหลของกระแสน้ำ รวมทั้งการพัฒนาวัสดุคอมพอสิตสำหรับประตูระบายน้ำในงานชลประทานโดยใช้วัสดุคอมพอสิตพอลิเมอร์ ร่วมกับเส้นใยเสริมแรงและโครงเหล็กรับแรง ทำหน้าที่เป็นแผ่นหน้าประตูระบายน้ำ เพื่อกระจายแรงให้โครงเหล็กด้านหลัง ที่เคลือบด้วยเรซินเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันการกัดกร่อนจากน้ำเค็ม-น้ำกร่อย ราคาประหยัด ลดการใช้โลหะขนาดใหญ่ ทดแทนด้วยวัสดุสมัยใหม่ทำหน้าที่ตามคุณสมบัติเฉพาะในส่วนนั้นๆ ตามการรับแรงที่เกิดขึ้นจริง สามารถใช้ทดแทนประตูระบายน้ำเดิม และใช้กว้านเดิมยกประตูได้