ผ้ามัดหมี่ ของดีเมืองลิง ฝีมือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรีอาสาบ้านพวน

มูลค่าความเสียหายเมื่อประสบอุทกภัยเมื่อ 10 ปีก่อน ประเมินมูลค่าคณานับ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เป็นอีกพื้นที่ที่ในครั้งนั้นเปรียบเสมือนเป็นเมืองที่จมอยู่ใต้บาดาล พื้นที่การเกษตรเสียหายนับพันไร่ ไม่นับรวมพื้นที่ที่ใช้เลี้ยงสัตว์รอการจำหน่ายเป็นอาหาร ถูกเบียดบังไปด้วยน้ำ และน้ำ

คุณวนิดา รักพรม ผู้ก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรีอาสาบ้านพวน

การอาชีพอย่างหนึ่งที่สามารถดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าอุทกภัยมาเยือน ซึ่งอาจติดขัดไปบ้างตามสภาพการขนส่ง แต่ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้ไม่มากก็น้อย ในยามคับขันของชาวอำเภอบ้านหมี่ คือ การทอผ้ามัดหมี่

การทอผ้ามัดหมี่ จึงเป็นอีกภูมิปัญญาที่ช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอบ้านหมี่จำนวนหนึ่งมีรายได้ไม่ขัดสน

การทอผ้ามัดหมี่ เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยพวน อำเภอบ้านหมี่ ที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากแขวงเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว ซึ่งนอกจากจะนิยมทอไว้ใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับตนเองและสมาชิกภายในครัวเรือนแล้ว ยังมีการทอขึ้น เพื่อใช้ในพิธีกรรม ประเพณีต่างๆ ตามความเชื่อทางศาสนาและสังคม

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรีอาสาบ้านพวน
ทอกี่

หากสังเกตให้ดี จะพบว่าเกือบทุกหลังคาเรือนในอำเภอบ้านหมี่ จะมีกี่ หรือหูก อุปกรณ์สำหรับใช้ทอผ้า เป็นเพราะภูมิปัญญาที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และเมื่อผู้หญิงที่ทำหน้าที่แม่บ้าน หรือช้างเท้าหลังของครอบครัว เสร็จสรรพจากหน้านา ว่างเว้นจากงานบ้าน จะเข้ากี่ หรือหูก เพื่อทอผ้าไว้ใช้สอยในครัวเรือน

แต่ปัจจุบัน การทอผ้ามัดหมี่ไว้ใช้ในครัวเรือนลดน้อยถอยลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่นิยมซื้อเสื้อผ้าที่ตัดเย็บสำเร็จและตามกระแสแฟชั่น การสวมผ้าทอมัดหมี่แทนเครื่องแต่งกายในทุกวันจึงไม่มีให้เห็น การเรียนรู้วิธีการทอผ้ามัดหมี่และการถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่จึงเป็นเรื่องยาก แต่ถึงอย่างนั้น คุณวนิดา รักพรม ยังคงรักและพร้อมสืบทอดภูมิปัญญาชิ้นนี้ไว้

การมัด

คุณวนิดา เป็นชาวอำเภอบ้านหมี่มาแต่กำเนิด เป็นจุดกำเนิดเริ่มแรกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรีอาสาบ้านพวน

คุณวนิดา เล่าย้อนความเป็นมาของกลุ่มให้ฟังว่า ในวัยเด็กของเธอเห็นการทอผ้ามัดหมี่มาโดยตลอด หลังเลิกเรียนทุกครั้งจะลงมือปั่นด้าย เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของแม่ เมื่อเติบโตขึ้นเห็นว่าทุกบ้านมีกี่ หรือหูก และแม่บ้านของแต่ละหลังคาเรือน ส่วนใหญ่จะมีเวลามากพอสำหรับการทอผ้า จึงคิดรวมกลุ่มทอผ้าขึ้น

เส้นไหมที่มัดแล้ว

“ตั้งแต่ปี 2527 คุยกับเพื่อนบ้านหลายคน เริ่มต้นจากรวมหุ้นกันในราคาหุ้นละ 100 บาท ในครั้งแรกมีสมาชิกกว่า 10 คน ทุนจึงมีไม่มากนัก ภายหลังองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จัดสรรงบประมาณสำหรับการจัดตั้งกลุ่มจำนวน 100,000 บาท จึงนำมาเป็นทุนในการบริหารจัดการ”

ระยะเริ่มแรก เป็นเพียงกลุ่มแม่บ้านทอผ้ามัดหมี่ธรรมดา ต่อเมื่อมีงบประมาณสนับสนุนก้อนใหญ่ คุณวนิดา จึงเรียนรู้วิธีการบริหารจัดงานงบประมาณ การตลาด การจัดระบบและระเบียบของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เมื่อศึกษาแล้วจึงนำมาปฏิบัติกับกลุ่มและจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้น

“เริ่มต้นจากการทำจำหน่ายให้กับคนรู้จัก การบอกต่อถึงคุณภาพของผ้า ทำให้มีคนต้องการ หรือในบางครั้งหน่วยงานภาครัฐให้ความช่วยเหลือด้วยการสั่งตัดเย็บชุดข้าราชการเฉพาะงาน ทำให้มีรายได้เข้ากลุ่มมากพอ กลุ่มจึงเริ่มเข้มแข็งขึ้น”

กรอไหม

คุณวนิดา บอกว่า ศูนย์รวมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรีอาสาบ้านพวน คือ บ้านของเธอ ทุกๆ คนที่เป็นสมาชิกต้องมารวมกันที่นี่เพื่อรับถ่ายทอดงานและส่งต่องาน เพื่อนำกลับไปทำที่บ้าน เนื่องจากทุกบ้านมีกี่สำหรับทอผ้าอยู่แล้ว เมื่อผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ออกมาตามที่ลูกค้าสั่ง จะนำกลับมาที่ศูนย์ เพื่อส่งให้ถึงมือลูกค้า หรือหากลูกค้าต้องการตัดเย็บสำเร็จเป็นเสื้อเชิ้ต ผ้านุ่ง กระโปรง หรืออื่นๆ ก็สามารถแสดงความจำนงได้

เงินก้อนแรกที่ก่อร่างสร้างตัวให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรีอาสาบ้านพวน ส่งผลให้สมาชิกที่มีอยู่กว่า 10 คน มีเงินปันผลทุกปี ปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ จากกำไร

ไหมที่ย้อมเป็นลวดลายแล้ว
แกะเชือกฟางที่ใช้มัดออก

สมาชิกที่ทอผ้าที่บ้านอยู่แล้ว สมาชิกที่มีเงินก้อนอาจลงทุนเองในการทอแต่ละครั้ง หรือสมาชิกที่มีเงินทุนไม่มากนัก กลุ่มจะช่วยเหลือด้วยการลงทุนการทอให้ในทุกครั้ง เมื่อทอเป็นผืนผ้าออกมาจำหน่ายแล้วให้ผ่อนชำระเงินต้นทุนคืน

ผ้าผืนขนาดทอปกติ ขนาดความยาว 2 หลา ส่วนผ้าทอที่จะนำไปตัดเย็บเป็นชุดจะทอความยาวขนาด 4 หลา

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรีอาสาบ้านพวน จะมีบางรายเป็นสมาชิกสมทบ คือ มีชื่อเป็นสมาชิก แต่ไม่ได้ร่วมลงแรงทอ ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับเงินปันผลจากการลงหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนบางรายทอผ้าด้วย ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้นเกือบ 30 คนนั้น จะได้รับเงินปันผลจากการลงหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์ และยังได้รับค่าทอ ตามแต่จะทอผ้าได้จำนวนมากน้อย

ทอเป็นผืน แปรรูปได้

รายได้อย่างคร่าวๆ ที่คุณวนิดาประเมินให้ทราบในแต่ละครัวเรือน สำหรับสมาชิกอยู่ที่ 4,000-5,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งถือเป็นรายได้ที่มากพอสำหรับครัวเรือนที่ทอผ้าเป็นอาชีพเสริม

แม้ว่าการทอผ้าจะกระจายไปยังบ้านสมาชิกต่างๆ แต่การควบคุมคุณภาพในขั้นตอนท้ายที่สุด จะตรวจสอบที่บ้านของคุณวนิดาเท่านั้น หากคุณภาพผ้ามัดหมี่ผืนนั้นไม่ดีพอ จะไม่ได้รับการจำหน่ายอย่างแน่นอน

เมื่อถามถึงการดูแลด้านการตลาด ซึ่งเป็นประการด่านสำคัญของการผลักดันผลิตภัณฑ์เข้าสู่ระบบการค้า คุณวนิดา บอกว่า เธอใช้เวลาที่มีเข้าอบรม เพื่อเรียนรู้การส่งเสริมการตลาด นำมาปรับให้เข้ากับผ้าทอมัดหมี่ และได้ผล โดยวิธีการของกลุ่ม คือ จัดแบ่งกลุ่มสมาชิกที่มีความถนัดไว้ด้วยกัน เช่น มัดหมี่ ย้อมหมี่ โดยเฉพาะการมัดหมี่ถือว่าเป็นความสามารถเฉพาะตัวของสมาชิกแต่ละคน เนื่องจากลายมัดหมี่แต่ละลายอาจมีความยากง่ายแตกต่างกัน

ลวดลายงดงาม

“แม้ว่ากลุ่มจะก่อตั้งมานานหลายสิบปี แต่ก็ยังไม่มีหน้าร้านเป็นของกลุ่มเอง ยังคงใช้บ้านของดิฉันเป็นศูนย์รวมสำหรับลูกค้าติดต่อซื้อขาย หรือดูงาน ซึ่งกลุ่มพร้อมให้คำแนะนำและปรึกษาสำหรับผู้สนใจก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจในลักษณะเดียวกัน”

เมื่อไม่มีหน้าร้าน การเข้าถึงของลูกค้าก็เป็นไปได้ลำบาก แต่ด้วยฝีมือการทอและตัดเย็บทำได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ทำให้ปัญหาการเข้าถึงของลูกค้าหมดไป ลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้ามาหาเพื่อสั่งผ้าทอมัดหมี่ถึงศูนย์ ซึ่งลูกค้าหลักสำคัญ คือ กลุ่มข้าราชการและหน่วยงานภาครัฐที่นิยมสั่งทอและตัดเป็นล็อต มีทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน

เสื้อเชิ้ตตัดเย็บสำเร็จก็มี

คุณวนิดา ทิ้งท้ายว่า ผ้ามัดหมี่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวบ้านหมี่มีติดตัวมาแต่กำเนิด และกลุ่มพร้อมอนุรักษ์ไว้ หากใครสนใจศึกษาดูงานวิธีการมัดหมี่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรีอาสาบ้านพวน พร้อมให้การต้อนรับและให้คำแนะนำเท่าที่กลุ่มมี หรือสนใจสั่งผลิตภัณฑ์ ติดต่อได้ที่ คุณวนิดา รักพรม เลขที่ 82   หมู่ที่ 10 ตำบลหินปัก อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี