8 โครงการ พระราชดำริ เสริมคุณภาพชีวิตเด็กนักเรียน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้มีโอกาสด้านการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังทรงริเริ่ม “แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ที่ครอบคลุมทั้งด้านการเกษตร, สุขภาพอนามัยการศึกษา, สหกรณ์, การงานอาชีพ, การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวัฒนธรรมท้องถิ่นในโรงเรียนมากกว่า 800 แห่ง ทั่วประเทศ

โดยเฉพาะเรื่องการลดปัญหาทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชนที่เกิดในครอบครัวที่ไม่สามารถผลิตอาหารได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ อันส่งผลต่อสุขภาพอนามัย จนทำให้เด็กไม่สามารถมีพัฒนาการด้านอื่นๆ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ทดลองทำโครงการอาหารกลางวันผักสวนครัว เมื่อ ปี 2523 ภายใต้ชื่อ “โครงการอาหารเพื่อเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ด้วยการทำเป็นโครงการทดลองในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองแจง อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งศาลา อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคอกอ้ายเผือก อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหลังจากที่ทดลองเป็นระยะเวลา 1 ปี ปรากฏว่าประสบความสำเร็จ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายไปสู่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ เมื่อปี 2524 ต่อมามีการเรียกชื่อใหม่ว่า “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” เนื่องจากมีการเลี้ยงสัตว์และปลูกผักสวนครัวด้วย

ปัจจุบัน การดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ในโรงเรียน ตชด. ในสังกัดกองบัญชาการ ตชด. มีจำนวน 216 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ ตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอหัวหินกว่า 90 กิโลเมตร

ร.ต.ท. ประดิษฐ์ อะละมาลา ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ กล่าวว่า นักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชาวกะหร่าง มีสัญชาติไทยเป็นส่วนน้อย เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สีชมพู ไม่มีแม้แต่โรงเรียนจะให้เด็กศึกษาเล่าเรียน จนเมื่อปี 2541 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยม โรงเรียน ตชด. นเรศวร บ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยราษฎรบ้านแพรกตะคร้อได้ยื่นถวายฎีกาขอรับพระราชทานความช่วยเหลือด้านการเรียนการสอน และด้านสุขภาพอนามัยแก่เด็กและราษฎร

“พระองค์ทรงมีพระราชกระแสให้ครูใหญ่โรงเรียน ตชด. นเรศวร บ้านห้วยผึ้ง ดูแลและให้การช่วยเหลือ โดยมีกองกำกับการ ตชด. ที่ 14 รับสนองพระราชกระแส และได้อนุมัติการจัดตั้งโรงเรียน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2542 ตอนนั้นมีการจัดการเรียนการสอนระดับอนุบาล 2-ประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 265 คน ครู ตชด. 9 นาย ผู้ดูแลเด็ก 2 คน ครูคู่พัฒนา 1 คน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโครงการสุขศาลาพระราชทาน 1 คน”

โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้ มีวิชาความรู้ ต่อมาจึงมีการฝึกให้นักเรียนมีทักษะในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นในด้านอาชีพ, เกษตรกรรม และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง โดยดำเนินการผ่านโครงการพระราชดำริ ซึ่งครูจะต้องเป็นแกนกลางในการถ่ายทอดความรู้ ที่สำคัญครู ตชด. จะต้องเป็นมากกว่าครูผู้สอนเพียงอย่างเดียว เพราะจะต้องมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา และผ่านการอบรมความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับโครงการตามพระราชดำริ 8 โครงการ ประกอบด้วย

หนึ่ง โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ที่ดูแลโดยนักเรียน ซึ่งเป็นโครงการหลัก มีการทำกิจกรรมปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ เนื่องจากโรงเรียนมีพื้นที่ปลูกผักสวนครัว 2 ไร่ จำนวน 40 แปลง มีการปลูกเห็ดนางฟ้า, ปลูกพืชตระกูลถั่ว, ถั่วครก, ถั่วแดง ฯลฯ และไม้ผลอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์อีซี่บราวน์ จำนวน 200 ตัว เนื่องจากไก่สายพันธุ์นี้จะให้ผลผลิตไข่ครั้งละ 900-1,100 ฟอง หรือประมาณ 30 กว่าแผง เพื่อนำมาขายให้กับโครงการ และใช้สำหรับทำอาหารกลางวัน สนนราคาแผงละ 100 บาท ซึ่งจะขายผ่านระบบสหกรณ์โรงเรียน จนมีรายได้ประมาณสัปดาห์ละ 2,000-3,000 บาท ด้วยการนำเข้ากองทุนไก่ไข่เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนดูแลเรื่องอาหาร, ค่ารักษาไก่ อีกทั้งยังมีกิจกรรมการเลี้ยงหมูป่า และตอนนี้มีทั้งหมด 13 ตัว ขยายสู่ชุมชนไปแล้ว 10 ตัว โดยมีข้อตกลงร่วมกัน เพื่อเป็นรายได้เสริมแก่ครอบครัวของนักเรียน นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมเลี้ยงปลาดุกพันธุ์บิ๊กอุย ในบ่อปูนซีเมนต์ และบ่อดิน รวม 1,500 ตัว

สอง โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา มีกิจกรรมห้องสมุด ส่งเสริมการอ่านในโรงเรียน มีการจัดหนังสือที่น่าสนใจอยู่เสมอ กิจกรรมสอนเสริมเพื่อทบทวนบทเรียน และเพิ่มเติมความรู้เสริมจากบทเรียน ที่ส่งผลให้ผลการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานมีผลคะแนนดีขึ้น

สาม โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ เป็นโครงการที่ให้โอกาสทางด้านการศึกษาแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดี และฐานะยากจนให้มีโอกาสรับการศึกษาระดับสูง แนะแนวทางการศึกษา ปัจจุบันมีนักเรียนในพระราชานุเคราะห์แล้ว 7 คน

สี่ โครงการส่งเสริมสหกรณ์ กิจกรรมสหกรณ์ร้านค้า ให้นักเรียนได้เรียนรู้หลักการสหกรณ์ และเข้าใจขั้นตอน ตลอดจนวิธีการเกี่ยวกับสหกรณ์ร้านค้า

ห้า โครงการฝึกอาชีพ โดยจัดการเรียนรู้ในชั่วโมงการเรียนรู้ฝึกอาชีพ นำภูมิปัญญาชาวบ้านมาช่วยสอน อย่างการทอผ้าพื้นเมืองกี่เอวเป็นชุด, กระเป๋า, ย่าม เพื่อนำไปจำหน่าย ทั้งยังมีการฝึกตัดผมชาย-หญิง มีกิจกรรมการแสดงรำกระทบไม้, ระบำสายรุ้ง และระบำดาว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านเพื่อสืบสานไม่ให้สูญหาย ที่สำคัญหากมีงานเข้ามาพวกเขาก็จะได้ทำการแสดงอีกทางหนึ่งด้วย

หก โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน โดยมีการให้บริการน้ำดื่มที่มีการหยดสารละลายไอโอดีนอยู่ในจุดบริการน้ำดื่มของโรงเรียน ตรวจสภาวะคอพอก นักเรียน ป.1-ป.6 โดยใช้เกลือไอโอดีนปรุงอาหารทุกวัน นอกจากนี้ ใน 1 ปีการศึกษาจะมีการวัดและช่างน้ำหนัก 4 ครั้ง ผ่านแบบฟอร์มของการทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ (แผน กพด.) ที่มี 16 ตัวชี้วัด

เจ็ด โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ ปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดิน ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ติดป้ายพันธุ์ไม้ในโรงเรียน ปลูกต้นไม้เพิ่มในโอกาสต่างๆ

แปด โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร โดยมีการก่อตั้ง “สุขศาลาพระราชทาน” ให้ศาลาแห่งนี้เป็นที่พึ่งพาการเจ็บป่วยเบื้องต้นของนักเรียนและชุมชนทั้งในยามปกติและยามฉุกเฉิน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมโรงเรียน 4 ครั้ง และครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2561 เนื่องจากพระองค์ทรงห่วงใยมากสุดคือการให้เด็กอ่านออกเขียนได้ และเพื่อให้เด็กสามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้ปกครอง ส่วนอีกเรื่องคือ เด็กไร้สัญชาติ พระองค์อยากช่วยเด็กให้มีสิทธิได้สัญชาติครบ เพื่ออนาคตของพวกเขา

และจากปี 2561 พบว่า มีเด็กนักเรียนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ จำนวน 43 คน แต่ปัจจุบันมีการช่วยเหลือเด็กๆ ให้ได้รับสัญชาติบางส่วนแล้ว คงเหลืออีกเพียง 22 คน ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 นี้