ธ.ก.ส. สนับสนุน SMEs เมืองนครฯ แปรรูปสินค้าเกษตรจากครัวเรือนสู่ตลาด

ตลอดระยะเวลา 55 ปี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มุ่งมั่นสร้าง Better Life คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชนบท Better Community ชุมชนที่ดีและเข้มแข็งขึ้น และ Better Pride สร้างความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างรากฐานที่เข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ

คุณธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงนโยบายการขับเคลื่อนงานพัฒนาชนบทว่า ธ.ก.ส. มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน (Community Engagement) ให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ เน้นดูแลรักษาสุขภาพในครัวเรือนและชุมชน การรวมกลุ่มวิเคราะห์ปัญหา สร้างทางเลือกและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด มีการจัดการด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การดำรงรักษาวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน โดยเน้นความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. มุ่งเพิ่มมูลค่าผลผลิต และการบริหารจัดการทางการตลาด เช่น การเชื่อมโยงตลาด Social Commerce การส่งเสริมระบบการตรวจสอบย้อนกลับในสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตลอดห่วงโซ่คุณค่าบนระบบ Blockchain การพัฒนาสินค้าเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐาน การส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร และส่งเสริมกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกให้กับชุมชนธนาคารต้นไม้ของ ธ.ก.ส. รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เข้าไปสร้างองค์ความรู้ เพื่อต่อยอดผลผลิต สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการที่ดำเนินการถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ที่จะเข้าไปดูแลและสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรและชุมชนมีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างมีคุณภาพ

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มคนสร้างสุข วังมโนห์รา

ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มคนสร้างสุข วังมโนห์รา เป็นหนึ่งในกลุ่ม SMEs ต้นแบบที่ ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุน เนื่องจากนำสมุนไพรพื้นบ้านมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สินค้าทำเงินที่เกาะกระแสตลาดคนรักสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มคนสร้างสุข วังมโนห์รา ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 168/2 หมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งใส อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เกิดจากการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน รวมถึงการนำวัตถุดิบพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ขณะเดียวกันทางกลุ่มวิสาหกิจฯ ต้องการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สืบสานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) โดยเรียนรู้เรื่องการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารในชุมชน เพื่อให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ทำให้ชุมชนสามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว

คุณสุจินตนา ไพศาล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มคนสร้างสุข วังมโนห์รา

คุณสุจินตนา ไพศาล (โทร. 081-970-1665) ซึ่งเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ ได้นำเสนอให้มีการพัฒนาชุมชน บริหารจัดการกระบวนการชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยวิธีการรวมตัวกันเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ และจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องโดยคำนึงถึงความพออยู่ พอกิน เพื่อการพัฒนา ความมั่นคงของเศรษฐกิจชุมชนด้วยกระบวนการผลิตที่พอเพียงในชุมชน และชุมชนมีกระบวนการเรียนรู้ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ตลอดจนปลูกจิตสำนึกในชุมชนให้อยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติ และบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่แล้วเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง อย่างยั่งยืน มั่นคง

ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ ได้จัดทำโครงการขอสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประชาคมหมู่บ้านทำกิจกรรมในการเก็บข้อมูลเพื่อเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการตู้เย็นข้างบ้าน คลังอาหารในสวน ฯลฯ ในชุมชนบ้านห้วยหินลับ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 100 คน เกิดเป็นกลุ่มเรียนรู้ตามวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงวังมโนห์รา

ต่อมา ทางกลุ่มได้รับเงินอุดหนุนจาก ส.ส.ส. จึงดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ ปลูกพืช ผัก ผลไม้ แซมในสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน ตามวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกผักปลอดสารเคมีไว้กิน เหลือกิน เหลือแจก ก็นำไปขายเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน นอกจากนี้ ทางกลุ่มมีแนวคิดสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า โดยนำสินค้าพืชผัก ผลไม้ ที่มีอยู่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป (OTOP) ในปี 2557 และยื่นขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557

ปีถัดมา ทางกลุ่มได้นำพืชผักสวนครัว และสมุนไพรไทยที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่สนใจเรื่องสินค้าเพื่อสุขภาพ รวมทั้งสืบสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสืบทอดภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรที่ทรงคุณค่าจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย สู่รุ่นลูก หลาน เช่น การใช้ดอกอัญชันทาคิ้วและใส่น้ำต้ม ให้ลูกหลานอาบ การกินพืชผักสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา

คุณธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชมสินค้าวิสาหกิจชุมชนฯ วังมโนห์รา

คุณสุจินตนา ไพศาล ประธานกลุ่มฯ ได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม จนค้นพบผลงานวิจัยที่น่าสนใจของ USA พบสารโบท็อกซ์ (BOTOX) ในหน่อไม้ ช่วยให้หน้าเด้งลดรอยเหี่ยวย่น จึงเกิดแนวคิดในการใช้สมุนไพรไทยที่เคยใช้สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น นำมาผลิตเป็นเครื่องสำอางสมุนไพร โดยใช้กระบวนการผลิตแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วงเวลาที่ผ่านมา ธุรกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยกลับเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสวนกระแส โดยมีอัตราการเจริญเติบโตไม่ต่ำกว่าปีละ 20-30% จากกระแสความนิยมของผู้บริโภคที่หันกลับไปใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติแทนสารเคมี ส่งผลให้อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปของชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้มีโอกาสเติบโตและทำกำไรอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของกลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้มีศักยภาพในการทำกำไรได้ดี เนื่องจากสภาวะการแข่งขันในปัจจุบันไม่รุนแรงมาก ทั้งอำนาจต่อรองของผู้ผลิตและผู้ซื้ออยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก ประกอบกับได้แรงสนับสนุนจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ตลอดจนค่านิยมของผู้บริโภค ล้วนเอื้ออำนวยต่อการขยายตลาดในรูปแบบของอุตสาหกรรมขนาดกลางแบบมืออาชีพ (Smart SMEs) หากสามารถสร้างความแตกต่างให้แก่ผลิตภัณฑ์ในสายตาของผู้บริโภคได้ชัดเจน และสร้างความภักดีในตราสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยให้กลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้ สามารถรักษาศักยภาพในการทำกำไรในระยะยาว

ผลิตภัณฑ์ย้อมผมหงอกอาโหย๊ว ผลิตจากผลหมากและต้นกล้วย
ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ArYo” (อาโหย๊ว)

ปัจจุบัน สินค้าหลักของกลุ่มวิสาหกิจแห่งนี้ ประกอบด้วย

  1. ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร-อาหารผิว อาหารผม ย้อมผมหงอกด้วยสมุนไพร ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ArYo” (อาโหย๊ว)
  2. ขนมเบเกอรี่-คุกกี้มะพร้าวอ่อน โรตีกรอบ ขนมปั้นสิบ
  3. เลี้ยงผึ้งโพรงไทย-น้ำผึ้ง ไขผึ้ง เสน่ห์ผึ้งหรือขี้ผึ้ง
  4. ผักปลอดภัยจากสารเคมี-ผักกาด เห็ด และกล้วย
  5. เลี้ยงสัตว์-เป็ด ไก่ แพะ
  6. น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และ
  7. ขนมไทย-ข้าวต้มมัด ขนมถ้วย ขนมสอดไส้ เมี่ยงคำ

ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นับเป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคน้อยลง อีกทั้งขาดเงินทุนในการประชาสัมพันธ์สินค้า ธ.ก.ส. จึงให้การสนับสนุนเงินทุนในการขยายตลาด รวมทั้งจัดพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้า และจัดตั้งให้กลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้ เป็นศูนย์เรียนรู้ ธ.ก.ส.ไปพร้อมๆ กัน

วิสาหกิจชุมชนบ้านเขาวังทอง

วิสาหกิจชุมชนบ้านเขาวังทอง ตั้งอยู่ ตำบลควนทอง อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช บริหารงานภายใต้การนำของประธานกลุ่มคือ คุณนฤพรรณ รองเมือง อีเรค (โทร. 098-013-3343) สินค้าหลักของกลุ่ม ได้แก่ กล้วยน้ำว้า มังคุด มะพร้าว และพืชผักเกษตร บานาน่าไซรัป น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น สบู่เหลวเปลือกมังคุดและน้ำผึ้ง ข้าวหลามมะพร้าวอ่อน น้ำส้มควันไม้ พันธุ์ไม้พื้นเมือง

จุดเริ่มต้นของกลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้ เกิดจาก ปี 2557 กล้วยน้ำว้า ในชุมชนเกิดมีปัญหาผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำจนขายไม่ได้ เกษตรกรจึงรวมกลุ่มกันแปรรูปกล้วยฉาบส่งขายตามร้านค้า ภายหลังมีการจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิกเริ่มต้น 7 คน ปัจจุบันกลุ่มมีความเข้มแข็งขึ้น เน้นผลิตและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาล รวมถึงเปิดเป็นกลุ่มท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกด้วย

ผลิตภัณฑ์สินค้าของวิสาหกิจชุมชนบ้านเขาวังทอง

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ตลาดปิด รายได้ของกลุ่มลดลง แต่ยังพอขายสินค้าได้บ้างทางช่องทางตลาดออนไลน์ ธ.ก.ส. จึงเข้ามาสนับสนุนได้ชักชวนกลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้ไปร่วมออกบู๊ธขายสินค้า สนับสนุนเงินทุน รวมทั้งให้ความรู้เรื่องการขยายช่องทางตลาด และจัดอบรมเรื่องการทำธุรกิจ Startup เป็นต้น

คุณปาณิษา สายฟอง

ปาณิษาออยล์

ปาณิษาออยล์ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 10/1 หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าของคือ คุณปาณิษา สายฟอง (โทร. 089-586-5518) เริ่มดำเนินกิจการในปี 2556 ในลักษณะธุรกิจครอบครัว โดยนำมะพร้าวในพื้นที่มาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ในแบรนด์ “ปาณิษา” ปี 2559 ได้จดทะเบียนเป็นบริษัท เพื่อนำสินค้าไปจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถขยายตลาดได้มากขึ้น ปัจจุบันมีลูกค้า 2 กลุ่มใหญ่ คือ โรงงานและร้านค้ารายย่อย มีการขายตรงทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงไปร่วมออกบู๊ธตามงานแสดงสินค้าต่างๆ

น้ำมันมะพร้าวชนิดเม็ดและโลชั่นน้ำมันมะพร้าวของปาณิษาออยล์
สินค้าแปรรูปจากน้ำมันมะพร้าว ของปาณิษาออยล์

สินค้าหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น น้ำมันมะพร้าวสกัดร้อน น้ำมันมะพร้าวชนิดเม็ด สินค้าแปรรูปจากน้ำมันมะพร้าว เช่น สบู่ โลชั่น เซรั่ม น้ำมันนวด เจลล้างมือ ฯลฯ รวมทั้งรับจ้างผลิต (OEM) ตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถออกบู๊ธจำหน่ายสินค้าและไม่สามารถทำตลาดต่างประเทศได้ จึงปรับตัวหันมาทำตลาดออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุนปาณิษาออยล์ ออกบู๊ธขายสินค้าในงานแสดงสินค้าต่างๆ ช่วยทำให้สินค้าปาณิษาออยล์เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น