สศท.7 โชว์แปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ ศกอ. จังหวัดสุพรรณบุรี ดึงเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

นางสาวสมบัติ พุทธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการนำแนวคิดเกษตรอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตและปรับปรุงการทำการเกษตร โดยมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตนั้น เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นรูปธรรม ทำให้เกษตรกรมีการจัดการแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา ต้นทุน และมีรายได้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการพัฒนาที่มุ่งสู่เกษตร 4.0 เพื่อทำให้อาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง ยั่งยืน สร้างรายได้ที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น

จากตัวอย่างของ Smart Farmer ที่ประสบความสำเร็จโดยนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตข้าวปทุมธานี 1 คือ นายพิชิต เกียรติสมพร เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) และยังเป็นประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่บ้านสวนแตง ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี บอกเล่าว่า เดิมนั้นตนเองเพาะปลูกข้าวโดยใช้สารเคมีเป็นหลัก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขณะที่ได้กำไรน้อย จึงศึกษาวิธีและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวและไม่มีโรคแมลงศัตรูข้าวมารบกวน โดยได้เข้าร่วมโครงการแนวทางการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตข้าวของสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติสุพรรณบุรี เมื่อปี 2562 จึงได้ลงมือทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะข้าวขึ้นที่ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี บนเนื้อที่แปลงนาต้นแบบ 11 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันกับก่อนเข้าร่วมโครงการ โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ครอบคลุมตลอดกระบวนการผลิต อาทิ เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ เครื่องกำจัดวัชพืชที่มีความแม่นยำสูง เครื่องตรวจวัดความต้องการธาตุอาหารพืช เครื่องให้ปุ๋ยอัตโนมัติตามค่าวิเคราะห์ดินระบบควบคุมการให้น้ำอัจฉริยะ ติดตั้ง Sensor ตรวจสภาพต้นข้าว กล้องดักจับแมลง การใช้อากาศยานไร้คนขับในการสำรวจการเจริญเติบโตของพืชร่วมกับการฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ การใช้ Sensor ตรวจวัดสภาพอากาศและสภาพแวดล้อม รวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแปลงเรียนรู้เพื่อนำไปประมวลผลผ่านระบบ Internet ทำให้ลดแรงงานในการดำเนินงาน ลดระยะเวลา ลดปริมาณการใช้น้ำ และลดปริมาณการใช้สารเคมี

นางสาวสมบัติ พุทธา

หลังจากเข้าร่วมโครงการ พบว่า ปีเพาะปลูก 2563/64 ซึ่งเพาะปลูกระหว่างเดือนตุลาคม กุมภาพันธ์ มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,985 บาท/ไร่/รอบการผลิต ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ผลผลิตเฉลี่ย 870 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย 8,976 บาท/ไร่/รอบการผลิต คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 3,991 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ เมษายน 2564 ความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 10,313 บาท/ตัน และความชื้น 25% ราคาอยู่ที่ 9,100 บาท/ตัน โดยจะจำหน่ายเป็นพันธุ์ข้าวปลูกทั้งหมดให้กับเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี และเกษตรกรในชุมชน อย่างไรก็ตาม จากการที่นายพิชิตเข้าร่วมโครงการและได้นำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตข้าว สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ 13 และเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับก่อนเข้าโครงการ

นอกจากนี้ นายพิชิต ยังได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนเกษตรกรให้ไปศึกษาดูงานเรื่องการรวมกลุ่มเกษตรกรการผลิตข้าวเป็นเมล็ดพันธุ์ และแปรรูปข้าวที่ประเทศญี่ปุ่นและจีน โดยได้นำองค์ความรู้มาเผยแพร่แก่สมาชิกแปลงใหญ่เพื่อการบริหารจัดการแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มปริมาณผลผลิต สร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ หากท่านใดที่สนใจรายละเอียดข้อมูลเกษตรอัจฉริยะข้าวปทุมธานี 1 สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายพิชิต เกียรติสมพร บ้านเลขที่ 22/2 หมู่ที่ 4 ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โทร. (089) 174-2512 หรือเข้าไปศึกษาดูงานได้ที่แปลงใหญ่ข้าวตำบลสวนแตงได้โดยตรง หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ สศท.7 โทร. (056) 405-007-8 อีเมล [email protected]

นายพิชิต เกียรติสมพร

ตารางเปรียบเทียบต้นทุนการผลิต ผลผลิตและรายได้ ข้าวปทุมธานี 1 ก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการ

รายการ ก่อนเข้าร่วมโครงการ
(ปีเพาะปลูก
2561/62)
หลังเข้าร่วมโครงการ
(ปีเพาะปลูก
2563/64)
ต้นทุนรวม (บาท/ไร่/รอบการผลิต) 5,729 4,985
ผลผลิต (กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต) 733 870
ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ความชื้น 15% (บาท/ตัน) 9,500 10,313
ผลตอบแทน (บาท/ไร่/รอบการผลิต) 6,964 8,976
ผลตอบแทนสุทธิ (บาท/ไร่/รอบการผลิต) 1,235 3,991

 

Advertisement

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ข้อมูล / สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท