ผู้เขียน | สุรศักดิ์ เครือคำ |
---|---|
เผยแพร่ |
สกสค.หนองบัวลำภู ใช้พื้นที่รอบสำนักงาน สร้างต้นแบบปลูกฝังแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชผักต่างๆ ไว้กินเอง ส่วนหน้าสำนักงานปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามด้วยไม้ดอกบริเวณประตูเข้า-ออก ด้านหลัง
ศูนย์ราชการจังหวัดหนองบัวลำภู หน่วยงานแรกที่เข้าประตูหลังมาคือ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งมี คุณอนงค์ พูลสง่า ผู้อำนวยการสำนักงาน สกสค.จังหวัดหนองบัวลำภู ทำหน้าที่นำพาเจ้าหน้าที่บุคลากรของสำนักงาน ทั้งการให้บริการพี่น้องสมาชิกครู สามี ภรรยา และบุตรหลานในพื้นที่ 6 อำเภอของจังหวัดหนองบัวลำภู ด้วยการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ ให้มีความหลากหลาย มีประสิทธิภาพ มีความทันสมัย และมีคุณภาพ และการบริหารจัดการของ สกสค. เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่านั่นคือ ภาระหน้าที่หลักที่จะคอยอำนวยการให้กับสมาชิกในพื้นที่
แต่สิ่งหนึ่ง เป็นนโยบายที่ คุณธนพร สมศรี เลขาธิการ สกสค. อยากให้นำมาใช้คือ การน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดขึ้นกับพี่น้องสมาชิก ของ สกสค. ทั้งยังมองว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ยั่งยืนประการหนึ่งคือ การส่งเสริมการมีรายได้ด้วยตนเองหรือการลดรายจ่าย หลังเริ่มนั่งเก้าอี้ได้ 15 วัน มองเห็นพื้นที่ว่างรอบอาคารสำนักงานยังมีพื้นที่ว่างอีกมาก
จึงได้สั่งหน้าดินเข้ามา นำพาเจ้าหน้าที่บุคลากรในสำนักงานร่วมลงมือปลูกผักไว้กินเอง แจกจ่ายหรือให้โรงเรียนไปทำอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน จากพื้นที่รอบสำนักงาน ทำให้มีผักหลายชนิดไว้บริโภคเอง ปลอดสารพิษ ปลูกดอกไม้ไว้บูชาพระ ซึ่งก่อนหน้านั้นจะต้องซื้อดอกไม้อาทิตย์ละ 200 บาท ก็ช่วยให้ประหยัดลดค่าใช้จ่าย ใช้เวลาหลังเลิกงานมาช่วยกันดูแล และก็เป็นความชอบความสุขส่วนตัวอยู่แล้วในการเรื่องของการปลูกพืชผัก ไม้ดอก จัดสวน วันนี้จึงมีหลายกิจกรรมที่จะทำให้สำนักงาน สกสค. นอกจากจะผักสดปลอดภัยสารพิษไว้บริโภคแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายได้บ้าง ส่วนด้านบริเวณด้านหน้าพื้นที่ต่างๆ ก็ได้มีการปลูกดอกไม้ จัดสวนหย่อม และจะพัฒนาอีกหลายจุด
ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและสร้างวินัยทางการเงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยกำหนดแนวทางการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ตามหลักการดำเนินชีวิตแบบวิถีใหม่ (New Normal) เป็นการปฏิรูปการเรียนรู้แบบพลิกโฉมพัฒนาระบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 การพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและสร้างวินัยทางการเงิน หวังให้ สมาชิก สกสค. และลูกหลาน ได้ก้าวเดิน สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อสร้างหลักคิดในการดำรงตน ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ สำนักงาน สกสค.หนองบัวลำภู จึงคิดว่า เป็นอีกภาระงานหนึ่งที่จะต้องทำการขับเคลื่อนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิก
นอกจากนั้น การพัฒนาการบริหารจัดการพัฒนาชีวิตครู (คพช.) ของ สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประสบผลสำเร็จ พบว่า นอกจากขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการแล้ว เรายังไม่ได้ส่งเสริมให้ครูสร้างและหารายได้เสริม ประหยัดค่าใช้จ่าย ตลอดจน ดำรงชีวิตภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง จึงทำให้ขาดภูมิคุ้มกัน ทำให้ปัญหาหนี้สินยังคงไม่ได้เบาบางลง แต่เราเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่ควรทำ เรียนรู้อย่างจริงจังคือ วิธีการขับเคลื่อนให้เห็นรูปแบบอย่างถ่องแท้ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ครูดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง เราจะเริ่มจากจุดเล็กนี้ก่อน ผอ.สกสค.หนองบัวลำภู เล่าถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ
นอกจากนี้ ในฐานะที่เราเป็นผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ต้องมีความรู้ ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ที่ดี และมีนโยบายที่ชัดเจนในการบริหารจัดการ ตั้งแต่วันที่ก้าวเข้ามานั่ง ในตำแหน่ง ผอ.สกสค.หนองบัวลำภู แล้ว จึงได้เริ่มลงมือทำให้เห็นที่เราก่อน ก่อนที่เราจะไปพัฒนาคนอื่น ทุกอย่างจึงได้เกิดขึ้นตามที่เห็น
ส่วนอีกกิจกรรมหนึ่ง เมื่อวันพุธ ที่ 17 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา สำนักงาน สกสค.จังหวัดหนองบัวลำภู ยังได้ร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู โดย คุณประวิทย์ บุรินนิตย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู ได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นสำหรับสมาชิก ช.พ.ค.- ช.พส. และบุตรของสมาชิก ช.พ.ค. ในการลงนาม ที่จะพัฒนาอาชีพระยะสั้นให้เกิดรายได้ช่วยเหลือสมาชิก
วันนี้ สำนักงาน สกสค.หนองบัวลำภู จึงก้าวย่างที่จะเดินหน้า เรื่องที่ใกล้ตัว ไม่มองข้ามสิ่งเล็กน้อยในการนำพาตัวเองเป็นแบบอย่าง สร้างต้นแบบของการลดรายจ่าย ลดปัญหาที่จะก่อให้เกิดหนี้สิน นำชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างงดงาม จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ตัวอย่างที่ลงมือทำย่อมมีค่าล้ำกว่าคำสอน