หนุ่มสุพรรณฯ เพาะพันธุ์ปลากราย สร้างรายได้ เพียงมีแหล่งน้ำและการจัดการที่ดี ลูกปลามีคุณภาพ

ปัจจุบัน ปลากราย ได้มีการนำมาเลี้ยงและเพาะขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายมากขึ้น เพราะปัจจุบันปลากรายในแหล่งน้ำธรรมชาติเริ่มมีจำนวนลดน้อยลง แต่จำนวนผู้บริโภคยังมีความต้องการบริโภคเนื้อปลาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดของปลากรายสามารถจำหน่ายได้เสมอ การเลี้ยงเพื่อเป็นการค้าจึงเริ่มมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้มีเกษตรกรบางรายฝึกการเพาะพันธุ์ปลากรายจนประสบผลสำเร็จ และสร้างรายได้ดีไม่น้อยทีเดียว

คุณวิทยา สาเพิ่มทรัพย์

คุณวิทยา สาเพิ่มทรัพย์ อยู่บ้านเลขที่ 163 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเกษตรกรที่ชื่นชอบปลากรายมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัด จึงทำให้สัตว์น้ำจืดชนิดนี้เป็นเหมือนแรงบันดาลใจที่อยากจะทดลองเพาะพันธุ์ด้วยสองมือของเขาเอง ซึ่งจากความพยายามไม่ได้นำมาแต่ความสำเร็จ แต่สามารถเป็นงานที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวให้กับเขาได้ดีอีกด้วย

ไข่ปลากราย

คุณวิทยา เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเดิมทีมีอาชีพทำงานเกี่ยวกับเครื่องกลอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาประมาณ ปี 2543 มีเหตุต้องย้ายมาอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี จึงยึดอาชีพเพาะพันธุ์ปลา เพื่อเป็นอาชีพในขณะนั้นด้วย เพราะภายในบริเวณบ้านมีพื้นที่บ่อน้ำอยู่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้ทดลองเพาะพันธุ์ปลา กราย และจำหน่ายจนสร้างรายได้มาจนถึงทุกวันนี้

การงมไข่ปลากรายขึ้นมาฟัก

ในขั้นตอนของการเพาะพันธุ์ปลากรายนั้น คุณวิทยาจะนำความรู้ที่ได้จากการไปศึกษาที่ สำนักงานประมง มาทดลองจนประสบผลสำเร็จ โดยหลักการคือ ปลากรายจะพร้อมผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนตุลาคม เพราะฉะนั้นช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการผสมพันธุ์ปลากรายจำหน่าย

ฟักไข่ปลากรายในบ่อที่เตรียมไว้

“โดยพ่อแม่พันธุ์ปลากรายที่มีในบ่อ ก็จะซื้อจากคนที่เขาไปหามาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ช่วงหลังก็จะขอซื้อจากคนที่รู้จัก ที่เขาเลี้ยงสำหรับขาย ก็จะขอซื้อเขามาบ้างเพื่อไขว้สายพันธุ์ เพื่อให้ลูกปลากรายที่ได้แข็งแรงมากขึ้น ซึ่งการนำปลามาเลี้ยงภายในบ่อก็ต้องทำเลียนแบบธรรมชาติให้ได้มากที่สุด ให้เหมือนเขาอยู่ตามธรรมชาติ ก็จะเป็นการทำให้ปลาโตสมบูรณ์ และพร้อมที่จะวางไข่ได้” คุณวิทยา บอก

ลูกปลากรายไซซ์ตุ้ม

การผสมพันธุ์ปลากราย จะนำพ่อแม่พันธุ์มาใส่เลี้ยงในบ่อดิน ที่มีขนาดประมาณ 1-2 ไร่ มีความลึก ตั้งแต่ 120-170 เซนติเมตร โดยให้พื้นบ่อตื้นลึกสลับกัน โดยปลากรายที่สามารถวางไข่ได้ต้องมีอายุอย่างน้อย   1 ปีขึ้นไป ประมาณต้นเดือนมีนาคม ปลากรายก็จะเริ่มเข้าสู่ช่วงวางไข่ ซึ่งช่วงนั้นจะนำไม้ที่เป็นแผ่นๆ   มีความยาว 80-90 เซนติเมตร ใช้ประมาณ 100 แผ่น ปักลงไปภายในพื้นบ่อ หมั่นลงไปเช็กทุก 5 วัน ว่าปลามาไข่ติดไว้ที่แผ่นไม้ไหม ถ้ามีก็เอาขึ้นมาฟักต่อไป

ปลากรายไซซ์นิ้ว

เมื่อปลากรายวางไข่ติดกับไม้ที่ปักลงใต้บ่อแล้ว คุณวิทยา บอกว่า จะนำแผ่นไม้เหล่านั้นขึ้นมาจากบ่อ และทำการฟักในภาชนะที่เตรียมไว้ โดยต้องเปิดเครื่องทำออกซิเจนภายในบ่ออยู่ตลอดเวลา ผ่านไปประมาณ 5-7 วัน ลูกปลาจะออกจากไข่ หลังจากนั้นประมาณ 3 วัน หากไม่เลี้ยงเป็นปลาไซซ์ก็จะทำเป็นปลาขนาดไซซ์ตุ้ม จำหน่ายสร้างรายได้ด้วยเช่นกัน

การอนุบาลลูกปลากราย

โดยการเลี้ยงปลากรายทั้งหมดในบ่อนั้น คุณวิทยา บอกว่า เรื่องโรคที่จะทำให้ปลาตายไม่มีปัญหาสำหรับเรื่องนี้ เพียงแต่การเลี้ยงมีการจัดการน้ำที่ดี มีน้ำใหม่เติมเข้าบ่ออยู่เสมอ ก็จะช่วยให้ปลามีความแข็งแรงและวางไข่ได้ดี

ปลากรายที่คัดทำพ่อแม่พันธุ์

“อาหารสำหรับใช้เลี้ยงปลากราย จะเป็นอาหารเม็ดที่มีโปรตีน 40 เปอร์เซ็นต์ โดยให้สลับกับเหยื่อสด วันละ 1 ครั้ง เนื่องจากปลากรายไม่ได้ส่งจำหน่ายเป็นปลาเนื้อ แต่เลี้ยงเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ ดังนั้น จะไม่เน้นให้ปลามีลักษณะที่อ้วนมากเกินไป สำหรับอุปสรรคในการเพาะพันธุ์ปลากรายนั้น น้ำถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะหากได้น้ำที่ไม่สะอาด เมื่อนำมาใส่ลงในบ่อจะทำให้เวลาที่ปลาวางไข่ ไข่ของปลากรายจะเสียและไม่มีความแข็งแรง” คุณวิทยา บอก

สำหรับในเรื่องของการทำตลาดนั้น คุณวิทยา บอกว่า จะมีพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการซื้อเป็นปลาไซซ์ตุ้มไปเลี้ยงต่อเป็นปลาไซซ์นิ้วมาติดต่อขอซื้อ และลูกปลาบางส่วนจะเลี้ยงเอง เพื่อสร้างเป็นปลาไซซ์นิ้วสำหรับจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่ต้องการซื้อไปเลี้ยงต่อเป็นปลาเนื้อสร้างรายได้ต่อไป โดยราคาลูกปลากรายที่จำหน่าย ราคาลูกปลาไซซ์ขนาด 3.5-4.5 นิ้ว จะอยู่ที่ตัวละ 4 บาท ขนาดปลาไซซ์ตุ้ม จำหน่ายอยู่ที่ ตัวละ 70-10 สตางค์

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะเลี้ยงปลากรายเพื่อเป็นอาชีพสร้างรายได้นั้น คุณวิทยา แนะนำว่า ควรศึกษาในเรื่องของข้อมูลการเลี้ยงให้หลายๆ ด้าน เพราะในเรื่องของแหล่งน้ำที่ใช้เลี้ยงค่อนข้างมีความสำคัญอย่างมาก หากมีแหล่งน้ำที่ดีและเพียงพอต่อการเลี้ยงตลอดทั้งปี ในช่วงแรกอาจจะซื้อลูกปลาไปปล่อยลงในบ่อภายในสวนหรือบ่อน้ำที่ว่าง เมื่อผ่านไปเกือบ 1 ปี ปลาที่เลี้ยงไว้ก็สามารถจับจำหน่ายได้

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่ คุณวิทยา สาเพิ่มทรัพย์ หรือที่ลูกค้ารู้จักกันในชื่อ   เอ๋ ปลากราย ที่หมายเลขโทรศัพท์ 086-166-7873    

เผยแพร่ครั้งแรก วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564