ผู้เขียน | อาจารย์ธนากร เที่ยงน้อย |
---|---|
เผยแพร่ |
สวัสดีครับ ยินดีที่ได้พบกันผ่านคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย อีกครั้ง ย้อนไปสมัยที่ผมยังเด็ก ย้ายตามคุณพ่อไปอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เวลาผมมีโอกาสได้ตามคุณพ่อออกไปตรวจงานตามชุมชนในชนบท เคยเห็นหลายบ้านหลายชุมชนที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันเป็นอาชีพหลายชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตัดภาพมาเมื่อผมโตเป็นหนุ่มเรียนระดับปริญญาตรี เรื่องราวหรือข่าวคราวการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมดูซาไปจากข่าวสารต่างๆ ในภาพความทรงจำของผมรู้สึกว่าอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอาจจะไม่ใช่อาชีพส่งเสริมสำหรับเกษตรกรในประเทศไทยแล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้คุยกับรุ่นน้องสมัยเรียนคนหนึ่ง ทำให้ได้รู้ว่าอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้กลับมาเป็นอาชีพสร้างงานสร้างเงินให้กับเกษตรกรไทยอีกครั้ง จะเป็นอย่างไร จะน่าสนใจแค่ไหนตามผมไปพบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ด้านหม่อนไหมของไทย ตามไปดูรายละเอียดกันครับ
ทำความรู้จัก บริษัท จุลไหมไทย จำกัด
บริษัท จุลไหมไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่ 443 หมู่ที่ 3 ถนนสามัคคีชัย ตำบลวังชมภู อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นหนึ่งในงานด้านการเกษตรที่ กำนันจุล คุ้นวงศ์ ส่งเสริมให้เข้มแข็งขึ้น โดยเห็นว่าอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และสาวไหมเส้นยืน เป็นอาชีพที่ทำได้ยาก ก่อเกิดประโยชน์แก่คนในพื้นที่ และมีอุตสาหกรรมรองรับ ซึ่งถือว่าเหมาะสมตรงตามหลักในการทำธุรกิจของครอบครัวที่กำนันจุลได้กำหนดไว้มากที่สุด ในปี 2511 จึงได้ก่อตั้ง บริษัท จุลไหมไทย จำกัด เพื่อผลิตรังไหม พร้อมกับจัดตั้งโรงงานสาวไหม และยังเป็นธุรกิจหลักจนถึงปัจจุบัน ส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และผลิตเส้นไหมคุณภาพทดแทนการนำเข้า จุลไหมไทยได้ทุ่มเทการทำงานเพื่อผลิตเส้นไหมคุณภาพมาแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ ในปัจจุบันมี คุณจงสฤษดิ์ คุ้นวงศ์ ทายาท รุ่น 3 หลานปู่กำนันจุล เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ กลุ่มจุล ด้วยแนวคิด “From Soil to Silk” ที่จะนำความสำเร็จจากความใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอนของการผลิตเส้นไหม
คุยกับ CEO จุลไหมไทย
ผมได้รับโอกาสให้ร่วมพูดคุยกับ คุณจงสฤษดิ์ คุ้นวงศ์ ถึงสถานการณ์หม่อนไหมของไทย รวมไปถึงเรื่องการส่งเสริมอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของ บริษัท จุลไหมไทย จำกัด ให้กับพี่น้องเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ จะมาสรุปให้กับท่านผู้อ่าน คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” ดังนี้ครับ คุณจงสฤษดิ์ เล่าว่า “สถานการณ์การผลิตเส้นไหมปัจจุบันของไทยและของโลกช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดการขาดแคลนรังไหมและเส้นไหมในตลาดโลก เพราะประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตไหมรายใหญ่ที่ครองตลาดโลก 70% ลดการผลิตไหมลง ทำให้ราคารังไหมและเส้นไหมในตลาดโลกขยับสูงขึ้นทันที ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยที่จะเข้าไปเพิ่มส่วนแบ่งการผลิตและการค้าไหมในตลาดโลก ทาง บริษัท จุลไหมไทย จำกัด จึงได้พยายามที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรไทยเพิ่มกำลังการผลิตไหมให้มากขึ้น
ตอนนี้กลุ่มจุลไหมไทย มีเกษตรกร 5,000 ครอบครัว ใน 39 จังหวัด ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่บริษัทเข้าไปส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มีการประกันราคารับซื้อรังไหมตามคุณภาพของผลผลิต ในส่วนของราคาประกันจะมีการประกาศราคาล่วงหน้า 1 ปี โดยจะประกาศทุกเดือนมกราคมและยืนราคาทั้งปี ในเรื่องราคาประกันที่ผ่านมาบริษัทของเราไม่เคยมีการลดราคาประกัน มีแต่เพิ่มราคาประกันให้เกษตรกรสมาชิก” ผมถามถึงอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รวมทั้งตลาดของผ้าไหมในประเทศที่ดูเหมือนเงียบไป ซบเซาไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คุณจงสฤษดิ์ ยืนยันว่า “คนนอกวงการอาจจะดูซบเซา แต่ผ้าไหมไม่เคยหายไปจากวัฒนธรรมไทย สถานการณ์ตลาดผ้าไหมของไทยเรานั้นยังดีอยู่ คนไทยกับการใช้ผ้าไหมถือเป็นวัฒนธรรมของประเทศ ทำให้มีความต้องการผ้าไหมอย่างสม่ำเสมอ ไม่เหมือนต่างประเทศ เช่น ประเทศบราซิล ที่เคยเป็นประเทศผู้ผลิตไหมเพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีการใช้ไหมในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในประเทศ สุดท้ายเมื่อตลาดส่งออกของบราซิลไม่ดี ทำให้อุตสาหกรรมไหมของประเทศบราซิลต้องได้รับผลกระทบอย่างมาก ในส่วนตลาดต่างประเทศผ้าไหมยังไปได้ดีแม้ในช่วงนี้จะมีผลกระทบจากโควิด แต่ตลาดของผ้าไหม ตลาดของเส้นไหม ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะผ้าไหมได้เข้าสู่ตลาดออนไลน์และมีแนวโน้มว่าจะไปได้ดีในตลาดนี้”
ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบพันธสัญญากับจุลไหมไทย
เมื่อสถานการณ์ในตลาดโลกเป็นใจให้กับไหมจากประเทศไทย ทาง บริษัท จุลไหมไทย จำกัด จึงเร่งขยายการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้กับเกษตรกรไทย คุณจงสฤษดิ์ บอกว่า
“ในปัจจุบัน เกษตรกร 5,000 ราย ที่เป็นสมาชิกกับเรา ทำการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบมีพันธสัญญากับเรา ทางบริษัท จุลไหมไทย จะมีทีมนักวิชาการส่งเสริมการผลิตหม่อนไหมเข้าไปแนะนำให้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย โดยจะมีผู้แทนเกษตรกรในพื้นที่เป็นผู้นำกลุ่ม เราจะแนะนำในเรื่องของการปลูกหม่อน การจัดการแปลงหม่อน การเลี้ยงไหม การดูแลหนอนไหม ซึ่งอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพที่มั่นคง ต้นหม่อนเกษตรกรปลูก 1 ครั้ง อยู่ได้เป็น 10 ปี มีรายได้เร็ว มีรายได้ยั่งยืน เป็นรายได้ที่เป็นเงินสดรายเดือน โดยการใช้เพียงแค่แรงงานในครอบครัว เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของเราจะมีตลาดที่แน่นอนมั่นคง ที่สำคัญอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไม่ใช้สารเคมี เพราะตัวหนอนไหมไม่ทนทานสารเคมี ดังนั้น อาชีพนี้จึงไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกร”
เกษตรกรรายย่อยที่ต้องการเป็นสมาชิก
ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กับจุลไหมไทย ฟังทางนี้
คุณจงสฤษดิ์ บอกว่า “ทาง บริษัท จุลไหมไทย จำกัด กำลังต้องการขยายจำนวนสมาชิกเกษตรกรเข้าร่วมอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบพันธสัญญากับจุลไหมไทย การที่เกษตรกรรายย่อยจะเข้าเป็นสมาชิกปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบพันธสัญญากับจุลไหมไทยได้นั้น ก็มีเงื่อนไขง่ายๆ คือ
- เกษตรกรจะต้องมีพื้นที่ปลูกต้นหม่อนอย่างน้อย 6 ไร่
- 2. เมื่อเกษตรกรปลูกหม่อนไปได้ประมาณ 6 เดือน ซึ่งเป็นเวลาที่จะสามารถตัดใบหม่อนได้ครั้งแรก เกษตรกรจะต้องทำโรงเรือนเลี้ยงไหม ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่สามารถกู้เงินลงทุนในส่วนนี้ได้จากทาง ธ.ก.ส.
การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แบบทำพันธสัญญากับจุลไหมไทยจะทำให้เกษตรกรมีรายได้แบบรายเดือน โดยมีเงื่อนไขว่าหากเกษตรกรมีแหล่งน้ำพร้อมใช้ ในระยะเวลา 1 ปี จะสามารถทำรายได้ได้ทั้ง 12 เดือน แต่หากเกษตรกรไม่มีแหล่งน้ำ ในเวลา 1 ปี สามารถสร้างรายได้ได้ 7-8 เดือน โดยเว้นหน้าแล้งที่จะไม่สามารถเลี้ยงไหมได้ สำหรับพื้นที่ที่สามารถเลี้ยงไหมได้ดีนั้น ควรเป็นพื้นที่ที่มีอากาศค่อนข้างเย็น อย่างทางภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคกลางบางจังหวัด ไปจนถึงภาคตะวันตกบางจังหวัด” ในส่วนของการรับซื้อผลผลิตนั้น คุณจงสฤษดิ์ อธิบายว่า “เมื่อเกษตรกรสามารถสร้างผลผลิตได้ ทางจุลไหมไทยจะรับซื้อตามคุณภาพของผลผลิต โดยเกษตรกรสมาชิกที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ไกลจากจังหวัดเพชรบูรณ์เกิน 150 กิโลเมตร เกษตรกรสามารถขนส่งรังไหมมาส่งให้ที่ บริษัท จุลไหมไทยได้เลย แต่ถ้าหากเกษตรกรสมาชิกอยู่ไกลจากจังหวัดเพชรบูรณ์เกินกว่า 150 กิโลเมตร ทางบริษัทจะส่งทีมเข้าไปรับซื้อ และจ่ายค่าผลผลิตเป็นเงินสดภายใน 5 วันทำการ”
งานปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไม่ใช่งานหนัก แต่เป็นงานละเอียด
คุณจงสฤษดิ์ ให้ข้อมูลว่า จากสถิติที่ผ่านมา เกษตรกรสมาชิกของเราซึ่งใช้พื้นที่ 6 ไร่ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีรายได้เฉลี่ยที่ 8,000 บาท ต่อกล่อง ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรสมาชิกของจุลไหมไทย เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นสามเท่า สามารถผลิตรังไหมได้ปีละ 2,000 ตัน ในอนาคตทางบริษัทตั้งเป้าหมายต้องการเพิ่มเกษตรกรคู่พันธสัญญาอีกเป็นเท่าตัว โดยตั้งเป้าหมายที่การผลิตรังไหมให้ได้ 5,000 ตัน ต่อปี และทาง บริษัท จุลไหมไทย วางเป้าหมายว่าจะเพิ่มรายได้เฉลี่ยให้เกษตรกรคู่สัญญาจาก 8,000 บาท ต่อกล่อง เป็น 10,000 บาท ต่อกล่อง ให้ได้ในอนาคตอันใกล้
สุดท้าย คุณจงสฤษดิ์ ฝากถึงเกษตรกรท่านผู้อ่านคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” ว่า “ตลาดในอนาคตของไหมจะไปได้ดี เพราะจีนลดการผลิตลง จะเป็นโอกาสสำหรับเกษตรกรไทย แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับเกษตรกรคือ แม้ว่างานปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไม่ใช่งานหนัก แต่เป็นงานละเอียด ส่วนสิ่งที่ท้าทาย บริษัท จุลไหมไทย คือ ทำอย่างไรให้อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมนี้ง่ายสำหรับเกษตรกรที่เป็นคนรุ่นใหม่” หากใครสนใจเป็นสมาชิกปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกับจุลไหมไทย ติดต่อได้ที่ 056-029-6114 คอลเซ็นเตอร์ ของจุลไหมไทยจะมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของบริษัทเข้าไปดูแล
คงได้ข้อมูลกันไปไม่น้อยกับอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบพันธสัญญากับจุลไหมไทย ใครสนใจรีบสำรวจตัวเองว่าพร้อมสำหรับอาชีพนี้หรือไม่อย่างไร ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้ว คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย ขอลากันไปก่อน สวัสดีครับ