ชป.ขานรับนโยบายนายกฯ สั่งทุกโครงการชลประทาน ช่วยชาวนา หลังหลายพื้นที่มีฝนตกน้อย

กรมชลประทาน ขานรับนโยบายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทุกพื้นที่ของประเทศ พร้อมสั่งการให้กรมชลประทาน เร่งให้การช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันความเสียหายของนาข้าว และบริหารจัดการน้ำตามมาตรการที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ตนได้สั่งให้ทุกโครงการชลประทาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ในการวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวนาปีที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จากภาวะฝนทิ้งช่วง เนื่องจากในช่วงนี้ทางตอนบนยังคงมีฝนตกน้อย ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหรือข้าวนาปีได้อย่างเต็มศักยภาพ

เบื้องต้นได้ประสานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ทางตอนบนของประเทศเพิ่มมากขึ้น พร้อมขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ทำการเพาะปลูกเมื่อมีฝนตกสม่ำเสมอในพื้นที่ ส่วนพื้นที่ใดที่ทำการเพาะปลูกไปแล้วจะจัดสรรน้ำให้ตามรอบเวร เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร

ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้มีการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล ในช่วงวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2564 จากอัตราวันละ 6 ล้าน ลบ.ม.เป็นอัตราวันละ 12 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนสิริกิติ์ ปรับเเผนการระบายน้ำในช่วงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2564 จากอัตราวันละ 10 ล้าน ลบ.ม เป็นอัตราวันละ 14 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังคงระบายน้ำวันละ 3.89 ล้าน ลบ.ม.เท่ากัน ซึ่งกรมชลประทานจะจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะข้าวนาปีที่กำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำตามความเหมาะสมต่อไป

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 35,381 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันประมาณ 40,687 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,405ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 16,466ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำตามมาตรการที่วางไว้ ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี วางแผนการปลูกพืชโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก เน้นย้ำบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเก็บกักน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ควบคู่ไปกับการวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย การกำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเจ้าหน้าที่ กำหนดเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมพร้อมในส่วนของเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ อาทิ รถแบคโฮ รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และเครื่องผลักดันน้ำเป็นต้น ไว้ในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนได้ทันที รวมไปถึงการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ การเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับเน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำในทุกช่วงเวลาให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด หากหน่วยงานหรือประชาชนท่านใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา