เทคนิคปลูกมะเขือเทศ แบบมือโปร! ผลสวย ลูกดก มาตรฐาน GAP เจาะตลาดออนไลน์-ส่งห้างดัง!

พูดถึงผักที่ได้รับความนิยมบริโภคมากในระดับโลก! “มะเขือเทศ” นั้นติดอันดับต้นๆ แน่นอน โดยในแต่ละปีนั้นมีการบริโภคมากกว่า 170 ล้านตัน (ข้อมูล : FAO) เพราะเป็นพืชที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งการบริโภคผลสด และการแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ซอสมะเขือเทศ มะเขือเทศปอกผิว น้ำมะเขือเทศ เป็นต้น

มะเขือเทศเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่จะชอบอากาศแห้งและเย็นเป็นพิเศษ จึงนิยมปลูกมากในภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งแหล่งปลูกอันดับต้นๆ ของประเทศคือ “จ.เชียงใหม่” โดยเฉพาะในเขตพื้นที่สูง อย่าง อ.ฮอด

วันนี้เราจะพาไปพบกับ คุณสมศักดิ์ ปู่ปัน หรือคุณแอร์ บ้านวังกอง ต.บ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ยึดการปลูก “มะเขือเทศท้อ” ตามรอยครอบครัวมานานกว่า 12 ปี แต่ว่าได้มีการพัฒนาทั้งในแง่การตลาดและการผลิต จนปัจจุบันสามารถผลิตมะเขือเทศได้มากรุ่นพ่อแม่เกือบ 1 เท่า และที่สำคัญคือ ได้รับการรับรองเกษตรปลอดภัยมาตรฐาน GAP ด้วย

นอกจากนี้ คุณแอร์ ยังได้รวมกลุ่มกับเกษตรกรในชุมชน ร่วมกันผลักดันโครงการเกษตรแปลงใหญ่ (กลุ่มพืชผัก) ขึ้นเป็นแห่งแรกใน จ.เชียงใหม่ ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด สามารถนำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรส่งเข้าโมเดิร์นเทรดได้ในที่สุด

จากวัยรุ่นที่ไม่มีความรู้ทางการเกษตร ค่อยๆ พัฒนาผลผลิตได้อย่างมีคุณภาพ และเพิ่มปริมาณขึ้นเกือบ 1 เท่า ทำได้อย่างไรกัน?! ต้องตามไปดู

 

ปลูก “มะเขือเทศ” หมุนเวียนกับพืชชนิดอื่น
สร้างความสมดุลของดิน ช่วยเพิ่มผลผลิตได้อีกทาง

การทำเกษตรของคุณแอร์ จะอยู่ในรูปแบบ “การปลูกพืชหมุนเวียน” บนพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ คือ จะปลูกพืชมากกว่า 1 ชนิดหมุนเวียนกันไปบนพื้นที่เดิม และต้องไม่เป็นพืชตระกูลเดียวกัน อย่างคุณแอร์ นั้นเลือกปลูกมะเขือเทศท้อ, กะหล่ำปลี, พริก และข้าวไร่ (ข้าวที่นิยมปลูกบนพื้นที่สูง) สลับสับเปลี่ยนกันไป (แต่หากเป็น “พริก” จะไม่ปลูกติดกับ “มะเขือเทศ” เนื่องจากเป็นพืชตระกูลเดียวกัน)

คุณแอร์ บอกว่า การปลูกพืชหมุนเวียนจะช่วยหลีกเลี่ยงการระบาดของโรคและแมลง และเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงดิน เนื่องจากพืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารแตกต่างกันทั้งชนิดและปริมาณ รวมถึงระบบรากยังมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านการแผ่กว้างและหยั่งลึก หากมีการจัดระบบการปลูกพืชอย่างเหมาะสม จะทำให้ดินไม่ขาดธาตุอาหารธาตุใดธาตุหนึ่ง

สุดท้ายแล้วเมื่อพืชไม่เป็นโรค และมีธาตุอาหารในดินที่สมบูรณ์ย่อมทำให้ผลผลิตดก และมีคุณภาพมากขึ้น แถมยังลดต้นทุนด้านการดูแลรักษาไปในตัว

ทั้งนี้ ในบรรดาพืชทั้งหมดที่ปลูกนั้น คุณแอร์ บอกว่า “มะเขือเทศ” ถือเป็นพืชที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำมากที่สุด โดยมะเขือเทศท้อที่ปลูกนั้นคือสายพันธุ์ “ซีซันไนน์” ตราเจียไต๋ เนื่องจากทรงผลใหญ่ ติดผลดก ขนาดผลสม่ำเสมอ เนื้อแน่น สีแดงน่ารับประทาน เก็บเกี่ยวไวเพียง 55-60 วัน (หลังหยอดเมล็ด) และที่สำคัญคือ ทนทานการขนส่ง เพราะแปลงนั้นอยู่บนที่พื้นที่สูง และค่อนข้างไกลจากตลาด มะเขือเทศซีซันไนน์ นั้นมีผิวที่หนา ไม่ช้ำง่าย ผลตอบรับจากพ่อค้าจะดีมาก

แปลงมะเขือเทศท้อ GAP ของคุณแอร์ ที่มีการสลับปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่น
มะเขือเทศท้อ “ซีซันไนน์” ตราเจียไต๋ ผลใหญ่ ติดผลดก เนื้อแน่น สีผิวสวยและทนทานการขนส่ง

“ออกแบบแปลง-ระบบน้ำ”
ต้องเหมาะสมกับพื้นที่

การวางระบบน้ำเพื่อการเกษตร ควรพิจารณาถึงสภาพพื้นที่เป็นอันดับแรก โดยพื้นที่ของคุณแอร์นั้นจะอยู่บริเวณเนินสูงตามลักษณะของภูมิประเทศ ไม่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติและระบบชลประทาน จึงต้องขุดสระเก็บน้ำเพื่อการเกษตร โดยระบบน้ำที่คุณแอร์ ใช้คือ “การปล่อยน้ำเข้าร่องแปลงปลูก” ระบบน้ำแบบนี้จะเป็นการส่งน้ำจากสระเก็บน้ำเข้าไปยังแปลงปลูก โดยไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ใดๆ เลย แต่ต้องอาศัยการออกแบบแปลงอย่างเป็นระบบ และประณีตอยู่พอสมควร

เริ่มจากการขุดคันกั้นน้ำรอบนอกสุดของแปลงลึกประมาณ 1 เมตร จากนั้นภายในแปลงจะยกร่องปลูกสูงประมาณ 30-50 ซม. ระยะห่างระหว่างแปลง 1 เมตร และใช้ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 50 ซม.

ทั้งนี้ แปลงมะเขือเทศแต่ละแปลงจะมีขนาดไม่กว้างมากนัก เพื่อให้การกระจายน้ำเป็นไปอย่างทั่วถึง แต่ละแปลงจะเชื่อมต่อกันได้โดยการทะลายคันกันน้ำเล็กน้อย พอให้น้ำไหลส่งต่อไปยังแปลงอื่นได้

สำหรับขั้นตอนการให้น้ำ คุณแอร์ จะปล่อยน้ำเข้าในแปลงปลูก และวิดน้ำรดตามบริเวณต้นมะเขือเทศ ทุกๆ 5-7 วัน/ครั้ง โดยเกษตรกรจะต้องไม่ปล่อยน้ำให้สูงถึงระดับรากของมะเขือเทศ (ความสูงไม่เกินครึ่งร่องปลูก) เพราะจะทำให้มะเขือเทศได้รับน้ำมากเกินไปจนเกิดการชะงักการเจริญเติบโต

สุดท้าย คุณแอร์ เน้นว่า กระบวนการเตรียมแปลงสำหรับระบบน้ำแบบนี้ เกษตรกรจะต้องปรับหน้าดินให้เสมอกัน เพื่อให้น้ำสามารถไหลถึงกันได้อย่างสะดวก และไม่เหมาะกับ “ดินทราย” เนื่องจากมีการกักเก็บน้ำที่ไม่ดี

“การปล่อยน้ำเข้าร่องแปลงปลูก” จะปล่อยน้ำจากท่อที่เชื่อมกับสระเก็บน้ำ ให้ไหลไปตามร่องแปลง จากนั้นเกษตรกรจะวิดน้ำรดตามอีกครั้ง โดยระบบน้ำแบบนี้มีข้อดีคือต้นทุนด้านอุปกรณ์ต่ำ และไม่ต้องให้น้ำบ่อย เพราะดินจะมีความชื้นจากน้ำที่ขัง

“ปรับโครงสร้างดิน” ด้วยปุ๋ยอินทรีย์
ช่วยดินดูดซับธาตุอาหารได้ดีขึ้น

ก่อนปลูกมะเขือเทศท้อ คุณแอร์ จะทำการเพาะกล้าโดยใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ระหว่างนั้นจะต้องทำการเตรียมดิน โดยจะเริ่มจากการไถพรวนดิน และตากดินไว้ประมาณ 10 วัน จากนั้นจึงไถพรวนดินอีกรอบ แล้วจึงขึ้นแปลงปลูก

ทั้งนี้ ก่อนลงปลูกกล้า คุณแอร์ จะต้องรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-16-16 บลู อัตรา 15-20 กก./ไร่ เพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดินให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืชในระยะแรก ทำให้พืชแข็งแรง มีรากหยั่งลึก หาอาหารได้มากขึ้น

คุณแอร์ บอกว่า การทำการเกษตรซ้ำบนพื้นที่เดิมย่อมทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง หากจะรักษาธาตุอาหารในดินให้คงอยู่ใกล้เคียงกับสภาพเดิม ก็ต้องเติมธาตุอาหารกลับคืนไปเช่นกัน

หลังจากนั้น คุณแอร์ จะรองก้นหลุมทับอีกชั้นด้วย “ปุ๋ยอินทรีย์” อย่างปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก ประมาณ 2-3 กระสอบ ช่วยปรับสภาพโครงสร้างของดิน เพิ่มช่องว่างสำหรับการระบายน้ำ-การถ่ายเทอากาศ และที่สำคัญคือ เพิ่มความสามารถในการดูดซับธาตุอาหารได้ดีขึ้น เมื่อใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ควบคู่ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-16-16 บลู จะทำให้ดินมีความสมบูรณ์ทั้งโครงสร้างและธาตุอาหาร เอื้อต่อการเจริญเติบโตของรากพืช

สูตรเด็ดความสำเร็จ ผลผลิตมากกว่า 5 ตัน/ไร่
“ธาตุอาหารในดิน” ต้องเพียงพอ

คุณแอร์ เล่าย้อนให้ฟังว่า ด้วยความที่ตนเองนั้นไม่มีความรู้ด้านการเกษตรมาก่อน มาเริ่มทำเกษตรตั้งแต่เรียนจบชั้น ม.6 ก็ได้แต่ทำตามประสบการณ์ที่พ่อแม่เคยทำมา แต่ปัจจุบันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตนั้นง่ายขึ้น จึงได้ลองศึกษาเรื่องความต้องการธาตุอาหารของพืชในแต่ละระยะการเจริญเติบโต และปรับวิธีการบำรุงดินตาม ก็พบว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน

โดยจากเดิมที่รุ่นพ่อแม่เคยปลูกมะเขือเทศได้ผลผลิตประมาณ
3 ตัน/ไร่ แต่ปัจจุบันบนพื้นที่เดียวกันนั้นสามารถเพิ่มผลผลิตได้ขั้นต่ำ 5 ตัน/ไร่ ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ค่อยข้างมากสำหรับการปลูกพืชบนพื้นที่สูง

โดยขั้นตอนการบำรุงดินของคุณแอร์ จะแบ่งป็น 3 ช่วง ดังนี้

      • ช่วงที่ 1 ระยะต้นกล้า (อายุประมาณ 7 วัน หลังย้ายกล้า)
        ช่วงนี้เป็นช่วงเร่งการเจริญเติบโต คุณแอร์ จะใส่ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-16-16 บลู ในอัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อให้ต้นมะเขือเทศแตกราก-แตกแขนงได้ไว ร่วมกับปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 46-0-0 อัตรา 10-15 กิโลกรัม/ไร่ ช่วยให้ใบพืชมีสีเขียว ลำต้นแข็งแรง เมื่อใส่ปุ๋ยเสร็จแล้ว จะปล่อยน้ำเข้าในแปลงปลูก และวิดน้ำรดตาม ทุกๆ 5-7 วัน/ครั้ง

        • ช่วงที่ 2 ระยะทรงพุ่ม (อายุประมาณ 30 วัน หลังย้ายกล้า)
          ช่วงนี้ต้นมะเขือเทศเริ่มสูงประมาณ 50 ซม. กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการติดดอก จะใส่ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-16-16 บลู อัตรา 70 กิโลกรัม/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 13-13-24 อัตรา 70 กิโลกรัม/ไร่ (อัตราส่วน 1:1)โดยวิธีการให้ปุ๋ย คุณแอร์จะโรยปุ๋ยบริเวณใต้ต้นมะเขือเทศ แล้วกลบดินตาม จากนั้นจะปล่อยน้ำเข้าในแปลงปลูก และวิดน้ำรดตาม ทุกๆ 5-7 วัน/ครั้ง ตรงจุดที่ฝังปุ๋ย สาเหตุที่ต้องกลบปุ๋ยเนื่องจากป้องกันเม็ดปุ๋ยกระเด็นร่วงตกร่องแปลงขณะรดน้ำ นอกจากนี้ ยังถือเป็นการขุดลอกร่องแปลงไม่ให้ตื้นไปในตัว เพราะดินที่ใช้กลบปุ๋ยนั้นคือดินจากร่องน้ำนั่นเอง

          ทั้งนี้ คุณแอร์ บอกว่า ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร
          16-16-16 บลู สามารถละลายได้ง่ายมาก อาศัยน้ำแค่ปริมาณเล็กน้อยก็ทำให้เม็ดปุ๋ยละลายได้แล้ว ยิ่งช่วงฤดูแล้งที่มีน้ำสำหรับรดต้นมะเขือเทศไม่มาก ก็ไม่ต้องกังวลว่าเม็ดปุ๋ยจะไม่ละลายจนพืชจะได้รับธาตุไม่ครบถ้วนคุณแอร์ เสริมว่า ปุ๋ยตรากระต่ายสูตร 16-16-16 บลู นั้นมีธาตุอาหารรอง-ธาตุอาหารเสริม อย่าง “แคลเซียม-โบรอน” จะช่วยให้ต้นมะเขือเทศแข็งแรง ไม่โทรม สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 15-16 มีด ซึ่งแตกต่างจากสวนคนอื่นที่จะสามารถเก็บผลผลิตได้เพียง 10 มีด เท่านั้น และ “แคลเซียม-โบรอน” ยังมีส่วนช่วยในการป้องกันผลแตก และเสริมให้เนื้อแน่นอีกด้วย ส่วนปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 13-13-24 จะช่วยเรื่องการติดดอก ขั้วเหนียว ไม่หลุดร่วงง่าย

        • ช่วงที่ 3 ระยะเร่งดอก-ผล (อายุประมาณ 65 วัน หลังย้ายกล้า)
          ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่มะเขือเทศเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต คุณแอร์ จะปรับสูตรปุ๋ย เป็นสูตร 8-24-24 หรือ ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 9-25-25 อัตรา 30 กิโลกรัม /ไร่ ความถี่ทุก 15 วัน/ครั้ง โดยจะโรยปุ๋ยระหว่างต้นมะเขือเทศ ช่วยให้มะเขือเทศท้อผลใหญ่ ดก สีเข้มสวยขึ้นอย่างชัดเจน   

“มะเขือเทศท้อ” ผลดก เปลือกแข็งแรงไม่ปริแตก สีเข้มสวยพร้อมเก็บเกี่ยว

ลดใช้สารเคมี ด้วยเทคนิคการจัดการแปลง
ยกระดับผลผลิตปลอดภัยมาตรฐาน
GAP

จุดเริ่มต้นของการทำเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP ของคุณแอร์ นั้นมาจากความต้องการเพิ่มช่องทางการตลาด และเพื่อผลผลิตที่ปลอดภัยต่อทั้งตนเองและผู้บริโภค ดังนั้น ตลอดกระบวนการผลิตจะต้องมีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกวิธี รวมถึงการลดใช้สารเคมีด้วยการจัดการแปลงอย่างเป็นระบบ

เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน หลังจากขึ้นแปลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนปลูกคุณแอร์ จะใช้วิธี “ปล่อยน้ำขังท่วมแปลง” ประมาณ 2 วัน แล้วจึงปล่อยน้ำออก วิธีนี้จะช่วยให้วัชพืชและไข่แมลงที่ฝังอยู่ในดินถูกทำลาย ลดปัจจัยเสี่ยงเรื่องศัตรูพืชได้ดี

นอกจากนี้ ยังใช้วิธีการ “ตัดแต่งทรงพุ่ม” ของต้นมะเขือเทศ เพื่อให้แปลงโปร่ง อากาศหมุนเวียนได้สะดวก ไม่เป็นที่หลบซ่อนของแมลง และช่วยให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตสะดวกขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ศัตรูพืชหลักของมะเขือเทศคือ “หนอนชอนใบ” ที่จะเข้าทำลายโดยการเจาะผลและใบมะเขือเทศ ทำให้ผลผลิตลดลงกว่า 80-90% สามารถกำจัดได้โดยใช้สารชีวภัณฑ์ หัวเชื้อแบคทีเรียบีที (Bacillus thuringiensis) ฉีดพ่นให้ทั่วต้น

ส่วนศัตรูอีกชนิดหนึ่งคือ “แมลงหวี่ขาว” เป็นแมลงประเภทปากดูด ที่จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ทำให้ใบพืชหงิกงอ ต้นแคระแกร็น สามารถกำจัดได้โดยใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย (Beauveria bassiana) ฉีดพ่น โดยเชื้อราชนิดนี้จะมีฤทธิ์ทำให้แมลงค่อยๆ อ่อนแอและตายในที่สุด

ทั้งนี้ คุณแอร์ เน้นว่า การกำจัดศัตรูพืชด้วยสารชีวภัณฑ์นั้นต้องรีบใช้ขณะที่ศัตรูพืชยังไม่ระบาดไม่หนัก จึงจะได้ผลดีที่สุด ดังนั้น เกษตรกรต้องหมั่นตรวจดูแปลงอยู่เสมอ เพื่อที่จะสกัดวงจรได้ทัน

มะเขือเทศมีคุณภาพ เพิ่มช่องทางการตลาด
ส่งขายโมเดิร์นเทรด-ออนไลน์

อายุการเก็บเกี่ยวของมะเขือเทศท้อ “ซีซันไนน์” จะอยู่ที่ประมาณ 55-60 วัน (หลังหยอดเมล็ด) โดยจะเก็บทุก 2 วัน/ครั้ง ต่อเนื่องประมาณ 15-16 มีด ผลผลิตสามารถจำหน่ายได้ทั้งตลาดบริโภคผลสดและตลาดโรงงาน แต่คุณแอร์ จะเน้นไปที่ตลาดบริโภคผลสด โดยแบ่งการตลาดออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

      • ส่วนที่ 1 จำหน่ายตลาดทั่วไป (ประมาณ 60%) ซึ่งจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงแปลง โดยผลผลิตจะแบ่งออกเป็น 3 เบอร์ (เบอร์ 1 คือ ผลใหญ่ คุณภาพดีที่สุด ส่วนเบอร์ 2 และเบอร์ 3 จะขนาดเล็กลงตามลำดับ) หากมะเขือเทศเป็นเบอร์ 1 สัดส่วนที่มาก ก็จะได้รับราคาประเมินสูงตามไปด้วย
      • ส่วนที่ 2 จำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรด (ประมาณ 30%) ภายใต้แบรนด์ “ผักดอยโอเค” ซึ่งเป็นแบรนด์เครือข่ายเกษตรแปลงใหญ่บ้านวังกอง โดยการจำหน่ายผ่านช่องทางนี้จะได้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไปถึง 30%
      • ส่วนที่ 3 จำหน่ายช่องทางออนไลน์ (ประมาณ 10%) ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ผักกะดอย” ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายผัก GAP ของคนในชุมชนบ้านวังกอง ส่งตรงถึงผู้บริโภคโดยไม่ผ่านคนกลาง

สำหรับราคาเฉลี่ยของมะเขือเทศท้อจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 7-8 บาท แต่ในช่วงที่ราคาดีอาจจะพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 20-25 บาท หากเจอช่วงราคาดีในแต่ละรอบการผลิตจะสร้างรายได้ให้คุณแอร์ ตั้งแต่ 100,000-300,000 บาทเลยทีเดียว โดยเมื่อหักต้นทุนการผลิตประมาณ 20,000-30,000 บาท (ต่อพื้นที่ 3 ไร่) ก็นับว่าเป็นพืชที่สร้างรายได้ไม่ธรรมดา

คุณแอร์ บอกว่า สิ่งที่ทำให้การปลูกมะเขือเทศของตนเองพัฒนาได้อย่างทุกวันนี้ มาจากความตั้งใจมองหาโอกาสใหม่ๆ และพัฒนาองค์ความรู้การทำเกษตรตั้งแต่การผลิต การตลาด ตลอดจนสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายของเกษตรกร เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันของสินค้าเกษตร

อย่างการยกระดับคุณภาพผลผลิตสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน GAP ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จก้าวสำคัญ ที่ทำให้มะเขือเทศท้อจากชาวบ้านธรรมดา สามารถวางจำหน่ายบนห้างสรรพสิค้าได้อย่างน่าภูมิใจ

แต่สุดท้ายแล้ว หัวใจของความสำเร็จนั้นก็ขึ้นอยู่กับ “คุณภาพ” ของผลผลิต ที่คุณแอร์ ดูแลตั้งแต่การเตรียมแปลงตามหลัก
GAP ใช้ทฤษฎีความรู้เรื่องธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช ให้สัมพันธ์กับระยะการเจริญเติบโตมาปรับใช้ จนทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้มาตรฐาน และสร้างการยอมรับในทุกช่องทางการตลาดอย่างทุกวันนี้

มะเขือเทศท้อนั้นจะเก็บผลผลิตทุก 2 วัน/ครั้ง โดยที่แปลงของคุณแอร์ จะได้ผลผลิต “เบอร์ 1” มากกว่า 70%
มะเขือเทศท้อและผักปลอดภัย มาตรฐาน GAP ที่จำหน่ายผ่านแบรนด์ “ผักดอยโอเค” พร้อมส่งต่อผลผลิตสู่โมเดิร์นเทรด และขายช่องทางออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ผักกะดอย”
“ปุ๋ยตรากระต่าย” ช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน เปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรเดิมของคุณแอร์ให้ผลผลิตดีขึ้นอย่างชัดเจน