‘มะเขือเทศโรงงาน’ สินค้าโครงการนำร่องพัฒนาเกษตรแม่นยำฯ เน้นรวมกลุ่ม ลดต้นทุน ตลาดอุตสาหกรรมรองรับ

นางเพ็ญศิริ วงษ์วาท

นางเพ็ญศิริ วงษ์วาท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำ “โครงการนำร่องพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่” เริ่มดำเนินการ ปี 2564-2566 โดยบูรณาการระหว่างหน่วยงานในจังหวัดในการขับเคลื่อนงาน ประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด (Chief of Operation : CoO) ที่มีเกษตรจังหวัดเป็นประธาน และมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดประสานการบริหารจัดการโครงการฯ ในภาพรวม ภายใต้ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัทรับซื้อผลผลิต ใน 5 สินค้า ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวโพดหวาน และมะเขือเทศ โดยมีแนวทางการดำเนินงานให้เกษตรกรรวมกลุ่มและบริหารจัดการแผนการผลิตสินค้าร่วมกัน มีตลาดที่เป็นอุตสาหกรรมรองรับที่แน่นอน และเน้นกระบวนการจัดการที่ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น โดยสนับสนุนแผนการตลาดที่ชัดเจนของอุตสาหกรรม ทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ และช่วงเวลาการรับซื้อ สนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัยและแม่นยำ ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานทั้งภาครัฐ เกษตรกร และเอกชน

สำหรับมะเขือเทศ เป็นหนึ่งใน 5 สินค้าตามแผนการขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภู สกลนคร และนครพนม กำหนดดำเนินงานภายในระยะเวลา 3 ปี พื้นที่เป้าหมายโครงการ 2,906 ไร่ เกษตรกร 918 ราย แบ่งเป็นเครือข่ายของบริษัทผู้รับซื้อ 2,030 ไร่ เกษตรกร 504 ราย และเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร 876 ไร่ เกษตรกร 414 ราย โดยมีบริษัท ศรีเชียงใหม่อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้ความร่วมมือของโครงการเป็นผู้รับซื้อผลผลิต สำหรับพื้นที่กลุ่มเป้าหมายจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ผลิตสินค้าตามเป้าหมายของอุตสาหกรรมที่ห่างจากแหล่งรับซื้อผลผลิตในรัศมีไม่เกิน 100 กิโลเมตร เพื่อลดภาระต้นทุนการจัดการด้านโลจิสติกส์ของเกษตรกรและผู้ประกอบการ หรือเป็นเกษตรกรรายย่อย หรือเกษตรกรเครือข่ายของบริษัทผู้รับซื้อผลผลิต ที่จะขึ้นทะเบียนรวมเป็นแปลงใหญ่ภายใต้โครงการ

จากการติดตามสถานการณ์การผลิตและตลาดมะเขือเทศ ปี 2563 พบว่า จังหวัดหนองคาย เป็นแหล่งผลิตสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสมในการปลูกมะเขือเทศ

ปัจจุบัน มีเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศโรงงาน 841 ราย แหล่งปลูกสำคัญอยู่ในอำเภอศรีเชียงใหม่และอำเภอเมือง มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 3,390 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 3,245 ไร่ ผลผลิตรวม 14,388 ตัน เกษตรกรนิยมปลูกมะเขือเทศโรงงานพันธุ์ลูกหล่าและสะออน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่โรงงานต้องการรับซื้อ สำหรับสถานการณ์ตลาด ผลผลิตร้อยละ 70 ส่งจำหน่ายเป็นมะเขือเทศบริโภคสดให้กับพ่อค้าทั่วไป ส่วนผลผลิตร้อยละ 30 เกษตรกรจะจำหน่ายให้กับบริษัทศรีเชียงใหม่อุตสาหกรรม จำกัด อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งได้ทำเกษตรพันธะสัญญากับเกษตรกร เมื่อปี 2563 กว่า 120 ราย รวมพื้นที่ 350-400 ไร่ โดยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรประมาณ 10,000 ตัน หรือเฉลี่ย 5-10 ตัน/ไร่ สำหรับราคาที่บริษัทรับซื้อจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของผลผลิต ราคาเฉลี่ย ณ มกราคม – เมษายน 2564
อยู่ที่ 2-3.50 บาท/กิโลกรัม ผลผลิตที่รับซื้อจากเกษตรกรแบ่งเป็นเกรด A และเกรด B ลักษณะของผลต้องสุกแดง ไม่มีรอยเจาะของแมลงและไม่เป็นโรค

ในส่วนของการขับเคลื่อนโครงการนำร่องพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ ของจังหวัดหนองคาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์โครงการ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการหน่วยงานในสังกัด 10 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทย และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ได้เข้ามาสนับสนุนและถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตทันสมัยผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เชื่อมโยง AIC สนับสนุนการให้บริการและใช้ปัจจัยการผลิต ตามค่าวิเคราะห์ดิน ตรวจสอบรับรองสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย เช่น GAP เกษตรอินทรีย์ ตามความต้องการของตลาด การสนับสนุนการให้บริการทางการเกษตร (Agricultural Service Provider) รวมถึงส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง สำหรับ สศก. ในฐานะเลขานุการร่วม ได้มีส่วนในการจัดทำรายละเอียดของแผนปฏิบัติการให้มีความสมบูรณ์ชัดเจนมากขึ้นระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบริษัทผู้รับซื้อผลผลิต (โรงงานอุตสาหกรรม) รวมทั้งร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการโครงการฯ ให้ประสบความสำเร็จตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต”

ดังนั้น จึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกแปลงใหญ่ที่มีการขึ้นทะเบียนแปลงใหญ่กับกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว หรือเป็นเกษตรกรรายย่อย และเป็นเกษตรกรเครือข่ายของบริษัทผู้รับซื้อผลผลิต ที่จะขึ้นทะเบียนรวมเป็นแปลงใหญ่ภายใต้โครงการ ที่อยู่ในจังหวัดหนองคายและใกล้เคียงที่มีพื้นที่ปลูกในรัศมี 100 กิโลเมตร จากที่ตั้งโรงงาน สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยสามารถยื่นความจำนงเข้าร่วมโครงการได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองคาย และสำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดหนองคาย หรือติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บริษัท ศรีเชียงใหม่อุตสาหกรรม จำกัด เลขที่ 99/1 ถนนมิ่งเมือง ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย 43130 หรือ โทร. (042) 451-410