ส.ป.ก. กับอาชีพทางเลือก สร้างชีวิตใหม่ใน 5 จังหวัดภาคตะวันออกผลงานพัฒนาภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์

ปลูกแฝก ลดการพังทะลายของหน้าดิน

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยประชาชน เมื่อทรงรับทราบถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า นำมาสู่ปัญหาช้างออกจากป่า  มาสร้างความเดือดร้อนให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ในเขตพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

พร้อมกันนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นองค์ประธาน

“พัชรสุธาคชานุรักษ์” อันมีความหมายว่า “น้ำทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชร” เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า

อีกทั้งเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออก โดยมีการจัดตั้งชุมชนนำร่อง ภายใต้ชื่อ“หมู่บ้านคชานุรักษ์” ที่เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการปรับเปลี่ยนวิถีเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างอย่างสมดุล

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานผู้ปฏิบัติงานที่ดำเนินงานสนองพระราชดำริโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 รับผิดชอบในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน 5 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สระแก้ว และจันทบุรี

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ส.ป.ก. ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ ร่วมแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและช้างป่า ตามแผนแม่บทสร้างความสมดุลระหว่างคนและช้างป่า ด้านที่ 3 การจัดการพื้นที่ชุมชน ที่มุ่งเป้าสร้างความรู้ความเข้าใจ  ปรับเปลี่ยนอาชีพ พัฒนาอาชีพ สร้างกระบวนการเฝ้าระวัง ป้องกัน และเตือนภัยให้กับชุมชน และสร้างระบบการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

“การดำเนินงานนั้น ส.ป.ก. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ภายใต้การปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเกษตรที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในโครงการฯ  ที่ได้รับการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของช้างป่า เกิดการปรับเปลี่ยนอาชีพอย่างเหมาะสม และนำมาสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการพัฒนาเกษตรกรต้นแบบ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับเพื่อนเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่สนใจ ด้วยพบว่า มีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น  ” เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าว

จัดอบรมให้ความรู้ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดในพื้นที่

สำหรับปี 2563 ที่ผ่านมา ส.ป.ก. ได้พัฒนาเกษตรกรในโครงการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 5 จังหวัด โดยเปิดกว้างให้เกษตรกรสามารถเลือกอาชีพจากเมนูทางเลือกและความต้องการของเกษตรกร ยกตัวอย่างเช่น

จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเมนูอาชีพทางเลือก ที่ประกอบด้วยเมนูทางเลือกที่ 1 : ทางเลือกใหม่ เน้นการสร้างราย ได้จากการเลี้ยงโคเนื้อ หนูพุก ไก่เขาหินซ้อน ปลูกสมุนไพรและหญ้าแฝก ช่วยสร้างรายได้ต่อปี ประมาณ 96,855 บาท เมนูทางเลือกที่2 :  รายได้ดี เน้นการสร้างรายได้จากการเลี้ยงโคเนื้อ หนูพุก เป็ดไข่ปากน้ำ ปลูกพืชผัก และ หญ้าแฝก ช่วยสร้างรายได้ต่อปีประมาณ 144,750 บาทและ เมนูทางเลือกที่ 3 : ชีวีเป็นสุข เน้นการสร้างรายได้ จากการเลี้ยงโคเนื้อ หนูพุก กบ การเพาะเห็ดฟาง และปลูกหญ้าแฝก ช่วยสร้างรายได้ต่อปีประมาณ 124,840 บาท

ปลูกแฝก ลดการพังทะลายของหน้าดิน

จังหวัดชลบุรี มีเมนูอาชีพทางเลือก ที่ประกอบด้วย เมนูทางเลือกที่ 1 : เกษตรกรรมนำสุข เน้นการสร้างรายได้จากการปลูกตะไคร้ ข่าเหลือง ชะอม เลี้ยงไก่ไข่ ปลานิล และปลูกหญ้าแฝก ช่วยสร้างรายได้ต่อปี ประมาณ 210,500 บาท และเมนูทางเลือกที่ 2 : เกษตรกรรมทางเลือก เน้นการสร้างรายได้จากการเลี้ยงโคเนื้อ  ปลูกผักกูด หญ้าแฝก เลี้ยงไก่ไข่ ปลานิล ปลูกตะไคร้ และข่าเหลือง ช่วยสร้างรายได้ต่อปี ประมาณ 283,100 บาท เป็นต้น ทั้งนี้สำหรับหญ้าแฝกที่เกษตรกรปลูก นอกจากเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่แล้ว ยังสามารถจำหน่ายเป็นต้นพันธุ์ ให้กับสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดในพื้นที่ ซึ่งมีนโยบายช่วยรับซื้อ เพื่อนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรรายอื่นปลูกต่อไป

ชะอม ตลาดต้องการ สร้างรายได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ในการสนับสนุนเพื่อการพัฒนาส่งเสริมอาชีพ หน่วยงานของส.ป.ก. ในพื้นที่ได้มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต จนนำมาสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ของเขตปฏิรูปที่ดินทั้ง 5 จังหวัด ด้วยการจัดอบรมภาคทฤษฎี และ ภาคปฏิบัติ และสนับสนุนปัจจัยการผลิตตามเมนูทางเลือกดังกล่าว

เช่น การเลี้ยงหนูพุกโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา  การปลูกสมุนไพร โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี การแปรรูปอาหาร เช่น ข้าวเกรียบปลา ปลาส้ม ปลาดุกร้า โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสระแก้ว การสนับสนุนพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ เช่น ต้นสัก พยุง ไผ่ เงาะโรงเรียน และชะอม โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดระยอง การปลูกผักสวนครัว การผลิตพืชผักปลอดภัยโดยการประยุกต์ใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่น การทำฮอร์โมนจากพืช การสกัดสมุนไพรเพื่อป้องกันโรคพืชและกำจัดศัตรูพืช โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดจันทบุรี

พร้อมกันนี้ในการปฏิบัติงานตามโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ส.ป.ก. ยังร่วมสนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำ   เช่น การขุดสระเก็บน้ำสาธารณะที่บ้านคลองมะหาด ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีพื้นที่ได้รับประโยชน์เพื่อใช้การอุปโภค บริโภค และการเกษตร  รวม 100 ไร่ เป็นต้น

เกษตรกรนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้สมุนไพรป้องกันกำจัดโรคและศัตรูพืชมาปฏิบัติจริงในพื้นที่

จากการทำงานที่เน้นการประสานความร่วมมือ เน้นการสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินในการสร้างอาชีพ เกิดการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและช้างป่าอย่างสมดุล วันนี้ผลผลิตทางการเกษตรในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามการส่งเสริมของ ส.ป.ก. ได้ออกสู่ตลาด ให้แก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น หนูพุกที่จำหน่ายเป็นหนูเนื้อ พืชสมุนไพรต่าง ๆ ข้าวเกรียบปลา ปลาส้ม ปลาดุกร้า และอื่น ๆ สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดีและบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนด

ทั้งหมดนี้คือ ผลการดำเนินงานตามพระราชดำริ ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ โดยส.ป.ก. เพื่อให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินทั้ง 5 จังหวัดของภาคตะวันออก มีชีวิตที่สมดุลระหว่างคนและช้างป่า ตลอดไป