ที่มา | สัตว์เลี้ยงสวยงาม |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
เผยแพร่ |
จากรุ่นทวด สู่รุ่นเหลน
คุณจารุตตม์ เดชะพหุล หรือ คุณเจ๋ง หนุ่มร้อยเอ็ดโดยกำเนิด จบปริญญาตรีด้านไฟแนนซ์ จบปริญญาโทด้านการตลาด จากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำงานประจำเป็นลูกจ้างบริษัทเฉกเช่นบุคคลทั่วไป แต่ด้วยพื้นฐานที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ความสนใจในการเกษตรเมื่อมองเห็น “ควายไทย” จึงเกิดขึ้น
“ปู่ของแม่ เป็นนายฮ้อย แต่ต่อมายุคของพ่อของแม่ไม่ได้ทำการเกษตร แม่ของผมก็ไม่ได้ทำการเกษตร แต่สิ่งที่ผมเห็นคือ บรรพบุรุษของเราเลี้ยงควายไทย สิ่งแรกที่ผมรู้สึกคืออยากเลี้ยงควายไทยให้ดี พัฒนาสายพันธุ์ให้มีคุณภาพ ผมจึงเริ่มศึกษา เดินทางไปตามฟาร์มต่างๆ ที่มีชื่อเสียง เพื่อเก็บความรู้ และเริ่มสะสมควายไทยมาตั้งแต่ปี 2562”
ควายไทยชุดแรกที่คุณเจ๋ง เริ่มนำมาเลี้ยง มาจากหลากหลายฟาร์ม หรือแม้กระทั่งควายไทยตามท้องถิ่นของภาคอีสาน ก็จัดอยู่ในกลุ่มของควายที่คุณเจ๋งให้ความสนใจด้วย คุณเจ๋งให้เหตุผลว่า ควายแต่ละตัว มีจุดเด่นและจุดด้อยที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องเลือกควายที่มีพันธุกรรมที่หลากหลาย เพื่อนำมาคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้ควายไทยที่มีคุณภาพโดดเด่นในอนาคต
คุณเจ๋ง บอกว่า การเลี้ยงควายมีวัตถุประสงค์หลายประเภท บ้างเลี้ยงเพื่อขายสายพันธุ์ บ้างเลี้ยงเพื่อหวังเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ บ้างเลี้ยงเพื่อนำนมควายไปแปรรูปจำหน่ายเพิ่มมูลค่า บ้างเลี้ยงเพื่อขุนขายเนื้อ ซึ่งยอมรับว่าตลาดเนื้อควายในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีนหรือเวียดนาม มีความต้องการนำเข้าเนื้อควายจากประเทศไทยค่อนข้างสูง จึงเป็นช่องทางทำรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทาง แต่สำหรับคุณเจ๋ง เขาต้องการทำฟาร์มควาย เพื่อพัฒนาวงการควายไทยให้มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ หรือ “ควายต้นน้ำ” ที่ดี
การเลี้ยงควาย คุณเจ๋งบอกว่า ง่าย
“ควายเป็นสัตว์ชอบน้ำ ไม่ชอบความร้อน เพราะรูขุมขนของควายมีขนาดเล็กมาก การระบายความร้อนออกจากร่างกายผ่านรูขุมขนยาก ดังนั้น เคยเกิดกรณีที่ผูกควายไว้กลางแดดเป็นเวลานาน ควายเสียชีวิต แต่ถ้าเลี้ยงให้อยู่ในที่ร่มบ้าง ปล่อยลงน้ำ แช่ปลักโคลน จะไม่เกิดปัญหา”
การผสมพันธุ์ควาย ต้องรอให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์มีอายุอย่างน้อย 3 ปี เพื่อความสมบูรณ์ของร่างกาย ในการผสม คุณเจ๋งให้การยอมรับการผสมตามธรรมชาติ ที่โอกาสติดลูกเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปัจจุบันเกษตรกรยังมีทางเลือกอื่นในการผสมพันธุ์ควายคือการผสมเทียมด้วยการฉีดน้ำเชื้อเข้าไปที่แม่พันธุ์ โดยน้ำเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นน้ำเชื้อของฟาร์มชื่อดังต่างๆที่มีพ่อพันธุ์ระดับคุณภาพได้ลักษณะเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรทั่วไป
การผสมพันธุ์ในฟาร์มควายของคุณเจ๋ง เนื่องจากพ่อพันธุ์ประจำฟาร์มยังไม่ถึงวัยที่ควรผสมพันธุ์ จึงยังคงใช้เทคโนโลยีการผสมเทียมร่วมกับการเหนี่ยวนำการเป็นสัดให้แม่พันธุ์มีความพร้อมผสมพันธุ์ในคราวเดียวกันหลายๆตัวเพื่อสะดวกในการบริหารจัดการและลดต้นทุน ทั้งนี้การผสมเทียมยังคงมีโอกาสที่จะไม่ประสบความสำเร็จในการผสมครั้งแรก ซึ่งอาจจะต้องผสมเทียมซ้ำอีกจนกว่าจะติด ซึ่งปัจจัยที่ทำให้การผสมเทียมไม่ประสบความสำเร็จ คุณเจ๋ง เล่าว่า มีหลายปัจจัย เท่าที่ทราบอาจเป็นเรื่องของสภาพอากาศ เครื่องมือ ฤดูกาล และอื่นๆ แต่ปัจจัยหลักน่าจะมาจาก คุณภาพของน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ และ การตกไข่ของแม่พันธุ์
สำหรับราคาน้ำเชื้อ คุณเจ๋ง ตอบว่า เฉพาะน้ำเชื้อควายพ่อพันธุ์ก็มีหลายราคา เริ่มตั้งแต่ 500 บาทไปถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับว่าพ่อพันธุ์มีความสวยงาม ความโดดเด่น ชื่อเสียง ได้รางวัลจากการประกวด หรือมีการรีดน้ำเชื้อน้อย เป็นต้น
ในขณะเดียวกันทางฟาร์มยังได้ติดตามความคืบหน้าในเทคโนโลยีการย้ายฝากตัวอ่อนในควาย ซึ่งขณะนี้เริ่มมีความก้าวหน้าในการทดลองจนอาจนำมาใช้ในฟาร์มควายของเกษตรกรได้แล้วและเราพร้อมที่จะเป็นฟาร์มแรกๆ ในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อผสมพันธุ์ควาย
การตั้งท้องในควาย มีระยะเวลา 316 วัน
“ปกติควายจะคลอดเองตามธรรมชาติ และไม่มีวันตายตัวที่แน่นอน แม้จะรู้ว่าตั้งท้องราว 316 วันก็ตาม และการคลอดเองตามธรรมชาติที่ผ่านมา ก็ไม่พบปัญหา ยกเว้นแม่ควายท้องแรก ท้องสาว ที่อาจจะเผลอเหยียบขาลูกควายที่เพิ่งคลอด ทำให้บาดเจ็บต้องรักษา แต่โดยทั่วไปลูกควายแรกเกิดร่างกายจะรักษาตัวเองได้รวดเร็ว ยกเว้นกรณีที่แม่เหยียบหางลูกขาด จะทำให้ลูกควายตัวนั้นๆ เสียราคา เพราะควายหางขาดไม่จัดอยู่ในควายลักษณะที่ดีตามตำรา”
อาหารสำหรับควาย ประกอบด้วย ฟาง หญ้าสด วิตามิน หัวอาหาร และอาหารผสมเสร็จ (Total Mixed Ration : TMR) ประกอบด้วยอาหารหยาบและอาหารข้นในสัดส่วนที่เหมาะสม ช่วยให้ควายได้รับโภชนาการที่ต้องการครบถ้วน
การให้อาหาร คุณเจ๋ง บอกว่า ให้เช้าและเย็น ให้อาหารผสมเสร็จ (TMR) เป็นหลัก เกลือแร่จะแขวนไว้ตามคอกตลอดเวลา หัวอาหารยังเป็นอาหารเม็ดที่จำเป็นและสำคัญที่ต้องให้ทุกวัน ส่วนฟางและหญ้าสด ขึ้นอยู่กับฤดูกาล หากฤดูแล้ง หญ้าสดจะหายาก จำเป็นต้องให้ฟางแทน
ในแต่ละวันของการเลี้ยงควาย 7 โมงเช้า ปล่อยควายออกจากคอกให้เดินเล่น หรือลงน้ำ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นเรียกเข้าคอก กินอาหาร พักผ่อน จากนั้นเวลาประมาณบ่าย 3 ปล่อยควายออกจากคอกให้เดินเล่น หรือลงน้ำ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นเรียกเข้าคอก กินอาหาร และพักผ่อน ทั้งนี้ ระหว่างที่ควายอยู่นอกคอก จะทำความสะอาดคอกให้เรียบร้อย โดยการตักขี้ควายไปไว้รวมกัน เพื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยคอกหรือเพื่อกิจกรรมทางการเกษตรอื่นต่อไป
พื้นที่สำหรับเลี้ยงควาย คุณเจ๋ง ตอบว่า ไม่มีขนาดที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เช่น คอกแม่ควายกับลูกควายเพิ่งคลอด จะมีขนาดใหญ่กว่าคอกควายตัวเดียว หรือฟาร์มบางแห่ง ใช้คอกขนาดใหญ่เลี้ยงรวมควายทุกตัวด้วยกัน แต่มีระยะห่างระหว่างที่นอนของควายแต่ละตัว ซึ่งไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ที่ตายตัว แต่ควายเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ จึงควรมีพื้นที่กว้างสำหรับการเลี้ยง แต่พื้นที่ที่สำคัญควรมีคือ พื้นที่โล่งสำหรับเดินเล่น แปลงหญ้า และแหล่งน้ำ
โรคในควาย ที่พบได้ คือโรคปากเท้าเปื่อย โรคคอบวม แต่ทั้งนี้ สามารถป้องกันได้เบื้องต้นโดยการให้วัคซีนตามกำหนดของกรมปศุสัตว์ให้ครบ แต่ก็ควรหมั่นสังเกต หากพบว่าควายไม่กินอาหาร ซึม มีไข้ ควรแจ้งปศุสัตว์หรือสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและทำการรักษาต่อไป นอกจากนี้ การถ่ายพยาธิในควายก็มีความสำคัญ ควรมีการถ่ายพยาธิควายในฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น ลูกควายแรกเกิด อายุประมาณ 3 สัปดาห์ ต้องได้รับการถ่ายพยาธิตัวกลมเพื่อป้องกันการสูญเสีย
คุณเจ๋งยังให้ความสำคัญกับการบันทึกประวัติสายพันธุ์ (Pedigree) ว่ามีประโยชน์ในการพัฒนาควายไทยรวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกร คู่ค้า รวมถึงโอกาสในการส่งออกสายพันธุ์ควายไทยไปต่างประเทศในอนาคตอีกด้วย
ถามถึงการจำหน่ายควายออกไปเป็นแม่พันธุ์หรือพ่อพันธุ์ คุณเจ๋ง บอกว่า ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจในราคา เพศ อายุ ควายมีลักษณะที่ดีก็จะเห็นวี่แววตั้งแต่แรกเกิดหรือ บางครั้งก็มีการจองตั้งแต่อยู่ในท้องหากผู้ซื้อมีความชอบและติดตามผลงานของพ่อควายหรือแม่ควายตัวนั้นๆ เป็นพิเศษ
ซึ่งทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย นับได้ว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงควายมีอิสระในการกำหนดราคาอย่างแท้จริง
คุณเจ๋ง ตั้งชื่อฟาร์มควาย ตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง ว่า “ฟาร์มควายดี” และทำหน้าที่เป็นผู้จัดการฟาร์มควายด้วยตนเอง ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย อีกด้วย
ชมควายสวยงามได้ที่ www.kwaidee.com เฟสบุ้ก KWAI DEE – ฟาร์มควายดี หรือไลน์ @kwaidee
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2564