ศูนย์ฯ ภูพานฯ ส่งเสริมเลี้ยงไหมอีรี่ ด้วยใบมันสำปะหลัง สร้างรายได้เสริมที่มั่นคงให้ราษฎรอีสาน

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้มีการจัดตั้งขึ้น เพื่อทำการศึกษา ทดลอง และค้นคว้างานพัฒนาด้านต่างๆ ตามความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนำผลการศึกษาที่พิสูจน์ได้ว่ามีความเหมาะสมกับพื้นที่ไปใช้เป็นแบบอย่างของความสำเร็จในการส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้

ซึ่งมีหลายกิจกรรม หนึ่งในนั้นที่กำลังได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่ ท่ามกลางวิกฤติการระบาดของโควิค-19 รอบที่ 3 ที่ประชาชนลดการเคลื่อนไหวในสังคม และจำนวนหนึ่งเดินทางกลับบ้านได้เข้ามาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติใช้ในครอบครัวของตนเอง คือการเลี้ยงหม่อนไหมเพื่อผลิตเส้นไหมทอผ้า

ซึ่งกิจกรรมหม่อนไหมศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในช่วงที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาและพัฒนาการเลี้ยงไหม โดยอาศัยเทคนิควิธีการง่ายๆ เพื่อให้ผู้สนใจสามารถนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองเพื่อเสริมรายได้ของราษฎร

โดยไหมป่าอีรี่เป็นไหมอีกชนิดหนึ่งที่ทางศูนย์ฯ ประสบความสำเร็จในการศึกษา เป็นผีเสื้อกลางคืน มีวงจรชีวิตประมาณ 45-60 วัน แม่ผีเสื้อจะวางไข่ประมาณ 300 ฟอง หลังจากฟักออกจากไข่หนอนไหมอีรี่จะกินพืชอาหารทันทีและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จากนั้นจะเริ่มทำรังหุ้มตัวด้วยการคายสารออกมาจากต่อม silk glands ซึ่งสารนี้เมื่อถูกอากาศจะแข็งตัวเป็นเส้นใย

ไหมป่าอีรี่

หนอนไหมจะใช้เวลาทำรังเสร็จภายใน 3 วัน ตัวหนอนจะฟักอยู่ภายในรังและเริ่มเข้าดักแด้มีขนาดโดยเฉลี่ย 1.2×2.8 เซนติเมตร
เป็นไหมที่สามารถเลี้ยงได้ตลอดปี ประมาณ 4-5 รุ่น ต่อปี เลี้ยงได้ทั้งในที่สูง ที่ราบ อุณหภูมิตั้งแต่ 25-45 องศา

หนอนไหมกินใบละหุ่งและใบมันสำปะหลังเป็นอาหารซึ่งพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ เกษตรกรในพื้นที่จะนิยมปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจและใบจะถูกทิ้งไปเป็นวัสดุเหลือใช้ นอกจากนั้นใบของต้นมันลาย มันต้น และลั่นทมยังสามารถนำมาใช้เลี้ยงไหมชนิดนี้ได้เช่นกัน

สำหรับรังไหมอีรี่ที่สร้างขึ้นห่อหุ้มตัวเองตอนเข้าดักแด้นั้น จะเป็นเส้นใยที่ประกอบด้วยสาร dibroin ล้อมรอบด้วยสาร sericin ซึ่งเป็นสารเหนียวเพื่อประสานเส้นใยให้เป็นรังหุ้มหนอนไหมไว้ รังไหมอีรี่จะมีลักษณะยาวเรียว สีขาวค่อนข้างแบน ขนาดเฉลี่ย 2.1×4.8 เซนติเมตร เส้นใยจะสานกันหลวมกว่ารังไหมหม่อน ปลายข้างหนึ่งค่อนข้างแหลม ปลายอีกข้างหนึ่งของรังจะเปิดเป็นช่องเล็กๆ เพื่อให้ผีเสื้อออกจากรังได้ ต่างจากรังไหมหม่อนซึ่งมีรังปิดหมดทุกด้าน

มันสำปะหลัง

เส้นใยไหมอีรี่จึงไม่เป็นเส้นเดียวยาวตลอดเหมือนไหมหม่อน แต่จะเป็นเส้นสั้นๆ ที่สามารถดึงเส้นใยออกจากรังไหมได้ด้วยวิธีปั่นแบบเดียวกับการปั่นฝ้าย ไม่ต้องใช้วิธีสาวแบบไหมหม่อน เพียงแต่ละลายสารเหนียวที่เคลือบเส้นไหมออกก่อนนำไปปั่น โดยใช้สารละลายด่างโซเดียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งจะทำให้ได้เส้นใยปริมาณมาก มีคุณภาพดี ปั่นออกง่าย และเส้นไม่เปื่อยยุ่ย ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมด้ายปั่น ขณะที่เส้นไหมมีความเหนียวและยาวกว่าเส้นใยฝ้าย มีความแวววาวสวยงามกว่าฝ้าย และราคาดีกว่าฝ้าย

การดึงเส้นใยจากรังไหมอีรี่ไม่ต้องต้มรังโดยยังมีดักแด้อยู่ในรัง เพราะรังเป็นแบบรังเปิด สามารถตัดเปลือกรังหรือรอให้ผีเสื้อออกก่อนจึงนำรังไปต้ม ทำให้ไม่ขัดต่อความรู้สึกของผู้ใช้ที่ไม่ต้องการฆ่าตัวไหม เส้นไหมอีรี่ที่สาวได้จะมีลักษณะฟู เส้นเป็นปุ่มปมไม่เรียบ จึงทำให้ติดสีได้ดีทั้งสีสังเคราะห์และสีธรรมชาติ

ปัจจุบัน มีผู้คนให้ความสนใจผ้าพื้นเมืองที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติมาก เพราะสีธรรมชาติให้สีที่กลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ฉูดฉาด ดูสบายตาและไม่เบื่อง่าย ที่สำคัญสีธรรมชาติละลายน้ำได้และมีจุลินทรีย์ย่อยสลายได้ ทำให้ไม่ตกค้างก่อให้เกิดมลพิษ จึงปลอดภัยต่อผู้ใช้และสภาพแวดล้อม สามารถย้อมสีที่ได้จากใยมะพร้าว เปลือกประดู่ มะเกลือดิบ ใบขี้เหล็ก ขมิ้น ครั่ง ใบหูกวาง ใบสบู่เลือด เปลือกต้นมะม่วงหิมพานต์ เปลือกเมล็ดฝางแดง และมะเกลือ โดยเส้นใยไหมอีรี่จะติดสีจากวัสดุเหล่านี้ได้ดีและสวยงามแปลกตา

ปัจจุบัน มีเกษตรกรขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้ามาศึกษาเรียนรู้จากศูนย์ฯ แล้วนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเอง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายรังและดักแด้ ประมาณ 6,000 บาท ต่อรุ่น ของการเลี้ยง

ส่วนเกษตรกรที่มีทักษะในการปั่นเส้นและทอผ้า จะมีรายได้จากการปั่นเส้นด้ายไหมอีรี่ขาย ประมาณ 7,800 บาท ต่อรุ่น และยังสามารถมีรายได้จากการทอผ้าอีก ประมาณ 17,000 บาท ต่อรุ่น อีกด้วย

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายวีระชัย สุรินทะ งานศึกษาและพัฒนาหม่อนไหม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร โทร. 088-732-6269