กองทุน FTA เคาะงบ 21 ล้านบาท ดันศักยภาพเกษตรกรโคเนื้อวากิว เมืองสุรินทร์ ตั้งเป้าผลิตโคขุนเกรดคุณภาพสูง ส่งเสริมตลาด รับมือผลกระทบ TAFTA

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 21.88 ล้านบาท ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อสุรินทร์วากิวครบวงจรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เกษตรกรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคขุนสุรินทร์โกเบครบวงจร ตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยมีกรมปศุสัตว์ เป็นผู้กำกับดูแล ระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2564-2573) โดยร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคขุนพันธุ์สุรินทร์วากิว ให้เป็นเนื้อโคที่ดีมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

การอนุมัติงบประมาณดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบจากการสิ้นสุดมาตรการปกป้องพิเศษ (SSG) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นมา ซึ่งกำหนดให้สินค้าเกษตรที่นำเข้าจากออสเตรเลียจำนวน 17 รายการ เช่น เนื้อวัวและเครื่องใน เนื้อหมูและเครื่องใน ผลิตภัณฑ์จากเนยและนม เป็นต้น จะไม่มีภาษี ไม่จำกัดปริมาณการนำเข้าอีกต่อไป

สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคขุนสุรินทร์โกเบครบวงจร ตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ นับเป็นกลุ่มวิสาหกิจที่ประกอบอาชีพเลี้ยงโคเนื้อสายพันธุ์วากิว ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ปัจจุบันมีสมาชิก 107 ราย จำนวนโคแม่พันธุ์ 2,079 ตัว แต่ผลผลิตของกลุ่มยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งมีความต้องการประมาณเดือนละ 60 ตัว หรือปีละ 720 ตัว ขณะที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ผลิตได้เพียงเดือนละ 18 ตัว หรือปีละ 216 ตัว (คิดเป็นร้อยละ 30 ของตลาดที่มีอยู่)

เป้าหมายของโครงการคือ การผลิตลูกโคเพศผู้สำหรับขุนได้ไม่น้อยกว่า 240 ตัว/ปี หรือ 2,400 ตัวตลอดทั้งโครงการ ด้วยระบบการบริหารจัดการฟาร์มแบบคอกกลาง (Central Feedlot) มีการจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรผู้เป็นสมาชิก ทั้งนี้ จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและควบคุมโดยกรมปศุสัตว์ ขณะที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะร่วมยกระดับการบริหารจัดการฟาร์มภายใต้แนวคิดการผลิตแบบคอกกลางที่มีศักยภาพ ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ 10 ปี เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์โครงการ และจะเป็นเนื้อโคขุนที่มีเกรดคุณภาพไขมันแทรกระดับ 2.5 ขึ้นไป จากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน GFM / GAP เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดระดับบน ซึ่งเป็นตลาดเนื้อโคขุนคุณภาพ นอกจากนี้ โครงการนี้ ยังได้จัดทำความตกลงด้านการตลาด (MOU) กับบริษัทคู่ค้าไว้แล้ว จำนวน 2 ฉบับ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรว่า มีตลาดรองรับผลผลิตอย่างแน่นอน

“ที่ผ่านมา สินค้าโคเนื้อ นับเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากตลาดภายในประเทศอย่างมาก แต่กลับพบว่า ปริมาณการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะเนื้อโคคุณภาพระดับเกรดไขมันแทรกตั้งแต่ระดับ 2.5 ขึ้นไป ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพไขมันแทรกได้เอง เช่น โคเนื้อลูกผสมยุโรป ชาโรเลส์ แองกัส บราห์มัน หรือโคลูกผสมวากิว ที่เป็นโคสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น จะส่งผลให้ไทยสามารถลดการนำเข้าเนื้อโคจากต่างประเทศได้ ซึ่ง สศก. โดยกองทุน FTA เรามีความมุ่งมั่นและยินดีให้การสนับสนุนเงินทุน ให้คำปรึกษาแก่กลุ่มเกษตรกร สำหรับนำไปพัฒนาศักยภาพ ทั้งในด้านการผลิต การตลาด เพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ร่วมกันพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรไทย” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว