กฟก. เผยอนุมัติโครงการฟื้นฟูฯ แล้ว ถึง 328 โครงการ รวมเงิน 172 ล้าน ย้ำหากงบไม่พอ เตรียมโยกไปพิจาณาปีหน้า พร้อมสั่งสาขาจังหวัดติดตามดูแลต่อเนื่อง

นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าในการพิจารณาแผนและโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่องค์กรเกษตรกรสมาชิกได้ยื่นเสนอ ทางคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้มีการประชุมและพิจารณาอนุมัติล่าสุดแล้ว รวมจำนวน 328 โครงการ งบประมาณรวม 172 ล้านบาท

สำหรับขั้นตอนต่อไปของโครงการที่ได้รับการอนุมัติ ทางกองทุนฟื้นฟูฯ จะวางฎีกาเบิกเงินเพื่อให้สำนักบริหารกองทุนฯ โอนเงินไปที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสาขาจังหวัด โดยทางสาขาจังหวัดจะจัดให้มีการประชุมร่วมกับตัวแทนกองค์กรเกษตรกรสมาชิก หรือเรียกว่า การปฐมนิเทศ เพื่อทำความเข้าใจพร้อมทำสัญญาเพื่อที่จะจ่ายงวดเงิน งวดงาน หลังจากนั้นองคกรเกษตรกรสมาชิก ไปดำเนินการตามแผนงานที่กำหนด และที่สำคัญต้องมีการจัดทำรายงานให้กับทางสาขาจังหวัดรับทราบถึงความคืบหน้า รวมถึงปัญหาอุสรรคที่เกิดขึ้น

นายสมยศ ภิราญคำ

“ จากที่ กฟก. ได้เปิดให้องค์กรเกษตรกรสมาชิกได้ยื่นเสนอแผนงานและโครงการ ปรากฏว่าได้รับความสนใจและมีการยื่นเสนอเป็นจำนวนมาก โดยตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงต้นปี 2564 มีองค์กรเกษตรกรสมาชิกยื่นมา ซึ่งแยกเป็นประเภทกิจกรรมได้ถึง 18 ประเภท รวมทั้งสิ้น 1,800 โครงการ รวมเป็นงบประมาณทั้งหมด 12,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากและเกินงบประมาณที่ กฟก. ได้รับการจัดสรรมา คือ 340 ล้าน ดังนั้น จึงต้องขอทำความเข้าใจกับเกษตรกรสมาชิกว่า กฟก. จำเป็นต้องมีการพิจารณาตามความสำคัญและอยู่ในงบประมาณที่กำหนด ซึ่งโครงการที่ไม่ได้รับการอนุมัติในปีงบประมาณ 2564 จะขอนำไปพิจารณาอนุมัติในปีงบประมาณ 2565 ต่อไป”

นายสมยศ กล่าวต่อไปว่า สำหรับในการติดตามผลการดำเนินโครงการที่ได้รับการอนุมัตินั้น ทาง กฟก. ได้มอบหมายให้สาขาจังหวัดเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ซึ่งจะมีการติดตาม ตรวจเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง พร้อมการเข้าไปให้ข้อแนะนำต่างๆ โดยเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับคณะอนุคณะกรรมการที่มีอยู่แต่ละสาขาจังหวัด

ถ้ามีปัญหาจะได้เข้าไปช่วยแก้ไข อีกทั้งจะเป็นการประเมินในเบื้องต้นของแต่ละโครงการด้วยว่า ประสบความสำเร็จหรือไม่ และหากมีปัญหาที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ก็จะมีการเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ส่วนในกรณีที่โครงการที่ได้รับการอนุมัติ ประสบปัญหาไม่สามารถดำเนินให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และอาจต้องยกเลิกโครงการหรือไม่นั้น ส่วนนี้จะต้องมีการพิจารณาเป็นกรณีไป

“ อีกประการที่ต้องขอความร่วมมือจากองค์กรเกษตรกรสมาชิกที่ได้รับการอนุมัติโครงการที่เกี่ยวกับการเลี้ยงโคและกระบือว่า ขอให้ชะลอการเบิกจ่ายเงินในการดำเนินการในช่วงนี้ก่อน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการระบาดของโรคลัมปี สกิน ซึ่งมีการระบาดรุนแรงและทำให้โค กระบือ ป่วยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการระบาดของโรคดังกล่าว จึงขอให้ชะลอก่อน และหากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ สามารถควบคุมการระบาดได้เป็นผลสำเร็จ แล้วค่อยกลับมาเริ่มดำเนินการใหม่” นายสมยศ กล่าวในที่สุด