มทร.ศรีวิชัย เสริมสร้างอาชีพการเกษตรสร้างรายได้ ส่งมอบ ตู้เพาะเห็ดระบบอัตโนมัติ 8 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา

สำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ภายใต้โครงการเสริมสร้างอาชีพการเกษตรสร้างรายได้เกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน ภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กิจกรรมส่งเสริม การเพาะเห็ดระบบอัตโนมัติ ด้วย “ตู้เพาะเห็ดระบบอัตโนมัติ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วงพงค์ บุญช่วยแทน ผู้อำนวยการสำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี มากอ้น วิทยาลัยรัตภูมิ ดร.สาลินี ทิพย์เพ็ง คณะศิลปศาสตร์ อาจารย์รัสมนต์ ยุระพันธุ์ คณะบริหาร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วันประชา นวนสร้อย วิทยาลัยรัตภูมิ ร่วมกันนำเทคโนโลยีด้านสมาร์ทฟาร์มเข้ามาช่วยส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยมีนางศิริมา บางัสสาเร๊ะ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต นางสาวโสมฤทัย อินทมะโน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ร่วมด้วย

ตู้เพาะเห็ดระบบอัตโนมัติ  เป็นโรงเรือนมีขนาด100*60*150 เมตร ทำด้วยเหล็กคาวาไนขอบอลูมิเนียม มีพลาสติกันกัน UV คลุมตู้ ภายในตู้มีทั้งหมด 3 ชั้นมีตะแกรงสำหรับวางก้อนเห็ดของแต่ละชั้น มีเซนเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้นมีพัดลมระบายอากาศ มีฟ๊อกซี่จำนวน 2 หัวต่อชั้นสำหรับรดน้ำและใช้ในการควบคุมความชื้นภายในตู้ สำหรับการควบคุมการทำงานของตู้ มีชุดควบคุมสามารถตั้งค่าได้ 4 ค่า ดังต่อไปนี้  อุณหภูมิ ถ้าอุณหภูมิสูงกว่าที่กำหนด พัดลมระบายอากาศทำงาน   ความชื้นภายในตู้   เวลาในการตรวจสอบเงื่อนไขของความชื้นเพื่อสั่งให้ฟ๊อกซี่ทำงาน  และตั้งเวลาในการทำงานของฟ๊อกซี่ ตู้เพาะเห็ดช่วยลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง20% และเพิ่มผลผลิตได้ถึง 30%

ปัจจุบัน ได้ดำเนินการส่งมอบและถ่ายทอดนวัตกรรมตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติจำนวน 8 อำเภอ ดังนี้ 1.กลุ่มส่งเสริมอาชีพเพาะเห็ด หมู่ที่ 2 ตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง 2. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หมู่ที่ 6 ตำบลคลองหรัง อำเภอนาหม่อม 3. วิสาหกิจชุมชน STP แปรรูปเห็ดบ้านท่าหรั่ง หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งลาน อำเภอคลองหอยโข่ง 4. ศพก.ตำบลท่าช้าง หมู่ที่ 10 ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ 5. กลุ่มส่งเสริมอาชีพทำเกษตรแบบผสมผสานบ้านนาสีทอง หมู่ที่ 1 ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ  6. กลุ่มกสิกรรมธรรมชาติ ตำบลเขามีเกียรติ อำเภอสะเดา 7. กลุ่มปลูกผักตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ และ 8. กลุ่มเพาะเห็ด หมู่ที่ 8 ตำบลเขารูปช้าง อำเภอสงขลา

โดยการส่งมอบและการถ่ายทอดนวัตกรรมตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติในครั้งนี้ ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง 20% ลดรายจ่าย มีผลผลิตที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ได้ราคาดี เป็นอาชีพเสริมที่สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ครอบครัวได้เป็นอย่างดี