ที่มา | เศรษฐกิจพอเพียง |
---|---|
ผู้เขียน | วีรสุทธิ์ โฮสูงเนิน |
เผยแพร่ |
คุณนวนศรี บุตรโคตร ปัจจุบัน.อายุ 56 ปี บ้านเลขที่ 114 หมู่ที่ 5 บ้านโนนสง่า ตำบลโนนเมือง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู
การศึกษา ประถมศึกษาปีที่ 4 สถานภาพ สมรสกับ คุณไพบูลย์ บุตรโคตร มีบุตร จำนวน 2 คน ได้แก่ คุณกัลยา บุตรโคตร บุตรสาว คุณวิทยา บุตรโคตร บุตรชาย และ คุณกิตติ ปทีปวณิช บุตรเขย
แรงงานภาคการเกษตร ที่สามารถทำงานได้เต็มเวลาในฟาร์ม ของครัวเรือน จำนวน 5 คน
พื้นที่ทำการเกษตร (ไร่นาสวนผสม) 16 ไร่ ของภรรยาคุณไพบูลย์ บุตรโคตร
คติประจำใจ “ศรัทธาในงาน ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่”
จุดเริ่มต้นการทำเกษตร
คุณนวนศรี เล่าให้ฟังว่า การทำอาชีพการเกษตรแบบดั้งเดิมตามบรรพบุรุษ คือการทำนาและปลูกพืชไร่ (อ้อยโรงงาน) พื้นที่ 16 ไร่ ซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยวมาตลอด และมีงานประจำคือ การเป็นลูกจ้าง (งานป้องกัน) ขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมือง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ได้มีโอกาสไปอบรมดูงานด้านการเกษตรกับเครือข่ายเกษตร จึงได้น้อมนำแนวทางหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและในพื้นที่การเกษตรของตนเอง เริ่มจากแนวคิดลดรายจ่าย
เนื่องจากครอบครัวมีความต้องการพืชอาหารที่หลากหลายและต้องซื้อมาเพื่อบริโภค เนื่องจากปัญหาด้านการเกษตรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีต้นทุนที่สูงขึ้น เกิดการระบาดของโรคศัตรูพืชต่างๆ เกิดภัยธรรมชาติ อีกทั้งมีรายได้ไม่ต่อเนื่อง จึงได้เกิดแนวคิดปรับเปลี่ยนพื้นที่ 6 ไร่ ที่ปลูกอ้อยมาเป็นการปลูกไผ่ทั้งไผ่บงหวานและไผ่เลี้ยง ซึ่งนอกจากจะลดรายจ่ายยังเป็นการเพิ่มรายได้เป็นอย่างดีในปัจจุบัน และเมื่อเริ่มศึกษาดูงานและมีเครือข่าย จึงเริ่มต้นทำปรับเปลี่ยนในพื้นที่ของตัวเองและมีการวางแผนปรับเปลี่ยนจากการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นการเกษตรแบบไร่นาสวนผสมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริม พัฒนาการเกษตรบนพื้นที่ 16 ไร่ ให้มีมูลค่าตลอดทั้งปี เป็นแหล่งอาหารในพื้นที่ เป็นตัวอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่ต้องการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นพืชผสมผสานในรูปแบบไร่นาสวนผสม
การคิดค้นสร้างนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาการเกษตร
โดยเริ่มต้นจากการทำเพื่อบริโภคในครัวเรือนก่อนในตอนแรก เมื่อได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีการแบ่งปันและจำหน่ายภายในหมู่บ้านและในตำบล ทำให้ผลผลิตจากสวนเป็นที่รู้จัก เนื่องจากมีรสชาติดีและปลอดภัย จึงได้คิดขยายพื้นที่ที่สามารถดูแลจัดการได้ง่าย ได้จัดทำโรงเรือนขนาด 4×10 เมตร โครงจากไม้ไผ่ที่มีในสวน สำหรับปลูกผักที่สามารถป้องกันแมลงศัตรูพืชได้และสามารถที่จะปลูกผักได้ตลอดปี โดยจะเน้นการปลูกในฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงที่ปลูกผักได้ยากและราคาจะสูง สามารถปลูกผักได้ 3 รอบ ต่อปี
การทำการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
จากการทำงานเป็นลูกจ้างที่ไม่ได้มีเวลาดูแลครอบครัวไปเช้ากลับดึก ร่างกายก็เริ่มเจ็บป่วย ชีวิตรายวันต้องมีรายจ่าย จึงได้ตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อที่จะมาสร้างความมั่นคงของครอบครัวและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองและครอบครัว จึงได้เริ่มคิดบริหารจัดการพื้นที่ 16 ไร่กว่าๆ ของภรรยา จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีและมีรายได้รายปี เปลี่ยนมาทำเกษตรผสมผสาน ที่เริ่มต้นจากการคิดหาพืชที่เป็นตัวหลักที่จะทำให้มีกินมีรายได้ นอกจากการทำนา จึงได้เริ่มต้นด้วยการปลูกไผ่บงหวาน จุดเริ่มของการเลือกไผ่บงหวาน คือภรรยาชอบกินและต้องซื้อ จึงได้นำมาปลูกในพื้นที่เพื่อลดรายจ่าย ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพืชหลักที่สร้างรายได้เป็นอย่างดี และได้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น พร้อมได้มีการปลูกพืชอย่างอื่น ได้แก่ ไผ่เลี้ยง ไม้ผล พืชผัก ทุกพืชที่ปลูกเริ่มต้นจากคนในครอบครัว ชอบกินแล้วต้องซื้อ จึงกลายเป็นที่มาในพื้นที่ตรงนี้เป็นไร่นาสวนผสม ที่มีทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่มีในสวน เพราะเชื่อว่าเรากินสิ่งไหน ผู้คนย่อมกินได้เช่นกัน และในการผลิต จะผลิตตามความต้องการของผู้บริโภค โดยการผลิตจะเน้นความปลอดภัย พึ่งพาอาศัย มุ่งมั่นทำการเกษตรโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ผลงานและความสำเร็จ
พื้นที่ทำการเกษตรไร่นาผสมผสาน ตามหลักฐานเอกสาร ส.ป.ก 4-01 แปลงที่ 17 กลุ่ม 153 เนื้อที่ 8-1-58 ไร่ และแปลงที่ 18 กลุ่ม 153 เนื้อที่ 8-1-69 ไร่ รวมทั้งหมด 16 ไร่ 3 งาน 27 ตารางวา มีการบริหารจัดการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 พื้นที่พักอาศัย จำนวน 1 ไร่
1. ใช้สำหรับเป็นที่พักอาศัย เก็บวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร
2. ใช้สำหรับผลิตน้ำหมักชีวภาพต่างๆ เพื่อใช้ในการเกษตร ขยายพันธุ์พืชและผสมอาหารเลี้ยงปลาจากวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ที่มีในพื้นที่ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต
3. ที่ตั้งเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรผสมผสาน (ไร่นาสวนผสม) เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของชุมชน
4. เป็นจุดรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรก่อนออกจำหน่าย
ส่วนที่ 2 บ่อกักเก็บน้ำขนาด 1 ไร่ สำหรับเลี้ยงปลาไว้เพื่อบริโภคและเลี้ยงหอยเพื่อบริโภคและจำหน่าย
ส่วนที่ 3 ปลูกข้าวและพืชหลังนา จำนวน 4 ไร่
1. พื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์ กข 6 โดยวิธีการปักดำ โดยใช้น้ำหมักชีวภาพ ฮอร์โมน และปุ๋ยหมักที่ทำไว้ใช้เอง ดังนี้ ช่วงข้าวยืนต้นอายุ 30-40 วัน ใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วย ปริมาณ 20 ลิตร ต่อไร่ เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของราก ลำต้น และใบข้าว โดยใช้วิธีปล่อยตามทางน้ำไหลแบบธรรมชาติเข้าไปตามร่องนาที่ได้ทำไว้ เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานฉีดพ่น พร้อมทั้งช่วยลดต้นทุนการใช้สารเคมีต่างๆ ที่มีราคาแพง และมีสารพิษตกค้าง ทำให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อีกทั้งเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ผลผลิตน้ำหนักสดเฉลี่ย 800-850 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลผลิตที่ได้นำไปจำหน่ายสร้างรายได้ และเก็บบางส่วนไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือนช่วยลดรายจ่าย
2. หลังฤดูทำนา มีการไถกลบตอซังและปลูกปอเทือง จำนวน 4 ไร่ ไถกลบเพิ่มอินทรียวัตถุ และปรับโครงสร้างดิน
3. ปลูกพืชหลังนา พริก จำนวน 2 ไร่ และพืชผักอื่นๆ เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้
ส่วนที่ 4 ปลูกพืชผัก (พริก) จำนวน 2 ไร่
การปลูกพริกจะนำระบบน้ำหยดมาใช้ โดยใช้ฟางคลุมดินแทนพลาสติก ในการปลูกจะเพาะกล้า ย้ายกล้าปลูกจะล้างดินออกจากรากให้หมดก่อนการปลูก ต้นพริกจะไม่เหี่ยวเฉา ในการดูแลให้น้ำให้ปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง รายได้ 120,000 บาท ต่อรอบ
ส่วนที่ 5 เกษตรผสมผสาน จำนวน 6 ไร่ แบ่งเป็น 2 ส่วน ปลูกพืชผัก ไม้ผล เพื่อผลิตเป็นเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์จำหน่าย สร้างรายได้ในปัจจุบันและอนาคต ส่วนไม้ยืนต้น (ไม้ใช้สอย) ได้แก่ ไผ่เลี้ยง ไผ่บงหวาน ยางนา พะยูง ตามแนวคิดการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติ ทำให้การปลูกพืชมีประสิทธิผล ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ดังนี้
- ไผ่เลี้ยง จำนวน 200 กอ ให้ผลผลิตแล้ว และขยายพันธุ์จำหน่าย รายได้ 70,000 บาท ต่อปี
- ไผ่บงหวาน จำนวน 700 กอ ให้ผลผลิตแล้ว และขยายพันธุ์จำหน่าย รายได้ 130,000 บาท ต่อปี
- ฝรั่งกิมจู จำนวน 270 ต้น ให้ผลผลิตแล้ว และขยายพันธุ์จำหน่าย รายได้ 100,000 บาท ต่อปี
- มะม่วง จำนวน 10 ต้น ให้ผลผลิตแล้ว รายได้ 2,000 บาท ต่อปี
- เงาะ จำนวน 20 ต้น ยังไม่ให้ผลผลิต
- กล้วยน้ำว้า จำนวน 50 ต้น ให้ผลผลิตแล้ว รายได้ 2,000 บาท ต่อปี
- กาแฟอะราบิก้า จำนวน 20 ต้น ยังไม่ให้ผลผลิต
- มะขามเทศ จำนวน 15 ต้น ให้ผลผลิตแล้ว รายได้ 1,000 บาท ต่อปี
- ส้มโอ จำนวน 6 ต้น ยังไม่ให้ผลผลิต
- ตะไคร้ รายได้ 1,000 บาท ต่อปี
- ข่า รายได้ 15,000-20,000 บาท
- ผักหวาน รายได้ 5,000 บาท ต่อปี
- พืชผักในแปลง หอม ผักชี ผักกาด กระเทียม 10,000 บาท
- พืชผักในโรงเรือน 1 โรง ขนาด 4×10 เมตร รายได้ 9,000 บาท ต่อปี
โดยเฉลี่ยรายได้ ประมาณ 1,100 บาท ต่อวัน
ในการบำรุงและดูแลรักษาพืชในแปลงไร่นาสวนผสมจะใช้ปุ๋ยหมักที่ทำการหมักเองในการใส่ปุ๋ยในแปลงทั้งลดต้นทุนและทำให้โครงสร้างดินดี ผลผลิตที่ได้ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และ PGS เป็นสิ่งที่การันตีผลผลิตในสวน ให้เป็นที่รู้จักและเชื่อมั่นของผู้บริโภค จนถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน
การจัดการ
- มีแผนผังฟาร์ม
- แรงงานในครัวเรือน 5 คน โดยมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน เช่น แรงงานในสวน แรงงานเก็บผลผลิต/จำหน่าย แรงงานแปรรูป
การจัดการผลผลิต การจำหน่าย และการตลาด
ผลผลิตที่ได้จากแปลงนั้นจะเน้นให้บริโภคเพียงพอในครอบครัวก่อน จึงแบ่งปันและจำหน่าย ในส่วนที่จำหน่าย นั้นมีช่องทางการตลาด ได้แก่
- จำหน่ายที่บ้าน โดยผลผลิตที่ได้ทุกชนิดสามารถจำหน่ายได้ มีผู้ซื้อถึงที่บ้าน ได้แก่ ผักสวนครัว ผลไม้ หน่อไม้ พันธุ์พืช
- การจำหน่ายในชุมชน โดยเป็นการนำผลผลิตไปวางจำหน่ายในตลาดชุมชน อาทิ ตลาดนัด ตลาดของถม เป็นลักษณะการขายปลีก
- จำหน่ายตามงานที่ทางภาครัฐจัด
- ซื้อขายล่วงหน้า โดยสั่งจองทางเฟซบุ๊ก ไลน์ โดยรับประกันคุณภาพสินค้า
รายได้รายวัน/รายสัปดาห์ จากการขายหน่อไม้ พืชผัก ข่า ตะไคร้ ที่ตัดขายได้เกือบทุกวันและทุกสัปดาห์
รายได้รายเดือน จากการขายกล้วยน้ำว้า ไม้ผล พันธุ์ไม้
รายได้รายปี จากการขายข้าว
การจดบันทึกและบัญชี
ในการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรแบบไร่นาสวนผสม กิจกรรมต่างๆ สามารถเกื้อกูลกันได้ และต้นทุนการผลิตหาได้ในท้องถิ่น ทำให้มีค่าใช่จ่าย ในการทำการเกษตรน้อยมาก ยกเว้นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ได้แก่ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ค่าเสื้อผ้า เป็นต้น มีการจดบันทึกการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ทั้งการผลิต ความรู้ บัญชีรายรับรายจ่ายโดยได้ศึกษาจาก การอบรมของหน่วยงานต่างๆ เช่น ส.ป.ก. สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ การใช้ประโยชน์จากการจัดทำบัญชีทำให้มีความรู้สามารถแยกรายรับ-รายจ่ายได้ ทราบว่าสิ่งที่ผลิตนั้นกระจายไปที่ใดบ้าง ใครเป็นลูกค้า ทำให้รู้ต้นทุนการผลิต แนวโน้มราคาผลผลิต และนำมาประมาณการวางแผนด้านชนิด ปริมาณพืชที่จะปลูกในปีต่อๆ ไป และการทำบัญชีครอบครัว ทำให้ทราบถึงฐานะของครอบครัวและตัดสิ่งฟุ่มเฟือยได้เป็นอย่างดี
ความยั่งยืนของอาชีพ
คุณนวนศรี ยึดหลักการตลาดนำการผลิต ผลิตสินค้าการเกษตรที่เป็นที่ต้องการของชุมชน ซึ่งการทำไร่นาสวนผสมเป็นการปลูกพืชที่มีความหลากหลาย ลดความเสี่ยงในเรื่องการตลาด และที่สำคัญในแปลงของคุณนวนศรี การจำหน่ายเกษตรกรจะเป็นผู้กำหนดราคาและปริมาณเอง อีกทั้งกระบวนการผลิตเน้นความปลอดภัยของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ผลผลิตที่ได้จึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในชุมชนและตลาดทั่วไป ซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพของชุมชน เพราะผลผลิตส่วนใหญ่เป็นอาหารพื้นถิ่นบริโภคได้ทุกวันทุกมื้อ โดยจะเน้นเรื่องไผ่ เพราะนอกจากจะจำหน่ายหน่อไม้แล้ว ยังสามารถขยายต้นพันธุ์จำหน่ายได้เป็นอย่างดี
ความเป็นผู้นำและการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่างๆ
การทำกิจกรรมโดยยึด คติประจำใจ “ศรัทธาในงาน ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่” หลังจากลาออกจากงานประจำแล้ว มาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ก็ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมทั้งจากการอบรม ศึกษาดูงาน และจากประสบการณ์ของตนเอง และผู้รู้ในเรื่องที่สนใจและนำมาปฏิบัติจนสามารถวางแผนการผลิตในพื้นที่ตนเองได้ และได้รับการยกย่องจากหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (ศพก.) เครือข่าย ด้านเกษตรผสมผสาน พร้อมทั้งเป็นวิทยากรประจำศูนย์ และใช้พื้นที่ของตนเองเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานให้กับเกษตรกรที่สนใจ สำนักงานเกษตรอำเภอนากลาง ได้คัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้ ชื่อศูนย์ : ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง/เกษตรทฤษฎีใหม่/เกษตรผสมผสาน หมู่ที่ 5 ตำบลโนนเมือง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เทคโนโลยีเด่นของศูนย์เครือข่าย : การบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
หลักสูตรการเรียนรู้ :
ฐานการเรียนรู้ที่ 1 การจัดการดูแลแปลงฝรั่ง
ฐานการเรียนรู้ที่ 2 การทำไผ่บงหวานนอกฤดู
ฐานการเรียนรู้ที่ 3การขยายพันธุ์พืช
ฐานการเรียนรู้ที่ 4การจัดการแมลงศัตรูพืชผักด้วยชีววิธี
ฐานการเรียนรู้ที่ 5 การเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ท้องถิ่น
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การผลิตที่เกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม
การทำไร่นาสวนผสม แต่ละขั้นตอนในการผลิตพืช ปศุสัตว์ ประมง จะให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ระบบนิเวศทางการเกษตรดีขึ้น ดังนี้
การปรับปรุงบำรุงดิน
- การไถกลบตอซังข้าวแทนการเผาทำลาย เพื่อลดภาวะโลกร้อนและเป็นการรักษาจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์บริเวณหน้าดิน นอกจากนี้ ยังปลูกปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสดในการไถกลบเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุและปรับโครงสร้างให้แก่ดิน
- การใช้น้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมัก ในการทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสมแทนการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี จะช่วยสร้างความสมบูรณ์ของดินในธรรมชาติ ลดมลภาวะและสารพิษตกค้างในดิน
การป้องกันรักษาดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อม
- การปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่โดยหลักการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างซึ่งเป็นแนวคิดการผสมผสานการอนุรักษ์ ดิน น้ำ และการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่กับความต้องการด้านเศรษฐกิจ จะช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศในสวน ช่วยปกป้องผิวดินให้ชุ่มชื้น ดูดซับน้ำฝน และค่อยๆ ปลดปล่อยความชื้นสู่สวนเกษตรกรรม ก่อให้เกิดความสมดุลของธรรมชาติและลดภาวะโลกร้อน
- รักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ โดยการคลุมดินโคนต้นไม้ผล เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดินและน้ำ อีกทั้งคุมวัชพืช ด้วยการนำเอาฟางข้าวหรือเศษหญ้า ใบไม้ที่ร่วงหล่นและจากการตัดแต่งกิ่งมาปกคลุม และไม่ทำการเผาเศษหญ้า ใบไม้ กิ่งไม้ที่ร่วงหล่น ที่จะมีผลทำให้โครงสร้างของดินเสียไป
สูตรการทำปุ๋ยหมัก
วัสดุ/ส่วนผสม
- ขี้อ้อย จำนวน 20 ตัน
- มูลไก่ จำนวน 4 ตัน
- ปุ๋ยคอก จำนวน 4 ตัน
- รำอ่อน จำนวน 200 กิโลกรัม
- กากน้ำตาล จำนวน 100 กิโลกรัม
วิธีทำ
นำวัสดุ ขี้อ้อย มูลไก่ ปุ๋ยคอก รำอ่อน และกากน้ำตาล มาคลุกผสมให้เข้ากันและหมักทิ้งไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนนำไปใช้
สูตรน้ำหมักไล่แมลง
วัสดุ/ส่วนผสม
- 1. ใบสะเดาบด หรือหั่นให้ละเอียด จำนวน 5 กิโลกรัม
- 2. สาบเสือสับให้ละเอียด จำนวน 5 กิโลกรัม
- 3. ตะไคร้หอม (ทุกส่วน) สับหรือบดให้ละเอียด จำนวน 5 กิโลกรัม
- 4. กากน้ำตาล จำนวน 3 ขีด
- 5. พด.1 จำนวน 1 ซอง
- 6. น้ำสะอาดไม่มีคลอรีน จำนวน 20 ลิตร
วิธีทำ
นำวัสดุที่ได้มาผสมคลุกเคล้าเข้าด้วยกันในภาชนะที่เตรียมไว้ เติมน้ำสะอาดให้ท่วม ทับด้วยของหนัก เช่น ไม้ หิน หมักไว้ 1 เดือน แล้วนำมากรองใส่ขวดเก็บไว้ ฉีดพ่นขับไล่ แมลง และกำจัดพวกเพลี้ย หนอนชอนใบ หนอนกระทู้ผัก เป็นต้น
วิธีใช้ ใช้อัตราเข้มข้น 1 : 1 (สมุนไพร 1 ส่วน : น้ำ 1 ลิตร)
สูตรน้ำหมักหน่อกล้วย
วัสดุ/ส่วนผสม
- 1. หน่อกล้วย จำนวน 10 กิโลกรัม
- 2. กากน้ำตาล จำนวน 10 กิโลกรัม
- 3. พด.2 จำนวน 1 ซอง
วิธีทำ นำหน่อกล้วยที่ได้มาหั่นเป็นแว่นบางๆ หรือบดให้ละเอียด จำนวน 10 กิโลกรัม นำมาคลุกเคล้ากับกากน้ำตาล จำนวน 10 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากันหมักไว้ 1 เดือน
วิธีใช้
ใช้ 2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 20 ลิตร อาทิตย์ละครั้ง ประโยชน์ ใช้ปรับปรุงดิน ใช้ในการขยายจุลินทรีย์ต่างๆ
สูตรน้ำหมักจากหอยเชอรี่
วัสดุ/ส่วนผสม
- 1. หอยเชอรี่หรือเศษก้างปลาสดหรือเนื้อสัตว์ 2 กิโลกรัม
2. กากน้ำตาล 2 กิโลกรัม
3. น้ำ 10 ลิตร - 4. พด.2
5. ถังพลาสติกขนาด 20 ลิตร
วิธีการทำ
1. ทุบตัวหอยให้แตก
2.ใส่ถังที่เตรียมไว้ คลุก กากน้ำตาล+น้ำให้เข้ากัน
3. ปิดถังเอาไว้นาน 45-50 วัน นำมาใช้ได้
วิธีการใช้
– กรองเอาแต่น้ำหมัก 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นผัก ผลไม้ในเวลาเย็น
– น้ำหมัก 1 ลิตร ต่อน้ำ 5 ลิตร นำไปรดโคนต้นกล้วยน้ำว้าเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโต
– ใส่ในนาตอนปล่อยน้ำเข้านา น้ำหมัก 70 ลิตร ต่อพื้นที่ 1 ไร่ หรือจะใส่น้ำหมักหลังหว่านข้าวได้ 1 สัปดาห์ก็ได้เช่นเดียวกัน ในอัตราที่เท่ากัน
คุณอำพน ศิริคำ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภูและสำนักงานเกษตรอำเภอนากลาง ได้สนับสนุนโรงเรือนคัดกรองแสงให้จำนวน 1 โรง ขนาด 5×10 เมตร ในปีงบประมาณ 2564 เพื่อทำการผลิตพืชผักในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ และยังได้คัดเลือกให้เป็นเกษตรกรต้นแบบ เป็นแปลงเรียนรู้ และเป็นศูนย์เรียนรู้ของหลายๆ หน่วยงาน ทำให้มีความรู้ความสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปที่สนใจในและนอกชุมชน จากโรงเรียน หน่วยงานราชการต่างๆ จากภาครัฐ เอกชน มาศึกษาดูงานอย่างเป็นทางการหรือบุคคลที่สนใจมาด้วยตนเองหรือโทรศัพท์มาปรึกษา โดยไม่มีการหวงวิชา ความรู้ ในด้านเกษตรผสมผสาน และได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมาตรฐาน PGS
ปัจจุบันมีเครือข่ายเกษตรกร ผู้ที่ได้มาศึกษาดูงาน ขอคำปรึกษา และซื้อต้นพันธุ์พืชจากสวนไปปลูกและได้นำไปปฏิบัติตามในพื้นที่ของตนเองจนประสบผลสำเร็จและมีความยั่งยืนในอาชีพ บางรายสามารถเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่นได้ และได้รับการผลิตสินค้าเกษตรที่รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาไร่นาสวนผสม อันดับที่ 1 ของจังหวัดหนองบัวลำภู และได้รับพิจารณาส่งเข้าประกวดสาขาไร่นาสวนผสมดีเด่นในระดับเขตที่ 4 จังหวัดขอนแก่น ถ้าหากเกษตรกรท่านใดที่สนใจอยากศึกษาดูงาน สามารถติดต่อได้ที่บ้านเลขที่ 144 บ้านโนนสง่า หมู่ที่ 5 ตำบลโนนเมือง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู โทรศัพท์ (087) 967-8535
……………………………
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2564