เมืองมาย จังหวัดลำปาง ชุมชนเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้นแบบชุมชนเชิงนิเวศ ECO CITY

ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทยและทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมใหญ่หรือภัยแล้ง ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Emergency) ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นวิกฤต และหากย้อนกลับไปที่ต้นตอ คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของ “มนุษย์” ล้วนมีส่วนสร้างผลกระทบที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้คือ “เราทุกคน” SCG ซึ่งมุ่งมั่นดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปพร้อมกับการดำเนินธุรกิจ สอดคล้องกับแนวทาง ESG (Environmental, Social, Governance) เทรนด์ของโลก จึงเป็นภาคส่วนหนึ่งที่พยายามส่งเสริม ช่วยวางรากฐาน สร้างความรู้ความเข้าใจ ไปจนถึงการเป็นเพื่อนคู่คิดให้ชุมชนเข้มแข็ง ลุกขึ้นมาดูแลท้องถิ่นของตนเอง

เช่นที่ ชุมชนเมืองมาย จังหวัดลำปาง ซึ่งถือเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และคนในชุมชนตระหนักถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี SCG จึงได้ชักชวนชุมชนทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาเมืองและชุมชนเชิงนิเวศ สู่การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไปเมื่อปี 2562 เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาเมืองและชุมชนเมืองมาย จังหวัดลำปาง ให้เป็นต้นแบบเมืองนิเวศ (ECO CITY)

“เราได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจของ SCG มาปรับใช้ พัฒนาต่อยอด และผลักดันชุมชนเมืองมายให้เป็นชุมชนเศรษฐกิจหมุนเวียนต้นแบบ โดยร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองมาย” นายวรการ พงษ์ศิริกุล ผู้อำนวยการโรงงานปูนลำปาง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง SCG อธิบายถึงแนวคิดและวิธีการทำงานร่วมกับชุมชน พร้อมทั้งคณะทำงานยังได้รวบรวมข้อมูลและสำรวจสภาพพื้นที่ เพื่อจัดทำแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ สำหรับนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ 6 หมู่บ้านของตำบลเมืองมาย เพื่อนำไปสู่การวางแผนพัฒนาเมืองและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน ยังได้ส่งเสริมการใช้และบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่า พร้อมยกระดับความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นของชุมชนเมืองมาย เช่น หัตถกรรมจักสาน ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ และมีการสืบทอดกันแบบรุ่นสู่รุ่น

จากแนวคิดและแนวทางปฏิบัติของชุมชนเมืองมายตามแนวทางต้นแบบเมืองนิเวศ ส่งผลให้ในปี 2563 ชุมชนเมืองมาย มีผลการประเมินทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนเชิงนิเวศครบทั้ง 19 ตัวชี้วัด ตามเกณฑ์การประเมินของกองสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มขึ้นเป็น 70% จาก 53% ในปี 2562 ซึ่งจัดอยู่ในระดับ ECO CITY โดยมีการปฏิบัติที่โดดเด่น ทั้งในเรื่องของ 1. ต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การส่งเสริมการปลูกไผ่ ส่งเสริมการรักษาทรัพยากรป่าไม้ และการทำฝาย เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดิน และต่อยอดไปถึงการกักเก็บน้ำสำหรับเกษตรกรรม รวมถึง 2. การลดมลพิษ ด้วยการจัดการขยะครัวเรือนตั้งแต่ต้นทาง พร้อมส่งเสริมให้มีธนาคารขยะในชุมชน และต่อยอดการนำขยะไปหมุนเวียนสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น นำถุงกาแฟหรือถุงนมมาทำความสะอาด และแปรรูปเป็นกระเป๋า ผ้ากันเปื้อน นำฝากระป๋องน้ำอัดลมมาประดิษฐ์เป็นกิ๊บติดผม นำเศษอะไหล่และเศษเหล็ก มาต่อเป็นหุ่นยนต์ รวมถึงการรับซื้อฟางข้าวและแกลบจากชุมชน เพื่อนำมาเป็นพลังงานทดแทนในโรงงาน ซึ่งช่วยลดการเผาทิ้งได้กว่า 4,316 ตัน รวมถึง 3. การส่งเสริมคุณภาพชีวิต เช่น การพัฒนาที่ดินทำกิน การส่งเสริมอาชีพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตะกร้าจักสานเมืองมาย การส่งเสริมสาธารณสุขชุมชน ตลอดจนการเชื่อมโยงให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมี 4. การป้องกันภัยพิบัติ โดยชุมชนได้ร่วมร่างแผนป้องกันภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมและดินถล่ม กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ

Advertisement

ความสำเร็จของต้นแบบเมืองนิเวศ (ECO CITY) ที่ตำบลเมืองมาย จังหวัดลำปาง ซึ่งคำนึงถึงการพัฒนาที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ การสร้างคุณค่าร่วมกันกับชุมชน ควบคู่กับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน SCG โดย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองมาย พร้อมด้วยหน่วยงานราชการท้องถิ่นในจังหวัดลำปาง จึงได้ส่งมอบแผนผังชุมชนเชิงนิเวศเมืองมาย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ไปเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

Advertisement

จากวิถีการดำเนินชีวิตและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนเมืองมาย รวมทั้งการดำเนินงานเหล่านี้ ถือเป็นการสร้างคุณค่าร่วมกันกับชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามแนวทางดำเนินธุรกิจของ SCG ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มาอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าสังคมและชุมชนที่เข้มแข็งจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป

นายวรการ พงษ์ศิริกุล

ผู้สนใจข้อมูลเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และการจัดการขยะ สามารถติดตามได้ที่ https://www.scg.com/sustainability/circular-economy/ และติดตามข่าวสารอื่นๆ ของ SCG ได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter:@scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel