ที่มา | เทคโนโลยีเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
เผยแพร่ |
ลางสาด และ ลองกอง ถือเป็นผลไม้ขึ้นชื่ออันดับต้นของจังหวัดอุตรดิตถ์ หากจะเป็นรองก็คงยอมให้ได้เฉพาะ ทุเรียนหลงลับแล และ หลินลับแล ที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่จำนวนลางสาดในปัจจุบัน กำลังจะลดน้อยลง โดยสถานการณ์ลางสาดในพื้นที่อำเภอลับแล เหลือพื้นที่ปลูกอยู่เพียง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ปลูกผลไม้ทั้งหมดในอำเภอลับแล สวนที่เคยปลูกลางสาดเดิมกลับกลายเป็นลองกองไปเกือบทั้งหมด จากการโค่นต้นลางสาดเดิม นำยอดพันธุ์ลองกองมาเสียบเปลี่ยนต้นใหม่ เนื่องจากราคาซื้อขายในตลาดของลองกองสูงกว่าลางสาดมาก
ขณะเดียวกัน เมื่อถึงฤดูการให้ผลผลิตลองกองแต่ละปี ราคาซื้อขายอาจไม่เท่ากัน เมื่อราคาผันผวนขึ้นลงเช่นนี้ ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลนานกกก อำเภอลับแล ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกลองกองมากที่สุดของอำเภอ ก่อตั้งตลาดกลางสำหรับซื้อขายลองกองให้กับเกษตรกร โดยใช้พื้นที่บริเวณอาคารอเนกประสงค์ หน้าองค์การบริหารส่วนตำบล จัดทำเป็นตลาดกลางซื้อขายลางสาดและลองกอง ผลไม้ขึ้นชื่อของชาวตำบลนานกกก ตำบลฝายหลวง และตำบลแม่พูล
ตลาดกลางซื้อขายลางสาดและลองกองแห่งนี้ เปิดให้ชาวสวนนำผลผลิตมาจำหน่ายที่ตลาดในช่วงสายของทุกวัน โดยพ่อค้าและแม่ค้าคนกลางจากจังหวัดต่างๆ จะมารับซื้อที่นี่ เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ หรือส่งจำหน่ายไปยังตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง การเปิดตลาดแห่งนี้ขึ้น นอกจากจะช่วยประชาสัมพันธ์การจำหน่ายลางสาดและลองกองของชาวอำเภอลับแลแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรได้ราคาซื้อขายที่เป็นธรรม ไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง
ในอดีต ลางสาด ของอำเภอลับแล ได้รับความนิยมสูง กระทั่งราคาตกต่ำ ลองกองได้ราคาดีกว่า เกษตรกรจึงเปลี่ยนเป็นลองกอง ด้วยการตัดต้นลางสาดทิ้ง แล้วนำยอดพันธุ์ลองกองมาเสียบตอลางสาด ซึ่งวิธีนี้ทำให้ได้ผลผลิตลองกองเร็วขึ้น ทั้งนี้ ลองกอง เข้ามามีบทบาทในอำเภอลับแล ประมาณ ปี 2530 สาเหตุหลักเกิดจากราคาจำหน่ายลองกองดีกว่า อายุการเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาของลองกองก่อนจะถึงมือผู้บริโภคนานกว่า ทำให้ปัจจุบัน พื้นที่ทำการเกษตรของตำบลนานกกกทั้งหมดกว่า 25,000 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกลองกองราว 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นพืชสวนชนิดอื่น
นายอาน แปลงดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนานกกก (อบต. นานกกก) เป็นเกษตรกรตามบรรพบุรุษ ได้รับมรดกตกทอดเป็นสวนผลไม้ ประมาณ 200 ไร่ ทั้งหมดนี้ปลูกผลไม้หลายชนิด เช่น มังคุด ทุเรียน ลางสาด เงาะ มะปราง กระท้อน เป็นต้น เมื่อ ปี 2530 ที่ลองกองเริ่มเข้ามามีบทบาทในอำเภอลับแล เกษตรกรบางรายเริ่มเปลี่ยนลางสาดเป็นลองกอง ก่อนการตัดสินใจเปลี่ยนตามเกษตรกรรายอื่น
นายอาน ต้องการความมั่นใจ จึงเดินทางไปภาคตะวันออกและภาคใต้ เพื่อศึกษาการปลูก การดูแล ยิ่งเมื่อเห็นผลผลิตที่จำหน่ายได้ราคาดี จึงตัดสินใจซื้อกิ่งพันธุ์มาเสียบต้นลางสาด ประมาณ 3-4 ปี ก็ได้ผลผลิตขายได้ นายอานเริ่มเสียบยอด ปี 2532 มาได้ผลผลิตใน ปี 2535 การเสียบยอดทำให้ได้ผลผลิตเร็ว ในขณะนั้นราคาซื้อจากสวน กิโลกรัมละ 150 บาท
นายอาน กล่าวว่า การดูแลลองกองง่ายกว่าลางสาด อาจเป็นเพราะใช้วิธีเสียบยอดจากต้นลางสาดเดิม ทำให้ต้นไม่สูงมากนัก ตัดแต่งง่าย ซึ่งการแต่งกิ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการปลูกลองกอง เพราะจะทำให้รสชาติผลผลิตดี ซึ่งนอกจากการตัดแต่งกิ่งแล้ว ควรตัดแต่งผลผลิตด้วย โดยพิจารณาจำนวนผลของลองกอง หากมากเกินไปควรปลิดทิ้งบ้าง เพื่อให้ขนาดผลสวยและมีคุณภาพ
สำหรับสวนลองกองของนายอาน เป็นพื้นที่ปลูกบนภูเขา ประมาณ 20 ไร่ และลองกองปลูกผสมผสานกับไม้ผลอื่นอีกกว่า 200 ไร่ นายอานเชื่อว่า พื้นที่ปลูกลองกองบริเวณภูเขาเหมาะสำหรับการปลูกพืชทุกชนิด โดยเฉพาะ ลองกอง เพราะเป็นพืชต้องการน้ำสม่ำเสมอ และเจริญเติบโตในดินร่วนปนทรายที่มีอินทรียวัตถุสูง มีการระบายน้ำดี ซึ่งพื้นที่ปลูกลองกองของนายอาน เป็นดินภูเขา ที่เรียกกันว่า “หินผาผุ” มีอยู่เฉพาะพื้นที่ตำบลนานกกกเท่านั้น และเป็นดินที่มีหินปน แต่สามารถขุดได้ลึกเท่าที่ต้องการ หินไม่ทำให้ดินแน่นเกินไป รากจึงเจริญเติบโตได้ดี เหมือนกับดินร่วนปนทรายที่รากสามารถชอนไชได้สะดวก ยิ่งภูมิอากาศของอำเภอลับแลเป็นอากาศแบบร้อนชื้นด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ลองกองเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดี
การให้น้ำสำหรับลองกอง ควรให้น้ำสม่ำเสมอ โดยเฉพาะฤดูแล้งที่ฝนทิ้งช่วง ควรให้น้ำกระทั่งต้นและใบแก่เต็มที่ สมบูรณ์ทั้งต้น จึงลดปริมาณน้ำและงดให้น้ำในที่สุด เพื่อกระตุ้นให้ลองกองสร้างตาดอก เมื่อสังเกตพบตาดอกมีการพัฒนาและเริ่มยืดตัวเป็นช่อดอก ขนาดสั้นตามกิ่งและลำต้น ก็เริ่มให้น้ำ เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของช่อ ดอก
การใส่ปุ๋ย โดยทั่วไปเกษตรกรจะใส่ทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี โดยการหว่านปุ๋ยบริเวณใต้ทรงพุ่มโดยรอบ ห่างจากโคนต้นประมาณ 20-30 เซนติเมตร แล้วพรวนดินกลบ และใส่หลังจากตัดแต่งกิ่งและกำจัดวัชพืชแล้ว
สำหรับ สวนลองกองของนายอาน ได้รับความนิยมในผลิตผลและคุณภาพลองกองมาก ถึงขนาดมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อและให้ราคาดีถึงสวน นายอาน คำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภค จึงเลือกใส่ปุ๋ยหมักที่ทำขึ้นเอง หรือปุ๋ยคอก จากมูลวัว มูลควาย ปราศจากสารเคมี
“จริงๆ แล้ว ผมไม่ค่อยได้ดูแลเอาใจใส่ด้วยซ้ำ ซึ่งผิดวิสัยของเกษตรกรผู้ปลูกลองกอง ในบางปีถึงกับให้ธรรมชาติช่วยดูแลในการให้น้ำ ยิ่งต้นแก่มาก ยิ่งแข็งแรงมาก ตามธรรมชาติลางสาดและลองกองเป็นพืชป่า หากปลูกในสภาพป่าตามธรรมชาติแล้ว แทบไม่ต้องดูแลเลย แต่เรายังให้ปุ๋ยบ้าง เพราะผลผลิตที่ได้นำไปขาย ดังนั้น ต้องทำให้ได้คุณภาพ จึงจะได้รับความไว้วางใจจากพ่อค้าแม่ค้า” นายอาน กล่าว
ความสำคัญในการปลูกลองกองอยู่ที่การตัดแต่งกิ่ง และการกำจัดวัชพืช ซึ่งการกำจัดวัชพืชภายในสวนและใต้ทรงพุ่ม จะช่วยให้ลองกองปราศจากศัตรูพืช ซึ่งการไม่พ่นยาฆ่าแมลงนั้น อาจทำให้พบหนอนเจาะลำต้น หนอนกินใบและแมลงวันทองบ้าง แต่ไม่มาก โดยแมลงศัตรูพืชเหล่านี้จะพบมากในช่วงที่ลองกองติดผล และเมื่อลองกองติดผลดกแล้ว ควรตัดแต่งช่อออก เริ่มจากการแต่งผลขนาดเมล็ดพริกไทยครั้งแรก และเมื่อผลลองกองมีขนาดมะเขือพวงอีกครั้ง และในบางครั้งฉีดฮอร์โมนบำรุง 1-2 ครั้ง ก็จะทำให้ผลของลองกองมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ลองกอง ของอำเภอลับแล จะให้ผลผลิตราวเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ลองกองจากภาคใต้และภาคตะวันออกหมดผลผลิตแล้ว ที่ผ่านมา เมื่อลองกองให้ผลผลิตดี สวนของนายอานสามารถทำเงินได้มากในทุกปี ยกเว้นปี 2548-2549 ที่ราคาลองกองตกต่ำ เพราะเป็นปีที่ได้ผลผลิตมากเกินความต้องการ
แม้จะปล่อยให้ธรรมชาติดูแล และให้ปุ๋ยบ้างตามโอกาส แต่สวนลองกองของนายอานยังถือไพ่เหนือกว่าพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง สามารถขายให้พ่อค้าแม่ค้าคนกลางได้ในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดเสมอ
“ทุกช่วงที่ลองกองให้ผลผลิต จะมีรถเข้ามารับซื้อถึงสวนผม วันละประมาณ 300 คัน บรรทุกได้คันละประมาณ 3 ตัน และใช้เวลาเก็บเกี่ยวตลอดระยะเวลา 50 วัน จึงจะหมดฤดูให้ผลผลิต”
ตลอดการทำหน้าที่เกษตรกร นายอาน ยังไม่เจอปัญหาที่แก้ไม่ตก หากจะมีก็เพียงราคาผลผลิตตกต่ำในบางช่วงเท่านั้น แต่ปัญหาที่ต้องแก้เฉพาะหน้าอยู่เรื่อยไป คือ ปัญหาแรงงานตัดแต่งกิ่ง ซึ่งการปลูกไม้ผล การตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ค่าจ้างแรงงานอย่างต่ำ วันละ 300 บาท ต่อคน และทำได้ช้า เนื่องจากสวนเป็นทางลาดภูเขา หรือในบางครั้งแรงงานหาไม่ได้ ทำให้ต้องจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งต้องเสียเวลาฝึกตัดแต่งกิ่งให้กับแรงงานเหล่านี้ด้วย
แม้ว่า ลองกอง จะทำรายได้ให้กับนายอานมากกว่าผลผลิตอื่น แต่สวนผสมที่มีอยู่อีกกว่า 200 ไร่ ก็สร้างรายได้ให้ไม่ใช่น้อย เมื่อต้องทำหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนานกกก นายอาน จึงมีเวลาให้กับสวนผสมกว่า 200 ไร่ ค่อนข้างน้อย จึงต้องจ้างแรงงานดูแลสวนแทน
สวนแห่งนี้ ปลูกพืชผสมผสานมาเนิ่นนาน นายอาน ไม่คิดเปลี่ยนแปลง และเห็นว่าในทุกปีผลผลิตที่ได้จากสวนผสมผสานก็สามารถทำเงินได้เช่นกัน อีกทั้งยังช่วยสร้างความมั่นใจหากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมีปัญหา
ผู้สนใจเยี่ยมชมสวน นายอาน แปลงดี บอกว่า ยินดีต้อนรับ แต่ขอให้ติดต่อมาล่วงหน้า ได้ที่ โทร. 081-887-2846 นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนานกกก อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ รอรับสาย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2559