กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ ปรับกระบวนการรวดเร็วกว่าเดิม รับปียกระดับมาตรฐานการเกษตร

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเกษตรกรฯ รอรับการตรวจรับรองมาตรฐานฯ เป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อลดระยะเวลาการรอคอย กระทรวงเกษตรฯ จึงปรับลดขั้นตอนการตรวจรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจรับรองให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยการขอตราออร์แกนิคไทยแลนด์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทยอยถ่ายโอนภารกิจการตรวจสอบให้เอกชนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผู้ผลิตที่ได้รับการรับรอง
มาตฐานเกษตรอินทรีย์สากล แล้วแต่ประสงค์จะได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทย
ตราออร์แกนิคไทยแลนด์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะตรวจเพิ่มเติมอีกเพียง 5 รายการแทนการตรวจใหม่ทั้งหมด 15 รายการ

ด้วยปีนี้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรฯ หนึ่งในมาตรการเพื่อนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการเกษตรของประเทศคือส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และเข้าสู่กระบวนรับรองมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์จริง ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะขอรับการรับรอง กระทรวงเกษตรฯ จึงเร่งรัดการปรับปรุงกระบวนการตรวจรับรองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการลดขั้นตอนการทำงาน และถ่ายโอนภารกิจตรวจรับรองให้ภาคเอกชนดำเนินการมากขึ้น เช่นเดียวกับการเร่งรัดยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ให้เกิดผลเชิงรูปธรรม โดยตั้งเป้าภายในระยะเวลา 5 ปีจะต้องมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว รวมถึงผลักดันให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ขอรับการรับรองให้มากขึ้น
นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่าเดิมขั้นตอนการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และให้เครื่องหมายรับรอง ออร์แกนิคไทยแลนด์ (Organic Thailand) สำหรับเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลหรือมาตรฐานของประเทศอื่น เมื่อประสงค์จะขอรับตราออร์แกนิคไทยแลนด์ จะต้องเริ่มต้นนับ 1 เข้าสู่กระบวนการตรวจรับรอง เหมือนการขอรับการตรวจรับรองใหม่ แต่นับแต่นี้เป็นต้นไปจะไม่ต้องเริ่มต้นนับ 1 ด้วยการตรวจครบทั้ง 15 รายการแล้ว แต่กระทรวงเกษตรฯ จะตรวจเพิ่มเติมอีกเพียง 5 รายการ เท่านั้น ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและประหยัดเวลาลงได้มาก
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเพิ่มเติม เรื่อง 1) เอกสารสิทธิ์ ทุกแปลงที่ขอการรับรองจากทางราชการต้องมีเอกสารหรือหลักฐานยืนยันว่าทำการเพาะปลูกบนพื้นที่ที่ถูกกฎหมาย ไม่บุกรุกป่าหรือพื้นที่สาธารณะ 2) การทำแนวกันชนกรณีพื้นที่ข้างเคียงใช้สารเคมี เช่น การปลูกพืชที่มีความสูงกั้นสารเคมี หรือสิ่งปนเปื้อนที่อาจปลิวมาจากแปลงข้างเคียง หรือทำคันดิน กั้นสิ่งปนเปื้อนที่อาจมากับน้ำหรือวิธีการอื่นๆ ที่สามารถป้องกันสารเคมี หรือสิ่งปนเปื้อนที่อาจมาทางน้ำ ทางอากาศได้ 3) ตรวจน้ำใช้หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน จะตรวจวิธีการในการลดการปนเปื้อนสารเคมี/ โลหะหนักที่อาจปนเปื้อนมา 4) ตรวจสอบให้มั่นใจว่าปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารอินทรีย์อื่นที่นำเข้ามาใช้ในฟาร์ม เป็นอินทรีย์จริง และสุดท้าย ตรวจสอบว่าไม่มีการนำของเสียจากมนุษย์มาใช้ในการผลิต โดยมาตรการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 สำหรับการขอตราออร์แกนิคไทยแลนด์ จะเร่งรัดกระบวนการตรวจรับรองให้กระชับและรวดเร็วขึ้น

รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวต่อไปว่า “ผู้ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกษ.9000) ของกระทรวงเกษตรฯ จะสามารถแสดง เครื่องหมายรับรอง ออร์แกนิคไทยแลนด์ ซึ่งแสดงถึงคุณภาพของสินค้าว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ สร้างความมั่นใจและเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ได้เลือกซื้อสินค้าตามคุณภาพที่ตนเองต้องการ ซึ่งเกษตรกร ที่ต้องการขอรับการรับรองสามารถขอรับการตรวจรับรองได้จากกรมวิชาการเกษตร หรือ หน่วยตรวจรับรองเอกชน (CB) ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)”
สำหรับการเพิ่มความสามารถในการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ให้รวดเร็วและทันกับความต้องการนั้น ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการอยู่ โดยทยอยถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยตรวจรับรองเอกชนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งกำลังศึกษารูปแบบการบริหารจัดการ การสนับสนุนงบประมาณการตรวจรับรองที่เหมาะสมที่จะขับเคลื่อนภารกิจการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำ ให้บริการการฝึกอบรม ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้ รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว
ประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิคที่มีศักยภาพของภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้วกว่า 300,000 ไร่ และมีการส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท ได้แก่ข้าวอินทรีย์ พืชผัก ผลไม้ พืชสมุนไพร ชา กาแฟ เครื่องเทศ สัตว์น้ำ และปศุสัตว์อินทรีย์