ผู้เขียน | พงษ์สันต์ เตชะเสน |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณชัชพงศ์ เอมะสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งกำกับดูแลงานด้านเกษตรกรรมของจังหวัด กล่าวถึงศักยภาพในภาพรวมของจังหวัด ว่า มีจุดแข็งที่มีแม่น้ำหลายสายไหลมาสมทบกันที่จังหวัด ทั้งแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำโขง รวมทั้งยังมีเขื่อนสำคัญให้เก็บกักน้ำไว้ในในฤดูแล้ง เช่น เขื่อนสิรินธร เขื่อนปากมูล ซึ่งทั้งสองเขื่อนเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ จึงมีน้ำต้นทุนเก็บไว้มาก และยังมีอ่างขนาดกลางและขนาดเล็กกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ
ในแต่ละปี จึงสามารถเพาะปลูกพืชไร่ พืชสวน และปลูกข้าวในพื้นที่กว่า 10 ล้านไร่ แต่ที่จะเน้นคือ การให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะเป็นการทำเกษตรที่ยั่งยืน เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตไปเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว แทนการทำเกษตรแบบสารเคมีที่ทำให้มีต้นทุนสูง และได้ผลตอบแทนกลับมาต่ำ
ซึ่งหากสามารถสนับสนุนให้กับเกษตรกรมาใช้แนวความคิดนี้ จะเป็นตัวแก้ปัญหาด้านหนี้สินของเกษตรที่เป็นอยู่ได้ เพราะปัจจุบันรัฐบาลมีการกระจายเงินทุนใช้ประกอบอาชีพมาให้กับเกษตรกรในรูปแบบของเงินกองทุนต่างๆ หลายโครงการ และยังมีการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกลุ่มวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทำให้ปัจจุบันจังหวัดมีกลุ่มวิสาหกิจที่มีความเข้มแข็งกระจายอยู่ใน 25 อำเภอของจังหวัด มีสมาชิกกว่า 2,000 ราย
นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแปลงเกษตร โดยทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตร ซึ่งปัจจุบันมีแปลงของเกษตรกรที่เป็นแบบนี้เกิดขึ้นในหลายอำเภอ ทั้งสวนมะขามหวาน ลำไย มะละกอ หรือแปลงปลูกไม้ดอก
ซึ่งกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งนี้ จะเป็นตัวขับเคลื่อนสร้างมูลค่าการค้าขายด้านการเกษตรให้กับจังหวัด สำหรับการใช้เทคโนโลยีในการทำเกษตรความจำเป็นในระดับหนึ่ง แต่การสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรมีความจำเป็นมากกว่า เพราะเมื่อเกษตรกรมีองค์ความรู้มีความเข้าใจ ไม่มีใครที่จะทำนาได้เก่งกว่าตัวเกษตรกรเอง ดังนั้น ต้องให้เกษตรกรดึงเอาองค์ความรู้ที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเกษตรกรเอง
ส่วนจุดแข็งอีกประการของจังหวัดคือ มีชายแดนติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 2 ประเทศ คือ ลาวและกัมพูชา โดยมีมูลค่าการค้าขายทั้งผลิตภัณฑ์การเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ มูลค่าเดือนละกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งฝ่ายไทยเป็นผู้ได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด และในพื้นที่ยังมีโรงงานผลิตเอทานอลที่มีความต้องการมันสำปะหลังป้อนเข้าสู่โรงงานจำนวนมาก การทำไร่มันที่มีพื้นที่กว่า 6 แสนไร่ มีผลผลิต 2 ล้านตัน ต่อปี ปัจจุบัน ส่งเข้าโรงงานแห่งนี้เกือบ 100% จนบางช่วงต้องมีการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเสริม
ส่วนการค้าผลผลิตการเกษตรกร ปัจจุบัน จังหวัดมีการส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่รวมถึงการส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดค้าส่งกลางที่มีอยู่ในภูมิภาคต่างๆ เพราะจังหวัดมีการเจรจาการค้าขายผ่านกลุ่มจังหวัดและต่างประเทศ
ปัจจุบัน ประเทศจีนได้มาสั่งซื้อข้าวอินทรีย์หอมมะลิอุบล ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิชนิดเดียวที่ปลูกได้แต่ในจังหวัดปีละกว่า 3 แสนตัน โดยมีการทำฉลากรับรองคุณภาพของสินค้า ทำให้ประเทศที่มาสั่งซื้อมีความมั่นใจในคุณภาพของข้าวชนิดนี้
สิ่งที่ต้องเร่งรัดทำให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้คือ จะมีการจัดทำฉลากรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรกรในกลุ่มผัก ผลไม้ ของจังหวัดเพิ่มเติมจากที่มีการรับรองด้านคุณภาพของข้าวไปแล้ว โดยจะมีการเชิญนักวิชาการมาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมาตรฐานในการส่งสินค้าไปขายในภูมิภาคอื่น หรือในต่างประเทศ เมื่อผู้บริโภคเห็นฉลากก็จะเกิดความมั่นใจในเรื่องคุณภาพของสินค้าได้ทันที ซึ่งจะสร้างมูลค่าทางการค้าพืชผลทางการเกษตรของจังหวัดได้อย่างดี