ชป.วอนเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยาชะลอการทำนาปี หลังฝนทิ้งช่วงและน้ำในเขื่อนมีน้อย

กรมชลประทาน ขอความร่วมมือเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยาชะลอการทำนาปี หลังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลดลงอย่างต่อเนื่อง ย้ำขอให้รอฝนตกชุกสม่ำเสมอและมีน้ำเพียงพอในพื้นที่ค่อยทำการเพาะปลูก พร้อมประสานกระทรวงมหาดไทย ประชาสัมพันธ์ชี้แจงให้เกษตรกรและประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างทั่วถึง ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล โดย ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งให้การช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นการด่วน เนื่องจากฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนพฤษภาคม และมิถุนายนที่ผ่านมา ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายว่าในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ปริมาณฝนจะลดลง อีกทั้งปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น้อย จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤตินี้ตามแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 64 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

สถานการณ์น้ำปัจจุบัน (1 ก.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 34,073 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 10,144 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาคงเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) เพียง 986 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯรวมประมาณวันละ 16.28 ล้าน ลบ.ม.(1 พ.ค. – 30 มิ.ย. 64) อยู่ในเกณฑ์น้อย

ในขณะที่ยังคงต้องระบายน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ รวมกันวันละ 49.03 ล้าน ลบ.ม. ประกอบกับมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี ในเขตลุ่มเจ้าพระยาไปแล้วกว่า 4.70 ล้านไร่ ทั้งยังมีหลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในการผลิตน้ำประปา รวมถึงสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแลสูงถึง 1.22 กรัม ต่อลิตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานในการผลิตน้ำประปา (มาตรฐานค่าความเค็มที่สามารถผลิตน้ำประปาได้ต้องไม่เกิน 0.50 กรัม/ลิตร) ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้ว ให้ชะลอการปลูกข้าวนาปี 2564 เพื่อรอฝนตกสม่ำเสมอ และมีปริมาณน้ำในพื้นที่เพียงพอ พร้อมทั้งให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชฤดูฝนโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริม และบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกแล้วควรเข้มงวดให้ใช้น้ำแบบรอบเวร และปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2564 ของกรมชลประทานอย่างเคร่งครัด หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา